กทม.ปรับปรุงเพิ่มเก้าอี้พักคอยป้ายรถเมล์ 2 แบบใหม่ อำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการ
นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางรูปแบบใหม่ว่า โครงการก่อสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทาง ประจำปีงบประมาณ 2568 จำนวน 300 หลัง ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งมี 2 รูปแบบ ได้แก่ Type L (ขนาด 2.3x6.0 ม.) มีเก้าอี้พักคอย 6 ตัว และรูปแบบ Type M (ขนาด 2.3x3.0 ม.) มีเก้าอี้พักคอย 3 ตัว โดย กทม. ได้ปรับปรุงรูปแบบให้สามารถบริการประชาชนได้มากขึ้น โดยเพิ่มจำนวนเก้าอี้พักคอยในศาลารูปแบบ Type L จากเดิมมี 6 ตัว ปรับเพิ่มอีก 4 ตัว รวมเป็น 10 ตัว และรูปแบบ Type M จากเดิมมี 3 ตัว ปรับเพิ่มอีก 2 ตัว รวมเป็น 5 ตัวแล้ว ส่วนกรณีมีข้อเสนอแนะให้เปลี่ยนมุมเก้าอี้หันไปทางขวา 45 องศาฯ เพื่อให้ผู้นั่งรอสามารถมองเห็นรถโดยสารประจำทาง กทม. พร้อมรับข้อเสนอแนะดังกล่าวไปพัฒนาและออกแบบเก้าอี้พักคอยให้เหมาะสมต่อไป
สำหรับในการจัดสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารหรือป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่นี้เป็นการดำเนินการทดแทนจุดที่มีอยู่แล้วที่มีสภาพเป็นเต็นท์หรือจุดหยุดรถชั่วคราว มี 2 ขนาดตามความเหมาะสมของพื้นที่ที่จะดำเนินการ โดยจะมีสีที่เห็นได้ง่าย มีป้ายบอกอยู่ด้านบนให้รถเมล์เห็นได้ชัด ที่ผนังป้ายรถเมล์มีรายละเอียดบอกว่ามีรถเมล์สายอะไรผ่านบ้าง แต่ละสายมีต้นสายและปลายสายที่ไหน สามารถเชื่อมต่อรถไฟฟ้า (BTS) และรถไฟใต้ดิน (MRT) ได้ที่ไหนบ้าง ที่นั่งมีความแข็งแรง มีพนักวางแขนเพื่อไม่ให้มีการใช้เป็นที่นอนมีที่ว่างสำหรับผู้ใช้รถวีลแชร์ มีไฟฟ้าส่องสว่าง ผนังศาลาเป็นอะคริลิกใส สามารถกันแดดกันฝนได้ แต่ด้านข้างไม่มีที่กั้นเนื่องจากให้รถวีลแชร์สามารถผ่านได้ โดยศาลาฯที่จะทำในปี 2568 ประมาณ 300 หลัง จะอยู่ในฝั่งพระนคร 200 หลัง และฝั่งธนบุรี 100 หลัง
ผอ.สจส.กล่าวอีกว่า กทม. ยังได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมพัฒนากายภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการระบบขนส่งสาธารณะด้วยความสะดวกและปลอดภัย ช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล บรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดและลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยจัดให้มีโครงการรถ Shuttle bus พลังงานไฟฟ้า ขนาด 20 ที่นั่ง รับ-ส่งประชาชนฟรีในพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ และสามารถเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่ระบบขนส่งทางราง 5 เส้นทาง ได้แก่ 1.รถไฟฟ้า BTS สนามเป้า-ศาลาว่าการ กทม.2 (ดินแดง) 2.รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล์ ลิงก์ ARL ลาดกระบัง-ชุมชนเคหะร่มเกล้า 3.รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT บางขุนนนท์-ตลาดน้ำตลิ่งชัน 4.ถนนสามเสน (บนเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง)-ฝั่งธน 5.เส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT หลักสอง-สำนักงานเขตทวีวัฒนา รวมระยะทางประมาณ 112 กิโลเมตร อีกทั้งยังให้บริการรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) สายสาทร-ราชพฤกษ์ ระยะทางประมาณ 16.5 กิโลเมตร อนาคตจะประสานความร่วมมือหน่วยงานรัฐและเอกชนสนับสนุนการขยายเส้นทางให้บริการรถ Shuttle bus พลังงานไฟฟ้า ให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ตลอดจนให้บริการ Bike Sharing 220 จุด เพื่อเป็นทางเลือกในการใช้ Feeder เข้าสู่ระบบขนส่งมวลชนหลักอีกทางหนึ่ง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี