23 ก.พ. 2568 ที่ รร.เบย์ ถ.ศรีนครินทร์ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ มีการจัดเวทีสาธารณะรับฟังข้อเสนอ “การขับเคลื่อนเชิงนโยบายการคุ้มครองลูกจ้างเหมาบริการในหน่วยงานภาครัฐ” โดย นายสุรพงค์ วิจิตรโสภา นิติกรชำนาญการพิเศษ กองนิติการ กลุ่มงานพัฒนากฎหมาย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า หากเป็นการจ้างลูกจ้างผ่านบริษัท เช่น หน่วยงานของรัฐต้องการจ้างคนขับรถ คนขับรถนั้นถือเป็นลูกจ้างของบริษัท อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ได้รับสิทธิประโยชน์ อาทิ เวลาทำงาน ค่าจ้างที่ไม่ต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำ ทำงานนอกเวลาปกติได้ค่าจ้างล่วงเวลา (OT)
แต่ตำแหน่งงานเดียวกัน หากหน่วยงานของรัฐจ้างเองโดยตรง การทำสัญญาจ้างจะใช้สัญญาตามกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งมีเงื่อนไขอยู่ว่า ห้ามจ้างเป็นลูกจ้าง ทำให้ได้สิทธิประโยชน์น้อยลง เช่น คนขับรถที่ต้องทำงานในหยุด หากเป็นสัญญาจ้างแบบนี้ก็จะไม่ได้รับค่าจ้างในวันหยุด ซึ่งเรื่องนี้เป็นภาระของหลายกระทรวง อาทิ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระทรวงแรงงาน มีความพยายามขับเคลื่อนการแก้ไขเพื่อให้เกิดการดูแลแรงงานกลุ่มนี้
ซึ่งกระทรวงแรงงานทำได้อยู่ 2 มาตรการ คือ 1.เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้มีข้อสั่งการไปยังหน่วยงานต่างๆ ไปร่วมกันแก้ไขปัญหา เช่น กระทรวงการคลัง สำนักงาน ก.พ. ให้ไปดูอัตรากำลังในส่วนที่เกี่ยวข้องว่าจะสามารถจ้างเพิ่มได้หรือไม่ การปรับแก้สัญญาจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่ไม่ควรน้อยกว่าลูกจ้างของภาคเอกชนมากจนเกินไป อย่างเรื่องค่าจ้าง ตนไม่แน่ใจว่ามีหน่วยงานใดบ้างที่ยังไม่ถึงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะเมื่อเป็นสิทธิพื้นฐานก็ควรได้ กับ 2.เสนอแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เพื่อให้ครอบคลุมลูกจ้างเหมาบริการในหน่วยงานภาครัฐ
สุรพงค์ วิจิตรโสภา
โดยในส่วนของการเสนอ ครม. เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลก็ต้องเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ แต่ในระหว่างนั้น ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ที่กระทรวงแรงงานจัดทำขึ้นพร้อมพอดี จึงมาที่การเสนอกฎหมายโดยเน้นที่สิทธิขั้นพื้นฐานราว 7 – 8 เรื่อง เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ วันหยุด – วันลา ค่าจ้างล่วงเวลา ซึ่ง ครม. ก็อนุมัติในหลักการ แต่ก็มีร่างกฎหมายที่เสนอเข้ามาอีก 2 ฉบับ โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) คือร่างของ น.ส.วรรณวิภา ไม้สน จากพรรคก้าวไกล (ในขณะนั้น) กับร่างของ นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ จากพรรคภูมิใจไทย
แต่เมื่อทางกระทรวงแรงงานเห็นร่างกฎหมายของตนเองคล้ายกับร่างที่ สส.พรรคภูมิใจไทยเสนอ จึงขอถอนเรื่องออกไป จากนั้นจึงมีการตั้งคณะกรรมการ (กมธ.) วิสามัญขึ้นมาพิจารณา ซึ่งจากการหารือกันในชั้น กมธ. มีหลักคิดอยู่ 2 อย่าง คือหากจะแก้ปัญหาลูกจ้างเหมาบริการในส่วนภาครัฐให้ถูกต้องที่สุด ต้องไปแก้ที่กฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะจุดเริ่มต้นของการสัญญาจ้างเหมาะบริการอยู่ที่การมองว่าเป็นการจ้างทำของ จึงต้องไปแก้ที่จุดนั้น แต่เมื่อหน่วยงานเจ้าของเรื่องไม่ผลักดันให้แก้ กระทรวงแรงงานจึงต้องมาผลักดันการแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน
“กระทรวงแรงงานจะไปแก้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างไม่ได้ แก้ได้เฉพาะ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เพราะรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานรักษาการ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน อันนี้คือหลักการเสนอกฎหมายโดยหน่วยงานรัฐ แต่ถ้า สส. รวมตัวกัน 20 กว่าคน แก้ พ.ร.บ. ได้หมด เพราะท่านไม่ใช่รัฐมนตรีผู้รักษาการตาม พ.ร.บ. นั้นๆ เพราะฉะนั้นกระทรวงแรงงานเริ่มแรกถึงรับเรื่องนี้มาแล้วก็จำเป็นต้องแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน” นายสุรพงค์ กล่าว
นายสุรพงค์ กล่าวต่อไปว่า แต่เมื่อนำร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน จาก กมธ. เข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 – 3 เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2568 สรุปแล้วต้องดึงร่างกฎหมายกลับไปพิจารณาใหม่ เนื่องจากมีการตัดมาตรา 3 ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกลุ่มจ้างเหมาบริการออกไป อีกทั้งมติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระแรก หรือชั้นรับหลักการ ได้อนุมัติหลักการเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ให้ครอบคลุมแรงงานกลุ่มจ้างเหมาบริการภาครัฐด้วย ซึ่ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ได้ท้วงติงว่าการที่ กมธ. ตัดเรื่องดังกล่าวออกไป ขัดกับมติในชั้นรับหลักการ
บุญรอด สนเปี่ยม
นายบุญรอด สนเปี่ยม ประธานสหภาพคนทำงานภาครัฐแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เท่าที่ตนเคยเจอมา จ้างเหมาะบริการมี 2 – 3 กรณี ถึงขั้นฆ่าตัวตาย เส้นเลือดในสมองแตก ซึ่งเมื่อตนมีโอกาสเข้าใปมีส่วนร่วมใน กมธ.วิสามัญ แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ตนพูดอยู่เรื่องเดียวคือการแก้ไขสัญญาจ้าง และต้นเหตุของปัญหามาจาก 2 หน่วยงาน คือสำนักงาน ก.พ. กับกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มลูกจ้างเหมาบริการเพราะอยู่ในส่วนราชการ แต่เห็นน้องๆ ในหน่วยงานลำบาก อย่างมีครั้งหนึ่ง ไปเจอกรณีหน่วยงานระดับสำนักงานปลัดค้างจ่ายค่าจ้างพนักงาน 145 คน ตนและอีกหลายคนต้องควักเงินส่วนตัวซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและไข่ไก่ไปเดินแจกตามห้องพัก ซึ่งที่ผ่านมาลูกจ้างภาครัฐไม่ค่อยมีเวทีให้พูด และย้ำว่าทั้ง ก.พ. และกระทรวงการคลัง ต้องลงไปช่วยแก้ปัญหาให้ลูกจ้างเหมาบริการและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ
“แรงงานข้ามชาติที่มาจาก MOU คุณไปดูสิทธิและสวัสดิการเหนือกว่าลูกจ้างเหมาส่วนราชการด้วยซ้ำ ผมไปพูดในรัฐสภา สัญญาจ้างทำของมันไม่ควรนำมาใช้แล้ว แล้วคุณคิดอย่างไร? จ้างคนแท้ๆ แต่ไปใช้สัญญาจ้างทำของ อันนี้มันคือความรู้ความสามารถของข้าราชการที่นั่งอยู่ตรงนั้น ว่าคุณมีวิสัยทัศน์มองคนมองการจ้างงานอย่างไร” นายบุญรอด กล่าว
นายบัณฑิต แป้นวิเศษ ตัวแทนมูลนิธิเพื่อนหญิง ในฐานะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในการอภิปรายในสภาเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2568 มีการถกเถียงกันอย่างหนัก มี สส. อภิปรายว่ามนุษย์ไม่ใช่สิ่งของ สัญญาจ้างแบบจ้างทำของ ใช้ระเบียบจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ซึ่งการใช้ถ้อยคำแบบนี้ ความเป็นมนุษย์เป็นคนทำงานไม่ใช่สิ่งของ แต่โชคยังดีที่มาตรา 3 และหลักการไม่ถูกตีตก
ดังที่ นพ.ชลน่าน บอกว่า นี่เป็นการแก้ไขกฎหมาย ไม่ใช่การร่างกฎหมายฉบับใหม่ ดังนั้นหลักการที่สภารับรองมาให้ กมธ. ทำ เป็นเรื่องการแก้ไข ซึ่งที่มีการสื่อออไปว่ามีการถอนร่างกฎหมาย จริงๆ ไม่ได้ถอนแต่เป็นการนำไปปรับแก้โดยให้คงหลักการเรื่องการคุ้มครองลูกจ้างตามสัญญาจ้าง ดังนั้นจึงยังคงมาตรา 3 ไว้อยู่ อีกทั้งอาจปรับแก้เพื่อนำการคุ้มครองตามมาตราต่างๆ ของกฎหมายคุ้มครองแรงงานเข้ามาให้ได้มากที่สุด เพื่อแก้ปัญหาของสัญญาเหล่านี้ ซึ่งหากทำได้ จะทำให้ลูกจ้างอีกกว่า 5 แสนชีวิตได้รับอานิสงส์
บัณฑิต แป้นวิเศษ
อนึ่ง กมธ. วิสามัญชุดนี้ โชคดีที่มีตัวแทนภาคประชาสังคมเข้าไปมากที่สุดตามโควตาของพรรคการเมืองต่างๆ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือการขอข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง สำนักงาน ก.พ. เพราะเมื่อได้ข้อมูลไม่ครบจะมีบางประเด็นที่ไม่สามารถพิจารณาต่อได้ ส่วนที่น่าสนใจคือมีตัวแทนลูกจ้างเข้าไปให้ข้อมูล ซึ่งแม้จะเป็นลูกจ้างภาคเอกชนแต่ก็มองในมิติลูกจ้างภาครัฐด้วย ดังนั้นสิ่งที่ กมธ. กำลังพิจารณาอยู่ก็อยากให้ติดตามกันต่อ แต่หากเป็นไปได้ก็อยากให้มีลูกจ้างภาครัฐซึ่งไม่เฉพาะกลุ่มจ้างเหมาบริการ ช่วยกันไปส่งเสียงให้กำลังใจ
“ถ้าเราบอกว่าต้องไปปรับแก้ระเบียบ หรือสัญญาจ้างในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่ก็ถูกล็อกโดยระเบียบพัสดุจากกระทรวงการคลังที่มีหนังสือวนไปมันก็ลำบาก อีกอย่างหนึ่งคือลูกจ้างท้องถิ่น หรือลูกจ้างหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับการศึกษา ที่เราเห็นชัดคือการที่เขาหมดสัญญาจ้างแล้วถูกลอยแพ ตรงนี้ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้มันจะเข้าไปช่วยปรับแก้” นายบัณฑิต กล่าว
นายชัยยุทธ ชวลิตนิธิกุล คณะกรรมการกำกับทิศทาง สำนัก 9 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในปี 2541 มีการไปออกมติ ครม. ยกเลิกการจ้างลูกจ้างประจำเพื่อลดกำลังคนภาครัฐ คำถามคือเลิกแล้วใครจะทำงาน คนที่คิดเรื่องนี้ได้ศึกษาอย่างดีพอแล้วหรือยัง จนถึงปัจจุบันก็ยังตะแบงว่าเป็นการจ้างทำของ ไปใช้ระเบียบพัสดุ ใช้งบประมาณของตนเองที่เป็นหมวดค่าใช้สอย ค่าจ้างค่าตอบแทนอะไรทั้งหลาย ให้เปลี่ยนจากการซื้อของหรือจ้างทำของมาเป็นการจ้างคน แต่การจ้างคนแบบจ้างทำของ ถามว่ามีการบังคับบัญชาคนคนนั้นหรือไม่
เพราะหากมีการบังคับบัญชา ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ต้องมาทำงานตามวันที่กำหนด ต้องเซ็นชื่อลงเวลาทำงาน ดุด่าว่ากล่าวได้ แต่ทุกคนกลับปฏิเสธว่านี่ไม่ใช่ลูกจ้างของเรา คำถามว่าเขาเป็นใคร ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จึงบอกว่าลักษณะนี้เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน นอกจากนั้น ศาลยังเคยมีคำพิพากษาแล้วในหลายกรณี
อาทิ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11987/2554 ว่าด้วยบริษัทเอกชนจ้างพนักงานขับรถในลักษณะสัญญาจ้างทำของ จึงไม่ได้นำลูกจ้างเข้าระบบประกันสังคม แต่ศาลชี้ว่า การที่บริษัทตกลงที่จะจ่ายค่าจ้างให้พนักงานขับรถตลอดเวลาที่ยังทำงานให้ โดยบริษัทมุ่งที่จะใช้การงานของพนักงานขับรถมากกว่าคำนึงถึงผลสำเร็จแห่งงานที่ทำ พนักงานขับรถต้องทำงานภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของบริษัท โดยใช้ความรู้ความสามารถของตนเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับบริษัท และบริษัทมีอำนาจให้คุณให้โทษ เช่น ว่ากล่าวตักเตือน พักงาน เลิกจ้าง เป็นต้น จึงมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงาน และอยู่ในความหมายของคำว่า ลูกจ้าง นายจ้าง และค่าจ้างตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5
ชัยยุทธ ชวลิตนิธิกุล
หรือคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7410/2562 เป็นกรณีบริษัทเอกชนฟ้องหน่วยงานภาครัฐ โดยศาลชี้ว่า แม้ข้อตกลงการจ้างเหมาบริการระหว่างหน่วยงานรัฐดังกล่าวกับ อ. จะระบุว่า การว่าจ้างตามข้อตกลงนี้ไม่ทำให้ผู้รับจ้างมีฐานะเป็นลูกจ้างของทางราชการ หรือมีความสัมพันธ์ในฐานะเป็นลูกจ้างของผู้ว่าจ้างตามกฎหมายแรงงานก็ตาม แต่ข้อตกลงอื่นที่ระบุไว้ประกอบพฤติการณ์การมอบหมายงานซึ่งกำหนดเวลาทำงาน การสั่งการให้ อ. รับมอบหมายงานในแต่ละวันตามแต่ดุลพินิจของผู้ว่าจ้าง
ตลอดจนการควบคุมความประพฤติของ อ. ในระหว่างการปฏิบัติงานอันมีลักษณะการบังคับบัญชาให้ อ. ทำตามคำสั่งการของผู้ว่าจ้างโดย อ. มิได้ปฏิบัติงานอย่างอิสระ มุ่งเพียงผลสัมฤทธิ์ของงานดังเช่นการจ้างทำของแล้ว การจ้างเหมาบริการระหว่างจำเลยกับ อ. จึงมีลักษณะเป็นการจ้างแรงงาน หาใช่เป็นการจ้างทำของ อ. จึงมีฐานะเป็นลูกจ้างของหน่วยงานและเป็นเจ้าหน้าที่ตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เมื่อ อ. กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ หน่วยงานของรัฐดังกล่าวซึ่งเป็นจำเลย ย่อมต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยตามมาตรา 5
“ส่วนใหญ่เป็นพนักงานขับรถ ไปขับรถชน เสร็จแล้วบริษัทประกันเขาก็รู้ว่าฟ้องเจ้าตัวไม่ได้อะไร ต้องฟ้องหน่วยงาน เขาฟ้องก็ได้ผลเลย หน่วยราชการต้องรับใช้ นี่เป็นตัวอย่างที่ต่อไปที่มีการฟ้องร้องอย่างนี้หน่วยงานราชการจะเห็นโลงศพ ท่านจะตะแบงต่อไปอีกไม่ได้แล้ว” นายชัยยุทธ ระบุ
นายชัยยุทธ กล่าวต่อไปว่า แม้จะเขียนในสัญญาว่าไม่ใช่นายจ้าง – ลูกจ้าง แต่ศาลไม่ได้มองแบบนั้น เรื่องนี้เป็นประเด็น หน่วยงานอย่าง ก.พ. หรือกระทรวงการคลังต้องรับผิดชอบ ซึ่งตนก็ไม่รู้ว่าปล่อยเรื้อรังตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบันผ่านมาแล้ว 27 ปีได้อย่างไร ถามว่ามีคนต้องทุกข์ทรมานเท่าไร บางคนว่า 5 แสนคน บ้างก็ว่า 7 แสนคน และ กสม. ก็เคยแจ้งไปแล้วตั้งแต่ปี 2553 แต่ก็ไม่เห็นทำอะไร
มนัส โกศล
นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มติ ครม. เมื่อปี 2541 ทำให้ถูกตอนการจ้างลูกจ้างประจำ โดยให้หัวหน้าส่วนราชการสามารถจ้างคนได้ แต่ไม่ให้ทำเป็นสัญญาจ้าง ไม่ให้อยู่ในงบประมาณ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายพื้นที่งบประมาณเพียงพอและผู้บริหารก็อยากจ้างคนโดยจ่ายสวัสดิการเต็มที่ แต่ไม่สามารถทำได้เพราะติดมติ ครม. ดังกล่าว
หรืออย่างที่ตนเข้าไปดูช่วงที่มีการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ มีการเขียนไว้ว่าการจ้างงานต้องไม่ด้อยไปกว่าสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายประกันสังคม แต่ไม่ได้บอกว่าใครจะมีอำนาจเข้าไปกำกับดูแล ผลก็คือค้างอยู่อย่างนั้น ยังมีการจ้างเหมาบริการเหมือนเดิม ทั้งนี้ เรื่องลูกจ้างเหมาบริการในหน่วยงานภาครัฐเป็นสิ่งที่ตนขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนสื่อกระแสหลักไม่ค่อยนำเสนอซึ่งตนก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร เช่น เสนอข่าวครูผู้ช่วยเงินเดือน 9,000 บาท ได้ไม่นาน ไม่ต่อเนื่อง ซึ่งหากสังคมเอาด้วยการขับเคลื่อนคงไม่เป็นแบบนี้
“ถ้ามติ ครม. ปี 2541 ถ้าเราสามารถให้เขาทบทวนได้ ผมคิดว่าการจ้างงาน เอามติ ครม. ให้กระทรวง ทบวง กรม องค์กรท้องถิ่น สามารถจ้างสัญญาจ้างได้ อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน อยู่ภายใต้ในเรื่องของประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน เพราะตอนนี้เราทำได้แล้ว เขาแก้ไขแล้วนะ หน่วยงานของรัฐเป็นนายจ้างแล้ว ตอนนี้พนักงานราชการ พนักงานหน่วยงานของรัฐเข้าอยู่ในเงินทดแทน เราถก กมธ. ว่ารัฐบาลไม่ได้เป็นนายจ้าง ในที่สุดต้องยอมรับ รัฐบาลก็คือนายจ้าง จึงตั้งงบประมาณเอาเงินตรงนี้ส่งกองทุนเงินทดแทน” นายมนัส กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับมติ ครม. ที่วงเสวนาพูดถึงนั้น ออกเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2541 ระบุว่า ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการปรับขนาดกำลังคนภาครัฐ ลูกจ้างประจำ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ (ปรร.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุปคือ กำหนดให้ยุบเลิกตำแหน่งลูกจ้างประจำที่ว่างลงบางหมวด ให้ส่วนราชการใช้วิธีจ้างเหมาบริการสำหรับ งานบางประเภท และทบทวนว่าภารกิจใดยังจำเป็น ไม่จำเป็นต้องใช้ลูกจ้างประจำ รวมทั้งให้กระทรวง การคลัง สำนักงบประมาณ และ ปรร. ศึกษาว่ามีงานประเภทใดควรใช้วิธีจ้างเหมาบริการเพิ่มเติมอีก แล้ว รายงานให้ ปรร. ทราบภายใน 3 เดือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
https://www.naewna.com/politic/862749 ปรับปรุงรอบ2!! สภาฯถอน‘ร่างกม.คุ้มครองแรงงาน’อีก หลัง‘ปชน.-พท.’รุมสับ
https://www.naewna.com/likesara/454377 'กสม.'ชี้ระบบ'พนง.เหมาภาครัฐ'ละเมิดสิทธิ เหตุงานเดียวกันแต่ค่าแรง-สวัสดิการน้อยกว่า‘ขรก.-ลูกจ้าง’
https://www.naewna.com/local/838074 ‘ม็อบธุรการ-ลูกจ้าง’บุกศธ.ทวงคืนสิทธิ ยื่น 3 ข้อจี้‘เพิ่มเงินเดือน-โละจ้างเหมา’
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี