‘เลขาธิการ สปส.’ย้ำสิทธิ‘ประกันสังคม’ไม่ด้อยกว่าสิทธิอื่น มุ่งเน้นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกันตนได้สิทธิเพิ่มเติม นอกเหนือสิทธิพื้นฐาน ให้ความมั่นใจเสถียรภาพปัจจุบันยังมั่นคง
23 กุมภาพันธ์ 2568 นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข้อมูล ประเด็นการเข้าถึงบริการสาธารณสุขเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน และมีการเปรียบเทียบระหว่างสิทธิประกันสังคม และสิทธิบัตรทอง ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรนั้น ขอชี้แจงว่า สปส. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการดูแลระบบประกันสังคมคุ้มครองทั้ง 7 กรณี ตั้งแต่เกิดจนวาระสุดท้ายของผู้ประกันตน ( เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน)
ทั้งนี้ ระบบประกันสุขภาพของผู้ประกันตนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิทธิประโยชน์ใน 7 กรณีดังกล่าว ที่มีการให้ทั้งบริการทางการแพทย์และเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วยไม่สามารถทำงานได้ โดยเงินที่ใช้จ่ายในการจัดระบบสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมทั้ง 7 กรณี มาจากการจัดเก็บเงินสมทบจาก 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ประกันตน และนายจ้าง ในอัตราฝ่ายละ 5% และเก็บจากรัฐบาล ในอัตรา 2.75% รวม 3 ฝ่าย 12.75% ปัจจุบันมีผู้ประกันตนในระบบกว่า 24.73 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วย ผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 (ประกันสังคมภาคสมัครใจแรงงานอิสระ)
เลขาธิการ สปส. ระบุส่า ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน คณะกรรมการการแพทย์ และสำนักงานประกันสังคม ให้ความสำคัญในเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ด้านการรักษาที่มีคุณภาพครอบคลุมทุกโรค ให้กับผู้ประกันตนอย่างทั่วถึง โดยได้พัฒนาสิทธิด้านการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ทุกกองทุน มีมาตรฐานการรักษาพยาบาลเท่าเทียมกัน โดยที่กองทุนประกันสังคมนอกจากการคำนึงถึงความสำคัญในเรื่องมาตรฐานการรักษาพยาบาลแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพและการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่สะดวก รวดเร็วและการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เช่น
- ด้านทันตกรรม คุ้มครองครอบคลุมบริการ ถอนฟัน ผ่าฟันคุด อุดฟัน ขูดหินปูน เบิกได้ในอัตรา 900 บาท/คน/ปี สามารถเข้ารับบริการในสถานพยาบาลหรือคลินิกทันตกรรมที่ MOU ได้ทุกแห่ง ทั้งรัฐและเอกชน มากกว่า 20,196 แห่ง โดยผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่าย รวมทั้งจัดบริการรถทันตกรรมเคลื่อนที่ให้บริการ ณ สถานประกอบการ นอกจากนี้สามารถเบิกฟันเทียมไม่จำกัดวัสดุได้สูงสุดไม่เกิน 4,400 บาทต่อปี กรณีบริการรักษาโรคทางช่องปาก ครอบคลุมอยู่ในเหมาจ่ายของสถานพยาบาลที่กำหนดสิทธิ รวมทั้งอยู่ระหว่างการปรับเพิ่มสิทธิเพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิในการดูแลช่องปากและฟันอย่างมีคุณภาพมากขึ้น
- ยกระดับการรักษา 5 โรคสำคัญ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง นิ่วในไตและถุงน้ำดี มะเร็งเต้านม และก้อนเนื้อที่มดลูกและหรือรังไข่ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับการผ่าตัดรักษาภายใน 15 วัน โดยผู้ประกันตนสามารถเดินทางไปรับการรักษา ณ โรงพยาบาลตามสิทธิ หรือ โรงพยาบาลที่ทำความตกลง (MOU) จึงลดระยะเวลาการรอคอยการผ่าตัด ลดภาวะแทรกซ้อนไม่ให้อาการของโรคมีความรุนแรงมากขึ้น ช่วยลดระยะเวลาการพักฟื้น ส่งผลให้ผู้ประกันตนกลับไปทำงานได้อย่างรวดเร็ว และขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เพิ่มทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็งนอกเหนือจากสถานพยาบาลตามสิทธิ สามารถเลือกรักษากับสถานพยาบาลที่มีศักยภาพและเชี่ยวชาญในการรักษาโรคมะเร็งตามที่สำนักงานกำหนดเพิ่มเติมได้ โดยครอบคลุมรักษา โรคมะเร็งได้ทุกชนิด รวมถึงการสนับสนุนค่ายาในบัญชียาหลักแห่งชาติและนอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาฮอร์โมนและค่ายามุ่งเป้า ซึ่งเป็นยาราคาสูงที่อยู่ในบัญชียา จ(2) และการจ่ายเพิ่มเติมค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ
- การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (ปลูกถ่ายไขกระดูก) คุ้มครอง 8 โรค โดยไม่จำกัดจำนวนผู้ป่วยในการรับบริการ
กรณีปลูกถ่ายโดยใช้เนื้อเยื่อตนเองหรือพี่น้องหรือเนื้อเยื่อผู้บริจาคที่บริจาคผ่านสภากาชาดไทย ในอัตรา 750,000 - 1,300,000 บาท/ราย
- การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เน้นการป้องกันดีกว่าการรักษา โดยผู้ประกันตนนอกจากตรวจสุขภาพพื้นฐานสำหรับคนไทยทุกสิทธิของ สปสช. 24 รายการ ได้แล้ว กองทุนประกันสังคมยังเพิ่มเติมสิทธิการตรวจสุขภาพให้กับผู้ประกันตนเพิ่มเติมจากสิทธิพื้นฐาน ทั้งเพิ่มความถี่ ช่วงอายุ และรายการในการตรวจสุขภาพที่จำเป็นเพิ่มขึ้น เช่น การตรวจมะเร็งเต้านม ตรวจการทำงานของไต คัดกรองการได้ยิน การเอ็กซเรย์ทรวงอก เป็นต้น โดยผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด และจัดบริการตรวจสุขภาพเชิงรุกไปยังสถานประกอบการและชุมชนต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการตรวจสุขภาพที่สะดวก รวดเร็ว รวมทั้งมีการติดตามประเมินผลสุขภาพของผู้ประกันตน และมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ให้ผู้ประกันตนอายุ 50 ปีขึ้นไปด้วย
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า การรักษาพยาบาลเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ของกองทุนประกันสังคมเท่านั้น การรักษาพยาบาลไม่ว่าจะเป็นสิทธิใด คุณภาพในการรักษาพยาบาลรวมถึงยาในการรักษาจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานและมีความเท่าเทียมกัน ในด้านการให้บริการ สิทธิประกันสังคมยังกำหนดให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกสถานพยาบาลที่ประสงค์จะเข้ารับการรักษาได้ด้วยตนเอง โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนสามารถเปลี่ยนสถานพยาบาลได้ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมของทุกปี หากระหว่างปีผู้ประกันตนมีการย้ายที่อยู่หรือย้ายสถานที่ทำงานก็จะสามารถแจ้งขอเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาลได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจว่ากระทรวงแรงงาน คณะกรรมการการแพทย์ และสำนักงานประกันสังคมมุ่งเน้นพัฒนาสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ประกันตน
นางมารศรี กล่าวอีกว่า มั่นใจว่ากองทุนประกันสังคมยังมีเสถียรภาพที่มั่นคง กองทุนประกันสังคม ณ ปัจจุบันมีเงินสะสม จำนวน 2.657 ล้านล้านบาท โดยในปี พ.ศ. 2567 รายรับจากเงินสมทบ 3 ฝ่าย 2.31 แสนล้านบาท และจ่ายสิทธิประโยชน์ 7 กรณี 1.35 แสนล้านบาท สำนักงานประกันสังคมมีการพัฒนาช่องทางการให้บริการทำให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยการเข้าถึงสิทธิทั้ง 7 กรณีที่ จากเดิม 39.34 ล้านครั้ง ในปี พ.ศ. 2560 สูงขึ้น 46.92 ล้านครั้ง ในปี พ.ศ. 2567 ตลอดระยะเวลา 34 ปี ที่ได้ก่อตั้งกองทุนประกันสังคม ได้มีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่องกว่า 97 ครั้ง ตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปโดยไม่เพิ่มอัตราเงินสมทบหรือปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างให้เป็นภาระแก่นายจ้างและผู้ประกันตน
นางมารศรี กล่าวต่อไปว่า กองทุนประกันสังคมเป็นกลไกสำคัญในการสร้างหลักประกันทางสังคมและความมั่นคง ให้แก่แรงงานในประเทศไทย โดยให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนในมาตรา 33 ซึ่งเป็นแรงงานในสถานประกอบการมาตรา 39 สำหรับผู้ที่เคยเป็นลูกจ้าง และมาตรา 40 สำหรับแรงงานอิสระ ครอบคลุมผู้ประกันตนกว่า 24 ล้านคนทั่วประเทศ พร้อมมอบสิทธิประโยชน์สร้างหลักความมั่นคงในการทำงาน ประกอบไปด้วย 7 กรณี ได้แก่ การเจ็บป่วย ทุพพลภาพ การตาย การคลอดบุตร การสงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน ทั้งนี้ กองทุนดำเนินงานผ่านการส่งเงินสมทบจากลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล เพื่อสร้างความมั่นคงทางสังคมให้แก่แรงงานทุกช่วงวัย
อย่างไรก็ตาม กองทุนประกันสังคมกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประชากร โดยประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้จำนวนแรงงานใหม่ในระบบลดลง ขณะที่ผู้เกษียณอายุซึ่งต้องได้รับการดูแลเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้รายจ่ายในด้านสิทธิประโยชน์ โดยเฉพาะบำนาญชราภาพและค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการศึกษาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม คาดการณ์ว่าหากไม่มีมาตรการรองรับ กองทุนประกันสังคมอาจหมดลงภายในปี พ.ศ. 2597 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า
เลขาธิการ สปส. กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมจึงร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เสนอแนะแนวทางการปฏิรูประบบบำนาญอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับกองทุนประกันสังคม รวมทั้งร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในการกำหนดนโยบายสร้างความยั่งยืนให้กองทุน และวางแผนบริหารการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2567 กองทุนประกันสังคม ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นเงิน 7.1 หมื่นล้านบาท จากการปรับสัดส่วนการลงทุน โดยเน้นลงทุนหลักทรัพย์ตามแผนยุทธศาสตร์การลงทุนที่คณะกรรมการประกันสังคมให้ความเห็นชอบการลงทุนอย่างรอบคอบทำให้กองทุนประกันสังคมมีความมั่นคง สร้างผลตอบแทนระยะยาวเพื่อการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน
“สำนักงานประกันสังคม พร้อมดำเนินการทุกวิธีในการเสริมสร้างเสถียรภาพกองทุนให้สามารถดูแลสิทธิประโยชน์ให้แก่พี่น้องผู้ประกันตนมีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมหลักประกันทางสังคมที่มั่นคง” เลขาธิการ สปส. กล่าว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี