"สภาทนายฯ"จัดงานครบรอบ"วันทนายความ" "นายกสภาทนายฯ"ย้ำเข้มงวดตรวจสอบทนายที่ถูกร้องเรียน ตั้ง กก.ติดตามพฤติกรรมทนายทางสื่อออนไลน์ "อดีตนายกสภาทนายฯ"ชี้ต้องเร่งแก้ไข"ทนายสีเทา"และคนต่างด้าว สวมรอยเป็นที่ปรึกษากฎหมาย
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถนนพหลโยธิน ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในการจัดงานวันทนายความ โดยมี สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ เพื่อบำเพ็ญกุศลให้แก่ทนายความที่ล่วงลับ และเพิ่มความเป็นสิริมงคลให้แก่สภาทนายความและผู้ที่ประกอบวิชาชีพทนายความ
โดยวันนี้มีทนายความและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธี อาทิ นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ , นายสาโรจน์ จันทรศิริ กรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 6 , ศ.พิเศษ ดร.เดชอุดม ไกรฤทธิ์ อดีตนายกสภาทนายความ , ดร.วิรัลพัชร เวธทาวริทธิ์ธร อุปนายกฝ่ายวิชาการ , นายสงคราม สกุลพราหมณ์ อุปนายกฝ่ายบริหาร , นายภัทราวุฒิ พันธ์รัศมี ประธานสภาทนายความ จ.สุพรรณบุรี และบุคลากรเข้าร่วมพิธี พร้อมกันนี้ ยังมีพิธีมอบรางวัลทนายความดีเด่นประจำปี 2568 โดยมีผู้ได้รับรางวัลทนายความดีเด่นทั่วประเทศ จำนวน 51 คน อาทิ น.ส.อัจฉรา แสงขาว หรือ ทนายปุย ทนายความชื่อดัง และจัดให้มีการสัมมนาเรื่อง "กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ พ.ร.ก.ไซเบอร์ฯ (ฉบับใหม่)"
โดย ดร.วิเชียร กล่าวว่า วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันทนายความเพื่อระลึกถึงทนายความในอดีตที่ล่วงลับไปแล้ว และเป็นการทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลให้แก่องค์กรสภาทนายความฯ โดยสภาทนายความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาทักษะให้แก่ทนายความทุกคน ทั้งทนายความที่มีประสบการณ์หรือทนายความใหม่ โดยจัดการฝึกอบรมและเรียนรู้ โดยได้รับการตอบรับจากทนายความทั่วประเทศ และในปัจจุบัน สภาทนายความ เพิ่มความเข้มงวดการตรวจสอบทนายความที่ถูกร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องมรรยาททนายความ
นายกสภาทนายความ กล่าวอีกว่า คดีมรรยาททนายความที่เข้าสู่คณะกรรมการมรรยาทมีประมาณ 30 เรื่องและสามารถพิจารณาเสร็จสิ้นไปแล้วประมาณ 10 เรื่อง โดยให้คณะกรรมการมรรยาทเข้ามาควบคุมดูแล และคณะกรรมการมรรยาทยังได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีก 1 ชุด เพื่อติดตามพฤติกรรมของทนายความทางสื่อออนไลน์อีกด้วย ถ้าเห็นว่า มีการกระทำเข้าข่ายการประพฤติผิดมรรยาท ก็จะเรียกเข้ามาพูดคุยตักเตือน และหากมีผู้กระทำความผิดรุนแรงอีก จะมีการดำเนินการเกี่ยวกับมรรยาททนายความต่อไป
ด้าน ศ.พิเศษ ดร.เดชอุดม ไกรฤทธิ์ อดีตนายกสภาทนายความ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ทุกธุรกิจมีการนำบุคคลต่างด้าวหลายเชื้อชาติเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะที่ปรึกษากฎหมาย ในห้วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีทั้งทนายความสีเทา ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความในประเทศไทย โดยเลี่ยงไปเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ แฝงตัวอยู่ในสำนักงานบริษัทต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ พัทยา เกาะสมุย หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต และที่เชียงใหม่ มีกลุ่มทนายความเหล่านี้หมด ตนเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องควบคุมแก้ไข เพื่อไม่ให้กลุ่มบุคคลต่างด้าวเหล่านี้เข้ามารับทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมาย ทนายความไทยไม่ใช่เพียงแค่ทำหน้าที่ว่าความในชั้นศาล แต่เป็นบทบาทที่ปรึกษาทางกฎหมายก็เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่ทนายความสามารถทำได้ ทั้งนี้ หากปล่อยไว้เป็นแบบนี้ ในอนาคตจะกระทบต่อวิชาชีพทนายความของไทย ซึ่งตนเชื่อมั่นว่านักกฎหมายไทยก็มีความรู้ความสามารถด้านกฎหมาย และภาษาอังกฤษไม่แพ้ชาวต่างด้าวเช่นกัน
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี