21 ก.พ. 2568 ในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชมรมเรือหางยาวชาวเลอูรักลาโว้ยเกาะหลีเป๊ะ (ผู้ร้อง) เมื่อเดือนมีนาคม 2565 ระบุว่า สมาชิกเรือหางยาว 210 ลำ ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล ไม่สามารถประกอบอาชีพรับส่งนักท่องเที่ยวจากเรือสปีดโบตไปยังหน้าชายหาดรอบเกาะหลีเป๊ะตามเดิมได้ เนื่องจากสมาคมผู้ประกอบการหลีเป๊ะ (ผู้ถูกร้อง) ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่เคยจ้างวานให้สมาชิกชมรมเรือหางยาวฯ บริการนักท่องเที่ยวโดยการขนกระเป๋าสัมภาระขึ้นจากเรือ ส่งผลให้ผู้ร้องเดือดร้อนจากการสูญเสียรายได้
นอกจากนี้ ยังพบว่า เรือสปีดโบตของสมาคมผู้ประกอบการหลีเป๊ะได้ลักลอบเข้าจอดบริเวณหน้าชายหาดโดยไม่ผ่านทุ่นจิ๊กซอว์ลอยน้ำ ทำให้ปะการังแตกหักและพัดพื้นทรายในทะเลหายไป ผู้ร้องจึงได้เสนอให้อุทยานแห่งชาติตะรุเตา และสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสตูลแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยห้ามเรือสปีดโบตเข้ารับส่งนักท่องเที่ยวบริเวณหน้าชายหาด และขอให้ผู้ร้องได้กลับมาทำงานบริการนักท่องเที่ยวเช่นเดิม เพื่อให้สมาชิกชมรมซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ย มีส่วนแบ่งรายได้จากการท่องเที่ยวบนเกาะหลีเป๊ะอย่างเป็นธรรม
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 40 บัญญัติรับรองเสรีภาพในการประกอบอาชีพ การจำกัดเสรีภาพนั้นจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค การจัดระเบียบการประกอบอาชีพเพียงเท่าที่จำเป็นหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น
มาตรา 43 (2) ได้รับรองให้บุคคลและชุมชนมีสิทธิจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมาตรา 70 บัญญัติให้รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุขไม่ถูกรบกวน อันสอดคล้องตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ที่เห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ยเกาะหลีเป๊ะ มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า อยู่อาศัยมาตั้งแต่ปี 2452 ก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา และรัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ ส่งผลให้พื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินถูกจำกัดลง ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ยทำประมงได้น้อยลง ต้องหันมาประกอบอาชีพกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยในช่วงแรกได้ใช้เรือหางยาวรับส่งนักท่องเที่ยวจากโป๊ะกลางทะเลขึ้นบนเกาะ และบริการนำนักท่องเที่ยวดำน้ำชมปะการังตามเกาะต่างๆ
“ต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 ผู้ร้องและสมาคมผู้ประกอบการหลีเป๊ะ ได้ทำข้อตกลงร่วมกันในการแบ่งรายได้โดยให้ผู้ร้องบริการยกกระเป๋าและสัมภาระของนักท่องเที่ยวขึ้นจากเรือที่มาจอดเทียบบริเวณทุ่นจิ๊กซอว์ลอยน้ำเทียบหน้าชายหาด แต่หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 สมาคมผู้ประกอบการหลีเป๊ะได้ยกเลิกข้อตกลงดังกล่าวโดยไม่ให้สมาชิกของผู้ร้องบริการยกกระเป๋าและสัมภาระของนักท่องเที่ยวอีก” นายวสันต์ กล่าว
นายวสันต์ กล่าวต่อไปว่า กสม. เห็นว่า อุทยานแห่งชาติตะรุเตา มีหน้าที่คุ้มครอง บำรุง ดูแล รักษา และจัดการอุทยานฯ ซึ่งรวมถึงเกาะหลีเป๊ะ และได้อนุญาตให้มีการทำการท่องเที่ยวในเกาะหลีเป๊ะรวมทั้งกำหนดจุดจอดเรือให้สมาคมผู้ประกอบการหลีเป๊ะสามารถใช้ทุ่นจิ๊กซอว์ลอยน้ำเทียบหน้าชายหาดได้ ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง และมาตรา 20 ประกอบกับระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2563
โดยอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ได้รับทราบข้อตกลงในการแบ่งสรรรายได้ระหว่างผู้ร้องกับผู้ถูกร้องเป็นอย่างดี แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 คลี่คลายลง ผู้ถูกร้องกลับผูกขาดงานบริการยกกระเป๋าและสัมภาระของนักท่องเที่ยวไว้เอง โดยที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตามิได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหาทั้งที่เป็นหน่วยงานซึ่งสนับสนุนให้กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ยจัดตั้งสหกรณ์ชาวเลบริการท่องเที่ยวเกาะหลีเป๊ะ จำกัด
ขณะที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสตูล มีหน้าที่ในการควบคุมการเดินเรือและกำหนดแนวร่องน้ำตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 และอนุญาตให้มีการวางทุ่นจิ๊กซอว์ลอยน้ำเพื่อบริการนักท่องเที่ยวและกำหนดแนวร่องน้ำในการเข้าท่าเรือและร่องน้ำสัญจรในการเดินเรือ แต่ปรากฏว่า สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสตูลไม่ควบคุมการเดินเรือรอบเกาะหลีเป๊ะ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทำให้มีผู้ประกอบการบางรายนำเรือสปีดโบตเข้าไปขเทียบชายหาดโดยไม่ผ่านทุ่นจิ๊กซอว์ลอยน้ำ ส่งผลให้ผู้ร้องและกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ยไม่สามารถให้บริการยกกระเป๋าและสัมภาระของนักท่องเที่ยวและประกอบอาชีพงานบริการนักท่องเที่ยวอย่างเดิมได้
ดังนั้น การที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา และสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสตูลไม่ได้ปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจของตนเองอย่างเคร่งครัดส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ยไม่มีเสรีภาพในการประกอบอาชีพและไม่มีส่วนร่วมในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ จึงเป็นกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้อง สหกรณ์ฯ และกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ย
ส่วนกรณีที่สมาคมผู้ประกอบการหลีเป๊ะ ได้ยกเลิกข้อตกลงในการแบ่งรายได้ให้กับกลุ่มผู้ร้องจากการให้บริการยกกระเป๋าและสัมภาระของนักท่องเที่ยว โดยอ้างผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แม้ต่อมาในปี 2566 การท่องเที่ยวเกาะหลีเป๊ะได้ฟื้นตัวมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ร้องและกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ย ซึ่งเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมได้รับประโยชน์จากกิจกรรมการท่องเที่ยวเกาะหลีเป๊ะและยังไม่สามารถประกอบอาชีพงานบริการนักท่องเที่ยว รวมถึงยังไม่ได้รับการจัดสรรแบ่งรายได้จากการท่องเที่ยวจากผู้ถูกร้องซึ่งอ้างว่าจะสนับสนุนเฉพาะตัวแทนที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ยเท่านั้น
“ดังนั้น การที่ผู้ถูกร้องผูกขาดอาชีพงานบริการนักท่องเที่ยวไว้เองและเลือกสนับสนุนเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ยบางกลุ่ม จึงเป็นการกีดกันการประกอบอาชีพของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ยโดยรวม ซึ่งเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้อง สหกรณ์ฯ และกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ย” นายวสันต์ ระบุ
นายวสันต์ ยังกล่าวอีกว่า ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 มีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้ (1) มาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้อุทยานแห่งชาติตะรุเตา สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสตูล และสมาคมผู้ประกอบการเกาะหลีเป๊ะทำข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรร่วมกันกับผู้ร้อง สหกรณ์ฯ และกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ยในอาชีพงานบริการนักท่องเที่ยว
รวมถึงการจัดสรรแบ่งรายได้จากการท่องเที่ยวของเกาะหลีเป๊ะ ทั้งนี้ ผลประโยชน์ที่ได้รับต้องไม่น้อยกว่าหรือเทียบเท่ากับที่ผู้ร้องเคยได้รับมาก่อนเกิดสถานการณ์โควิด 19 นอกจากนี้ให้อุทยานแห่งชาติตะรุเตา สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสตูลกำหนดแนวปฏิบัติ ออกประกาศหรือระเบียบในการควบคุม ป้องกัน เฝ้าระวัง กิจกรรมจากการท่องเที่ยวและกิจกรรมอื่น ๆ รวมถึงการนำเรือทุกประเภทเข้าเทียบชายหาด และบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืนอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ให้ติดประกาศหรือสื่อสารประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารในการกำหนดแนวปฏิบัติต่างๆ ให้ผู้ร้อง สหกรณ์ฯ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ย สมาคมผู้ประกอบการเกาะหลีเป๊ะ นักท่องเที่ยว และประชาชนทราบทุกช่องทาง พร้อมทั้งเปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียนเพื่อจะได้แก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งให้กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ย และประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(2) มาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้อุทยานแห่งชาติตะรุเตานำกระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (HRDD) มาใช้ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการของสมาคมผู้ประกอบการเกาะหลีเป๊ะให้เป็นไปตามหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) รวมทั้งส่งเสริมให้สมาคมผู้ประกอบการฯ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการ UNGPs
“นอกจากนี้ ให้อุทยานแห่งชาติตะรุเตา สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสตูล ร่วมกันศึกษาหาปัจจัยและสาเหตุที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่ง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเกาะหลีเป๊ะ วิธีการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงผลกระทบจากการประกอบกิจกรรมการท่องเที่ยวด้วย และบริหารจัดการให้มีเจ้าหน้าที่ เครื่องมือและอุปกรณ์ให้เหมาะสมและเพียงพอต่อการคุ้มครอง บำรุง ดูแล รักษา และการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา” นายวสันต์ กล่าวในตอนท้าย
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี