รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เผยแพร่ข้อมูลระบุว่าเป็นการเปิดเผยของนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. หลังการประชุมหารือทวิภาคี ร่วมกับ นายหลี่ กั๋วอิง (Mr. Li Guoying) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรน้ำสาธารณรัฐประชาชนจีน และคณะ ในโอกาสเยือนประเทศไทยเพื่อศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการน้ำระหว่างประเทศ เยี่ยมชมสภาพลำน้ำแม่น้ำโขง และสถานีตรวจวัดระดับน้ำแม่น้ำโขง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา
นายสุรสีห์กล่าวว่าเป็นโอกาสที่สำคัญอย่างยิ่งในการกระชับความสัมพันธ์ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระหว่างไทยและจีน ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยในระดับทวิภาคี กระทรวงทรัพยากรน้ำสาธารณรัฐประชาชนจีน มีบันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือทางวิชาการด้านทรัพยากรน้ำและการชลประทาน กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย และบันทึกความเข้าใจสาขาทรัพยากรน้ำ กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย ซึ่งได้หารือความเป็นไปได้ของการทำ MOU ระหว่าง สทนช. และกระทรวงทรัพยากรน้ำสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย และในระดับพหุภาคี มีความร่วมมือภายใต้กลไกคณะทำงานร่วมสาขาทรัพยากรน้ำ กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC)
“สาธารณรัฐประชาชนจีนได้เปิดรับข้อเสนอโครงการจากหน่วยงานไทย เพื่อรับการสนับสนุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง (MLC Special Fund) เป็นประจำทุกปี ที่ผ่านมา สทนช.ได้ดำเนินโครงการวิจัยร่วมเพื่อการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดน ด้านอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำสาย-น้ำรวก ระหว่างไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี 2561”ข่าวประชาสัมพันธ์ของ สทนช.ระบุ
นายสุรสีห์กล่าวว่า ในปี 2567 สทนช. ได้จัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างการปรับตัวของชุมชนเมืองต่อภาวะอุทกภัย ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก ระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (Strengthening Urban Community Resilience against Flashflood under Changing Climate and Extreme Events in Sai and Ruak Transboundary River between Thailand and Myanmar) และขอรับสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี 2568 โดยปัจจุบันสาธารณรัฐประชาชนจีนยังอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอโครงการของไทย
ด้าน นส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ภูมิภาค International Rivers กล่าวว่า การมาเยือนประเทศไทยของนายหลี่ กั๋วอิง และได้ไปลงพื้นที่แม่น้ำโขงบริเวณสามเหลี่ยมทองคำในครั้งนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรมีการนำเสนอปัญหาแม่น้ำโขงซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนานให้ทราบ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาภาคประชาชนและชุมชนลุ่มน้ำโขงได้ส่งหนังสือถึงรัฐบาลจีนผ่านสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เพื่อขอให้พิจารณาแก้ไขปัญหาผลกระทบท้ายน้ำจากการใช้งานเขื่อนบนแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงตอนบนในจีน ซึ่งก่อสร้างแล้ว 13 เขื่อน
“ระดับน้ำโขงที่ผันผวน ไม่สอดคล้องกับฤดูกาล สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขง เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของประชาชนในประเทศท้ายน้ำอย่างรุนแรง และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะมีกลไกแก้ปัญหานี้เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วม โดยคำนึงถึงหลักการ Shared River, Shared Future อย่างแท้จริง”น.ส.เพียรพร กล่าว
ผู้อำนวยการรณรงค์ภูมิภาค International Rivers กล่าวว่า ประชาชนนับล้านคนในประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง รวมถึงชาวไทยใน 8 จังหวัด ตั้งแต่เชียงราย ไปถึง จ.เลย อุบลราชธานี ที่พึ่งพาทรัพยากรแม่น้ำโขงในการดำรงชีพ ควรจะได้มีอนาคตที่ดีและสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่มีผลต่อแม่น้ำโขงและระบบนิเวศที่สำคัญของโลกแห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่มีความรุนแรงของสภาพภูมิอากาศดังที่ประชาชนนับล้านๆ ต้องประสบภัยพิบัติในปีที่ผ่านมา จำเป็นจะต้องมีการวางแผนที่ครอบคลุม มีส่วนร่วม และคำนึงถึงการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน nature based solutions ด้วยเช่นกัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี