นายอัครา พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ กล่าวว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำพ.ศ.2567-2570 ประกอบด้วย 7 มาตรการ(14 กิจกรรม) นั้น กรมประมง ได้ดำเนินโครงการวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ เป็นไปตามมาตรการที่ 6 การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ โดยการนำหลักพันธุศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อการควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำโดยใช้เทคนิคการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซมจากเดิมที่มีจำนวนชุดโครโมโซมตามธรรมชาติ 2 ชุด หรือ 2n ให้เป็นปลาหมอคางดำที่มีชุดโครโมโซม 4 ชุด หรือ 4n โดยจะนำปลาหมอคางดำ 4n เพศผู้ ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำเพื่อให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำซึ่งมีชุดโครโมโซม 2n ในธรรมชาติ โดยลูกปลาหมอคางดำที่ได้จากการผสมในลักษณะนี้จะได้ลูกปลาฯ ที่มีชุดโครโมโซม 3 ชุด หรือ 3n มีลักษณะที่เป็นหมันไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อไปได้
สำหรับการดำเนินการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซมปลาหมอคางดำ ครั้งนี้ ดำเนินการเหนี่ยวนำด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 40 ํC เป็นระยะเวลา 5 นาที ณ เวลา 80 นาทีหลังผสม ได้ปลาหมอคางดำที่สามารถเจริญเติบโตจนมีอายุ 3 เดือน 1,112 ตัวและมีปลาหมอคางดำที่มีขนาด ที่เหมาะสมสำหรับติดเครื่องหมาย PIT tag ได้ 703 ตัว และสามารถเก็บตัวอย่างเลือดด้วยวิธี pool sample ได้ทั้งหมด 135 กลุ่มตัวอย่าง จากปลาหมอคางดำ 551 ตัว เพื่อตรวจจำนวนชุดโครโมโซมด้วยเครื่อง flowcytometer พบรูปแบบที่มีการแสดงผลเป็นโครโมโซม 4n จำนวน 20 กลุ่มตัวอย่าง และตรวจสอบยืนยันจำนวนโครโมโซมรายตัวเรียบร้อยแล้ว 1 กลุ่มตัวอย่าง ซึ่งขณะนี้ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี จ.เพชรบุรี อยู่ระหว่างดำเนินการเร่งตรวจสอบยืนยันผลรายตัวจนครบ 20 กลุ่มตัวอย่าง ภายในเดือนมีนาคม 2568 ขณะเดียวกันคณะทำงานได้ดำเนินการปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการเหนี่ยวนำโครโมโซม เพิ่มเติม 9 รูปแบบ โดยมีการตรวจสอบชุดโครโมโซมเป็นระยะๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพิ่มจำนวนปลาหมอคางดำที่มีชุดโครโมโซมให้เหมาะสมและเพียงพอเพื่อขยายปล่อยลงแหล่งน้ำ ควบคุมปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติต่อไป
ด้านนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและรับฟังรายงานความก้าวหน้าโครงการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี โดยปล่อยปลาหมอคางดำเพศผู้ ที่มีโครโมโซม 4n เข้าผสมกับปลาหมอคางดำเพศเมียที่มีโครโมโซม 2n ในหน่วยทดลองเพื่อศึกษาการเข้าคู่ผสมพันธุ์ และความสามารถในการแข่งขันการเข้าคู่ผสมพันธุ์โดยวิธีธรรมชาติ เพื่อให้ได้ลูกปลาที่มีชุดโครโมโซม 3n ซึ่งมีลักษะเป็นหมัน นอกจากนี้ได้มอบพันธุ์ปลากะพงขาว ที่เป็นปลาผู้ล่าในธรรมชาติ ตามมาตรการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำมาตรการที่ 1 ให้เกษตรกรปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อที่ถูกบุกรุกเพื่อกำจัดและควบคุมปริมาณปลาหมอคางดำ ในพื้นที่ จ.เพชรบุรี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี