คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU) เรื่อง “การดำเนินงานการบริหารจัดการข้อมูล และการจัดเก็บข้อมูลการรับบริการของผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เพื่อใช้ในการศึกษาและการวิจัย เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา
รศ.ดร.ธารทัศน์ โมกขมรรคกุล คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาอย่างหนึ่งในภาคการศึกษาคือการหาข้อมูลจริงมาใช้ในการศึกษาทำได้ค่อนข้างยากการร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้นิสิตของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มีข้อมูลในลักษณะที่เป็น Meta Data มาใช้ในการศึกษาทดลองโมเดลต่างๆ รวมถึงนำเสนอนโยบายต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับ สปสช. และประเทศชาติในอนาคต
“ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะนอกจากการคำนวณงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว ยังมีโครงการอีกมากมายที่สามารถทำร่วมกับ สปสช. ได้ อย่างเช่น สาขาวิชา MIS ภาควิชาพาณิชยศาสตร์ ก็สามารถใช้ข้อมูลเพราะวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้ป่วย หรือ ภาควิชาการธนาคารและการเงิน ก็สามารถนำข้อมูลไปใช้วิเคราะห์โมเดลทางการเงินต่างๆ รวมทั้งภาควิชาการตลาด ก็สามารถนำองค์ความรู้มาใช้กับข้อมูลนี้ได้” คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีฯ กล่าว
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หน้าที่ของ สปสช. คือ เป็นองค์กรที่บริหารจัดการการใช้งบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) สำหรับผู้มีสิทธิบัตรทองฯ กว่า 47.5 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละปีมีข้อมูลการรับบริการสุขภาพจำนวนมหาศาล สปสช. จึงให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรโดยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลหรือ Data-Driven Organization
อาทิ การนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการจัดทำงบประมาณ การประเมินแนวโน้มและความต้องการของผู้ป่วย ตลอดจนกำหนดนโยบายที่ตรงกับสถานการณ์ สำหรับการลงนามเอ็มโอยูระหว่างคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีฯ และ สปสช. ครั้งนี้ เป็นความร่วมมือในการสร้างความแข็งแกร่งโดยการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งเบื้องต้นภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจะนำข้อมูลไปเพื่อคำนวณงบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพฯ ในอนาคต
กล่าวคือ สปสช. มีวิธีคำนวณงบประมาณในแต่ละปีอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่าจะมีวิธีอื่นที่มีการคำนวณมากกว่านี้อีกหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้รัฐบาลต้องการใช้ระบบงบประมาณฐานศูนย์ (zero based budgeting) ดังนั้นการคำนวณในลักษณะที่ประชาชนแต่ละคนมีความเสี่ยงในการเกิดโรคที่ไม่เหมือนกัน หากสามารถจัดงบประมาณโดยคำนวณจากความเสี่ยงของแต่ละคน น่าจะเป็นวิธีการใหม่ที่อธิบายได้มากขึ้น
“การจะคำนวณในแบบนี้ได้จะต้องใช้วิชาการขั้นสูง ซึ่งคณะภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์ฯ มีศักยภาพทำได้โดยใช้ข้อมูลในระบบบัตรทอง ซึ่งแต่ละปีมีผู้มารับบริการถึง 170 ล้านครั้ง หากสามารถดูสถิติย้อนหลังว่าแต่ละคนมีความเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างไร ก็อาจใช้หลักคณิตศาสตร์ประกันภัยมาคำนวณในลักษณะคล้ายๆ เบี้ยประกันในอนาคตได้ นี่คือวัตถุประสงค์หลักการลงนามครั้งนี้และจะทำวิจัยร่วมกัน อาจนำมาสู่วิธีการคำนวณงบประมาณที่ต่างจากเดิม และเป็นคำตอบให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณในระบบบัตรทองต่อไป”เลขาธิการ สปสช. กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี