‘สมาพันธ์คนไร้บ้านไทย’ออกแถลงการณ์เรียกร้อง พม. ขอความชัดเจนโครงการ‘ห้องเช่าคนละครึ่ง’ ย้ำรูปแบบต้องเข้าถึงได้จริง เตรียมบุกกระทรวง 20 มีนาคมนี้
19 มี.ค. 2568 ที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ซ.รามคำแหง 39 แยก 17 กรุงเทพฯ สมาพันธ์คนไร้บ้านไทย ออกแถลงการณ์กรณีนโยบายห้องเช่าคนละครึ่ง โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระบุว่า สมาพันธ์คนไร้บ้านไทย คือการรวมตัวกันของคนไร้บ้านที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะและในศูนย์พักพิงชั่วคราวของเอกชนในประเทศไทย ปัจจุบันมีสมาชิกเครือข่ายใน 9 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น กาญจนบุรี ระยอง นครราชสีมาและสงขลา
จากการลงทำงานร่วมกับเพื่อนสมาชิกคนไร้บ้านที่ผ่านมา เห็นข้อมูลร่วมกันว่า การเข้าถึงห้องเช่าหรือห้องพักราคาถูกที่คนไร้บ้านจ่ายไหว จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสนับสนุนให้คนไร้บ้านกลับมาตั้งหลักชีวิตได้ และป้องกันกลุ่มเสี่ยงไร้บ้านไม่ให้หลุดออกมาเป็นคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้ร่วมกันผลักดันต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งกฎหมายนโยบายที่จะทำให้ชีวิตเราดีกว่านี้
โดยเฉพาะนโยบาย “ค่าเช่าบ้านคนละครึ่ง” จนสามารถบรรจุในแผนงบประมาณประจำปีของรัฐบาล แต่ ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีความคืบหน้าและการปฏิบัติใดๆ เพื่อแก้ไขปัญหาจริงตามที่ได้พูดไว้ จึงต้องมารรวมตัวกันเพื่อทวงสิทธิที่สมควรจะได้รับของประชาชน สิทธิในการเข้าถึงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาชีวิตของพวกเรา ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรม แม้พวกเราจะถูกเรียกว่าคนไร้บ้าน แต่เราก็คือมนุษย์ที่ควรเข้าถึงกลไกการแก้ปัญหาที่เท่าเทียมกับคนทุกกลุ่ม
ในวันที่ 20 มี.ค. 2568 พวกเราจะเกินหน้าร่วมกัน มุ่งตรงสู่กระทรวง พม. ด้วยภารกิจของชีวิต ที่เราเชื่อร่วมกันว่าจะทำให้ชีวิตเราดีขึ้น ผ่านนโยบาย “ห้องเช่าคนละครึ่ง” ภายใต้ข้อเสนอสำคัญดังต่อไปนี้ 1.การจ่ายงบประมาณโครงการห้องเช่าคนละครึ่ง ต้องไม่ใช่รูปแบบการสงเคราะห์ แต่เป็นเงื่อนไขและนโยบายที่หนุนเสริมในการตั้งหลักพัฒนาฟื้นฟูชีวิตระยะยาว คงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
2.หลักเกณฑ์การจ่ายและกลุ่มเป้าหมาย ต้องจ่ายงบประมาณตรงไปยังกลุ่มเป้าหมายในรูปแบบจ่ายคนละครึ่ง (แต่ไม่เกิน 1,500 บาท) โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น 4 ประเภท คือ 2.1 คนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ 2.2 คนไร้บ้านในศูนย์พักพิง 2.3 คนไร้บ้านที่กำลังอยู่ในช่วงตั้งหลักในห้องเช่า และ 2.4 กลุ่มเสี่ยงไร้บ้านที่มีแนวโน้มจะหลุดออกมาเป็นคนไร้บ้าน โดยกลุ่มเป้าหมาย 4 ประเภทนี้ต้องมีความสามารถในการจ่ายค่าเช่าได้ตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้
3.จัดตั้งกลไกการพิจารณาและสนับสนุนนโยบายใน 2 ระดับ คือ 3.1 กลไกการพิจารณากำกับติดตามในระดับพื้นที่หรือระดับจังหวัด ที่มีองค์ประกอบหลัก 3 ฝ่าย คือ 3.1.1 สมาชิกคนไร้บ้านหรือตัวแทนสมาพันธ์คนไร้บ้านในพื้นที่ 3.1.2 ภาครัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัด และ 3.1.3 องค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ที่มีความเข้าใจและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง กับ 3.2 คณะทำงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาศักยภาพชีวิตคนไร้บ้านในระดับชาติ เพื่อเป็นกลไกร่วมกันในการตัดสินใจทางนโยบายทั้งจากภาครัฐและภาคประชาชน
สมพร หารพรม
นายสมพร หารพรม ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับผู้สื่อข่าว ว่า โครงการห้องเช่าคนละครึ่ง เริ่มต้นจากการที่มูลนิธิฯ ไปทำงานกับคนไร้บ้านในย่านหัวลำโพง กรุงเทพฯ ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้วเห็นบางคนพยายามหาห้องเช่ารายวันในบริเวณนั้น แต่มีข้อจำกัดเรื่องค่าเช่าห้องกับรายได้ จึงคิดโครงการขึ้นมาโดยความร่วมมือของภาคประชาสังคมและหน่วยงานต่างๆ เช่น มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เครือข่ายคนไร้บ้าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น มาช่วยออกค่าเช่าห้องครึ่งหนึ่ง
โดยโครงการที่ผ่านไปทั้งหมด 6 ระยะ 21 ห้อง มีคนไร้บ้านเข้าร่วมโครงการ 41 คน ในตอนแรกตั้งใจจะช่วยเพียง 1 ปี เพื่อให้คนไร้บ้านสามารถตั้งหลักชีวิตได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ยังมีกองทุนเหลืออยู่ จึงทำการสนับสนุนแบบขั้นบันได กระทั่งกระทรวง พม. เล็งเห็นความสำคัญ เห็นคนไร้บ้านพยายามพัฒนาตนเอง จึงนำโครงการห้องเช่าคนละครึ่งไปพัฒนาต่อ เกิดเป็นโครงการนำร่อง ตั้งเป้าไว้ 200 หน่วยใน 8 จังหวัด เท่าที่ตนทราบคือทาง พม. ของบประมาณมาได้ 6 ล้านบาท เพียงแต่กลไกที่จะนำไปใช้ เช่น จะจ่ายไปที่ใคร ระหว่างผู้ประกอบการหรือผู้เข้าร่วมโครงการ
“มีปัญหาว่าการจ่ายไปที่ผู้ประกอบการ มีเงื่อนไขว่าผู้ประกอบการต้องไปจดทะเบียนนิติบุคคลโดย จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการห้องเช่า เราก็เลยเห็นว่าอย่างนี้มันมีปัญหาเพราะคนไร้บ้านส่วนใหญ่เขาไปเช่าห้องที่มันไม่ใช่อพาร์ตเมนท์ เราก็เลยบอกว่าถ้าอย่างนั้นพี่น้องคนไร้บ้านจะเข้าไม่ถึง มันก็เลยติดเงื่อนไขที่จะจ่ายไปที่ใคร จ่ายที่ตัวพี่น้องเอง จ่ายไปที่ 3,000 เลยไหม? เงื่อนไขมันเลยอยู่ตรงนี้ เราก็เลยเห็นว่ามันนานไปแล้ว จะเข้าสู่งบประมาณปี 2569 แล้ว ยังไม่ได้ใช้ เราก็เลยจะถือโอกาสไปติดตามว่าเงื่อนไขกลไกที่มันติดจะแก้ปัญหาอย่างไร” นายสมพร กล่าว
นายสมพร กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อเสนอของภาคประชาสังคมและเครือข่ายคนไร้บ้าน คือน่าจะมีกลไกตรงกลางโดยยึดเงื่อนไขของคนไร้บ้านในการรับงบประมาณห้องเช่าคนละครึ่ง แต่อาจมีการกำกับแก้การทำงานร่วมกันในหลายภาคส่วน ทั้งนี้ ตนมองว่าทาง พม. มีเป้าหมายทางนโยบายที่ชัดเจนแล้ว งบประมาณก็อนุมัติมาแล้ว แต่ยังติดเงื่อนไข 1.จะจ่ายเงินไปที่ใคร กับ 2.คุณสมบัติห้องเช่าที่จะเข้าร่วมโครงการเป็นอย่างไร แต่ตนกังวลว่าหากเป็นห้องเช่าที่จดทะเบียน มักจะเป็นห้องเช่าในอีกระดับหนึ่งซึ่งคนไร้บ้านอาจเข้าไม่ถึง
ส่วนการนัดหมายชุมนุมกันที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในวันที่ 20 มี.ค. 2568 จะเริ่มรวมตัวกันประมาณ 09.00 น. โดยก่อนหน้านี้ได้นัดหมายกับทาง พม. ไว้แล้ว คาดว่าในวันดังกล่าวจะมีที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าเป็นผู้มารับหนังสือยื่นข้อเรียกร้อง ส่วนที่สื่อถามว่ากลุ่มเสี่ยงไร้บ้านตามที่ปรากฏในแถลงการณ์ข้างต้นคือกลุ่มใด ต้องอธิบายว่า ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 พบคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่หลุดออกจากห้องเช่า ซึ่งคนกลุ่มนี้เดิมเขาก็เช่าห้องอยู่กระทั่งเผชิญวิกฤติและไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า
“เราคิดว่าน่าจะมีกลุ่มเสี่ยงที่จะไร้บ้านอยู่ในกลุ่มเป้าหมายด้วย ซึ่งถ้าเราไปเจอ หรือถ้าเขาประสบปัญหา ตกงานไม่รู้จะทำอย่างไร เราเลยเรียกกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงไร้บ้าน” นายสมพร ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
https://www.naewna.com/likesara/801527 สกู๊ปแนวหน้า : ‘ห้องเช่าคนละครึ่ง’ จุดตั้งหลักชีวิต‘คนไร้บ้าน’
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี