‘โคราช’แล้งมาเร็ว ‘อ่างเก็บน้ำลำตะคอง’น้ำน้อย ลดฮวบเหลือ 15% วิตกหวั่นเกิด‘แย่งน้ำ’ ผู้ว่าฯลั่นต้องบริหารจัดการน้ำตามความต้องการของพี่น้องประชาชน ‘แม่ทัพภาค 2’ย้ำต้องบูรณาการวางแผนเชิงรุกเพื่อรองรับปัญหาวิกฤติ
23 กุมภาพันธุ์ 2568 ที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำของ จ.นครราชสีมา โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 อ่าง ประกอบด้วย อ่างฯลำตะคลอง อ.สีคิ้ว , อ่างฯลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย , อ่างฯลำมูลบน และอ่างฯละแชะ อ.ครบุรี ว่า สถานการณ์น้ำขณะนี้เรามีจำกัดแล้วตอนนี้ โดยเฉพาะอ่างฯลำตะคอง เหลือน้ำใช้การได้เพียง 19% ฉะนั้นอ่างฯลำตะคองขณะนี้เรามีการบริหารจัดการเพื่อน้ำกินน้ำใช้ หรือเพื่อการอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ เพราะไม่เช่นนั้นคู คลอง ลำรางน้ำสาธารณะจะอยู่ไม่ได้
ส่วนอ่างฯอื่นๆ อ.ลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย , อ่างฯลำมูลบน-อ่างละแช อ.ครบุรีฯ กรรมการบริหารจัดการน้ำมีอยู่ แต่ละลุ่มน้ำก็แจ้งว่าอย่าทำนาปรัง เพราะการทำนาปรังจะใช้น้ำมาก เมื่อใช้น้ำมากน้ำที่มีอยู่มันก็จะไม่คุ้มค่า เอาไปทำอย่างอื่นทดแทนไปก่อน การบริหารจัดการร่วมกันคือสิ่งที่จะเป็นทางออกให้กับสถานการณ์น้ำ ต้องขอบคุณพี่น้องเกษตรกรที่ช่วยปรับเปลี่ยนพืชที่ปลูก โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรที่ทำนาปรังอันนี้เราต้องขอร้องจริงๆว่าน้ำเราจะไม่พอ
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนทางกองทัพภาคที่ 2 มีความห่วงใยการแย่งน้ำเกิดขึ้น เรื่องปัญหาการแย่งน้ำทุกฝ่ายเป็นห่วงกังวลมาก เรื่องนี้เราได้คุยกันในห้องประชุมแล้วว่าอย่าให้เกิดในกรณีที่จะต้องแย่งน้ำ ถ้าไม่แย่งน้ำจะทำอย่างไร ก็เอากรรมการลุ่มน้ำซึ่งเป็นตัวแทนของคนใช้น้ำมาคุยกัน แล้วรัฐจะได้บริหารจัดการน้ำตามความต้องการของพี่น้องประชาชน แต่ภายใต้หลักของเราที่มีอยู่ คือ ปริมาณน้ำที่มีอยู่ กับสองกฎกติกาที่เราจัดการร่วมกัน ก็คิดว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องนี้ ส่วนจะแล้งรุนแรงขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ
ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานจะทบการอุปโภคบริโภคมากน้อยขนาดไหนในชีวิตประจำวันนั้น เรื่องนี้เราได้มอบให้เกษตรตำบลทุกตำบลไปดูว่าพี่น้องประชาชนหากินอย่างไร เช่น ยังใช้น้ำอยู่ พืชอะไรที่ใช้จะน้ำแค่ 90 วัน พืชอะไรที่ใช้น้ำ 60 วัน เพื่อที่จะให้พี่น้องประชาชนมีพืชที่พอดีกับน้ำ อันต่อไปเราบอกแล้วว่าน้ำกินน้ำใช้ถ้าสูบได้ช่วงนี้เร่งสูบก่อนเลย เพื่อเอามาเข้าสระ เมื่อเข้าสระก็จะได้มีประปา มีมีประปาคนก็พออยู่ได้
ผวจ.นครราชสีมา กล่าวอีกว่า ที่เรากังวลเป็นเรื่องที่ใส่ใจ คือ พืชที่เป็นไม้ยืนต้น เช่น ทุเรียน เราจะเลี้ยงยังไง เพราะถ้าต้นทุเรียนตายอย่างน้อยต้องอีก 5 ปี ฉะนั้นต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับเป็นระดับๆอย่างนี้ ซึ่งเกษตรตำบลก็เข้าใจ
“เรื่องน้ำทางนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ได้กำชับมา 3 เรื่อง 1.น้ำกินน้ำใช้ 2.น้ำเพื่อการเกษตร และ 3.ถ้าพี่น้องเกษตรกรได้รับผลกระทบเสียหายจากภัยให้ชดเชยเร็ว ให้ประชุมโดยเร็ว เพื่อที่จะเบิกเงินจากคลังไปชดเชยให้พี่น้องเกษตรกร เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ เบื้องต้นได้เบิกเงินไปแล้ว 2 ตำบล พืชเสียหายให้ไร่ละกว่า 1,000 บาทก็ไม่ได้มาก แต่เป็นการแสดงความห่วงใยว่าสิทธิ์เขามีพึงมีได้ก็ต้องรีบดำเนินการให้” นายชัยวัฒน์ กล่าว
ด้าน พล.ท.บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 ผอ.รมน.ภาค 2 กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ในภาคอีสานค่อนข้างมาเร็ว และทุกพื้นที่สถานการณ์น้ำน้อยมาก ซึ่งกองทัพภาคที่ 2 เรามีการประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 20 จังหวัดเพื่อขอทราบและแนวทางการแก้ปัญหาภัยแล้งที่มันจะกระทบต่อความมั่นคงของแต่ละจังหวัด และเพื่อเป็นการร่วมบูรณาการกัน และภัยแล้งเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดจะต้องไปวางแผนเชิงรุกเพื่อรองรับปัญหาวิกฤติขึ้นในหน้าแล้งนี้ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บูรณาการร่วมกับป้องกันภัยของจังหวัด , ชลประทานจังหวัด ส่วนทหารเองจะมีเครื่องมือในส่วนที่พวกเราที่จะช่วยได้ ทั้งเครื่องมือในการขุดบ่อ ขุดสระ
ส่วน ปภ.จังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องทำโครงการอันนี้นี้รายงานไปตามสายงบประมาณของแต่ละหน่วย เช่น บ่อบาดาล หรือขุดรอก สระ หนองบึง การขุดบ่อให้กับประชาชนเพิ่มเติม และส่วนไหนจะต้องเร่งด่วนขอให้ประสานกันในพื้นที่ กองทัพภาคที่ 2 เราที่จะสนับสนุนทันที ให้ทันถ่วงทีได้ ส่วนภัยแล้งเป็นห่วงจังหวัดใดมากที่สุดนั้น เรื่องนี้ส่วนใหญ่จะเป็นภาคอีสานตอนล่าง โดยเฉพาะ จ.นครราชสีมา น่าเป็นห่วง ที่อ่างฯลำตะคอง อ.สีคิ้วฯก็มีการประชุมแล้วเพื่อแก้ปัญหา ไม่ให้เกิดกรณีพี่น้องประชาชนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ส่วนอีสานตอนบนตามเขื่อนต่างๆจะอยู่ที่ประมาณ 40-50%
ขณะที่สถานการณ์น้ำของโครงการชลประทานจังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะแหล่งน้ำดิบขนาดใหญ่ที่สุด โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง รายงานสถานการณ์น้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ที่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ว่า จากความจุที่ระดับกักเก็บปกติ 314.49 ล้านลูกบาศก์เมตร ล่าสุดวันนี้มีประมาณน้ำในอ่างฯ คงเหลืออยู่ 68.91 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 21.91 % และเป็นน้ำใช้การได้เพียง 46.19 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 15.83 % ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ “น้ำน้อยวิกฤติ” โดยน้ำส่วนนี้จัดสรรให้พื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.สีคิ้ว , อ.สูงเนิน , อ.ขามทะเลสอ , เขตเทศบาลนครนครราชสีมา , อ.เมืองนครราชสีมา และ อ.เฉลิมพระเกียรติ ได้ใช้ผลิตประปาเพื่อการอุปโภค-บริโภคมาเป็นอันดับแรก
ส่วนอ่างฯลำพระเพลิง อ.ปักธงชัยฯปริมาณกักเก็บ 155 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำเหลือ 79.44 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็น 51.25% น้ำเหลือใช้การได้ 78.72 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็น 51.02 , อ่างฯลำมูลบน อ.ครบุรีฯ ปริมาณกักเก็บ 141 ล้าน ลบ.ม.มีปริมาณน้ำเหลือ 68.04 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็น 48.26% เหลือน้ำใช้การได้ 61.04 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็น 45.56% , อ่างฯลำแชะ อ.ครบุรีฯ ปริมาณน้ำกักเก็บ 275 ล้าน ลบ.ม.มีน้ำเหลือยู่ 131.87 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็น 47.95% มีน้ำใช้การได้ 124.87 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็น 46.59%
ทั้งนี้ภาพรวมสถานการณ์ปริมาณในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่รวม 4 แห่ง ของ จ.นครราชสีมา ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง ,อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง ,อ่างเก็บน้ำมูลบน และ อ่างเก็บน้ำลำแชะ มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมคงเหลืออยู่ที่ 348.27 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 39.33. % และเป็นน้ำใช้การได้ 310.83 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 36.65 %
ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก 23 แห่งของ จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมคงเหลืออยู่ที่ 153.47 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 45.77 % และเป็นน้ำใช้การได้ 128.10 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 41.33 %
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี