‘สมศักดิ์’ประกาศ‘สธ.’ตั้งเป้าเพิ่มสั่งใช้‘ยาสมุนไพร’ในระบบหลักประกันสุขภาพ ไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาทในปี2569 ‘อภัยภูเบศร’ขานรับนโยบายยาสมุนไพรใช้บ่อยใน 10 กลุ่มโรค มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพรและงานวิจัยทางคลินิก
24 กุมภาพันธ์ 2568 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างเสริมความเชื่อมั่นการใช้ยาจากสมุนไพรสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมประกาศ คิกออฟ นโยบาย “เจ็บป่วยคราใดคิดถึงยาสมุนไพรก่อนไปหาหมอ” ว่า ปัจจุบันมีการใช้ยาในระบบสาธารณสุขของรัฐประมาณ 70,500 ล้านบาท เป็นยาแผนตะวันตก 69,000 ล้านบาท และเป็นยาสมุนไพรเพียง 1,500 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นการใช้ยาสมุนไพรในระบบ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติประมาณ 400 ล้านบาทเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่มียาสมุนไพรหลายชนิดที่มีคุณภาพและมาตรฐาน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขจึงตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มการสั่งใช้ยาสมุนไพร ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000ล้านบาท ภายในปี 2568 และไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท ในปี2569 ทั้งนี้เพื่อเป็น ทางเลือกให้แก่ผู้ป่วย ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ สนับสนุน การยกระดับภูมิปัญญาไทย และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในประเทศ
“ผมขอให้บุคลากรทางการแพทย์มีความเชื่อมั่นในยาสมุนไพร และเชิญชวนให้สั่งใช้ในการรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาสมุนไพร 10 รายการ ใน 10 กลุ่มโรคที่พบบ่อย ได้แก่ ยาไพล แก้ปวดกล้ามเนื้อและข้อ ยาฟ้าทะลายโจรรักษาไข้หวัดและโควิด 19 ยาขมิ้นชันแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ยาเพชรสังฆาตช่วยเรื่องท้องผูกริดสีดวงทวาร ยาขิงบรรเทาอาการวิงเวียน ยามะระขี้นกแก้เบื่ออาหาร ยากล้วยบรรเทาอาการท้องเสีย ยาหอมเทพจิตช่วยเรื่องนอนไม่หลับ ยาพริกแก้อาการชาจากอัมพฤกษ์อัมพาต และยาว่านหางจระเข้ ใช้ทาผิวหนัง แผล จึงขอให้ทุกท่าน ช่วยกันผลักดัน การใช้ยาสมุนไพร ผมเชื่อว่า จะเป็นการสร้างรายได้ให้ประเทศ และเพิ่มมูลค่า ทางเศรษฐกิจ ให้กับพืชสมุนไพรไทย” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ด้านแพทย์หญิงชนิดา สยุมภูรุจินันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า วันนี้ มูลนิธิโรงพยาบาลและโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เข้าร่วมจัดบูทแสดงนวัตกรรมและการวิจัยยาสมุนไพร รวมถึงมาตรกรการส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรในสถานพยาบาล ผ่านการพัฒนาหลักฐานเชิงประจักษ์ การให้คำปรึกษาและการฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ โดยรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร พร้อมนำนโยบายของ รมว.สาธารณสุข เกี่ยวกับยาสมุนไพรใช้บ่อยใน 10 กลุ่มโรคไปดำเนินการโดยมุ่นพัฒนาการทำงานบูรณาการร่วมกันระหว่างแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย
ด้าน ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวเสริมว่า มูลนิธิรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรให้ความสำคัญกับการพัฒนา วัตถุดิบที่นำมาพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ ที่ต้องผ่านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของนานาชาติ คือ มาตรฐาน IFOAM (International Federation of Organic Movement) และสารสำคัญทางยา ตามมาตรฐานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรามีงานวิจัยเล็ก ๆ พบว่า เถาวัลย์เปรียง ต้องอายุ 5 ปีไปแล้ว เพชรสังฆาตต้องอายุ 1.5 ปีไปแล้ว ถึงจะเก็บเกี่ยวมาทำยาได้ ถ้าอายุน้อยกว่านี้จะไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดในตำรายาหรือ Thai Herbal Pharmacopoeia (THP) ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเมื่อสารสำคัญไม่ถึงฤทธิ์ทางยาก็ไม่ดี เราจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก แม้จะต้องทำให้ต้นทุนยาสูงขึ้น แต่เราก็คาดหวังว่าคุณภาพยาที่ดีจะทำให้มีการใช้อย่างกว้างขวาง และเกิดการพัฒนาด้านสมุนไพรที่ยั่งยืน
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์แล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการวิจัยทางคลินิก เพื่อพิสูจน์ประสิทธิผลและความปลอดภัยของยา โดยขณะนี้เรากำลังจะทำวิจัยทางคลินิก ของอิมัลเจลจากสารสกัดกระดูกไก่ดำ เพื่อบรรเทาอาการปวดและเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อเข่าในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม และผลของตำรับสมุนไพรอภัยบีต่อการเปลี่ยนแปลงตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมระยะเริ่มต้น เพื่อตอบรับสังคมสูงอายุ ซึ่งคาดว่าจะทำงานวิจัยทั้งสองชิ้นนี้แล้วเสร็จในปี 2569
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี