‘เลขาฯ สกศ.‘ เผย ‘ผลวิเคราะห์การจัดอันดับ การศึกษาไทยรั้งท้ายอาเซียน จริงหรือไม่‘ แนะ 3 แนวทางการดูผลจัดอันดับการศึกษาอย่างมีสติ เท่าทัน”
วันที่ 24 มีนาคม 2568 ตามที่ เว็บไซต์ World Population Review ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับทางการศึกษาของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก 203 ประเทศ โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 107 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ได้ระดมข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา วิเคราะห์ผลการจัดอันดับดังกล่าว เพื่อตอบคำถาม การศึกษาไทยรั้งท้ายอาเซียนจริงหรือไม่ โดยผลการวิเคราะห์เชิงลึก พบประเด็นที่น่าสนใจ น่าเป็นห่วง และพึงระวังสำหรับการศึกษาไทย ซึ่งอยู่ในระหว่างการจัดทำข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว
รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า “ผลการจัดอันดับทางการศึกษาของเว็บไซต์ World Population Review เป็นการรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจ The annual Best Countries Report ที่จัดทำโดย US News and World Report, BAV Group, และ the Wharton School of the University of Pennsylvania ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของคนทั่วโลกื ประมาณ 17,000 คน จาก 73 ประเทศ โดยผลการสำรวจดังกล่าวในด้านการศึกษา ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 48 เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์ (อันดับ 22) และประเทศมาเลเซีย (อันดับ 37) โดยประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน อาทิ ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศเวียดนาม ประเทศเมียนมาร์ ประเทศกัมพูชา ล้วนมีอันดับที่ต่ำกว่าประเทศไทยทั้งสิ้น ขณะที่ประเทศลาว และประเทศบรูไน ไม่พบข้อมูลในการสำรวจดังกล่าว และเมื่อพิจารณารายละเอียดอื่น ๆก็พบว่า เว็บไซต์ดังกล่าว ไม่ได้ให้ข้อมูลอื่น ๆที่ใช้ในการจัดอันดับทางการศึกษาที่สามารถเชื่อมโยงกับไปยังข้อมูลสถิติทางการศึกษาอื่น ๆที่จะสื่อให้เห็นเกี่ยวกับคุณภาพของระบบการศึกษาแต่ละประเทศ
ผลการวิเคราะห์เบื้องต้น จึงสรุปได้ว่า ผลการจัดอันดับดังกล่าว ยังมีความย้อนแย้งกันอยู่ระหว่างข้อมูลผลการสำรวจที่ใช้ในการจัดอันดับกับผลการจัดอันดับของเว็บไซต์ World Population Review การตีความ และอธิบายผลการจัดอันดับ จึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูง ดังนั้น การที่จะกล่าวว่าการศึกษาของประทศไทยรั้งท้ายอาเซียน จึงอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเท่าใดนัก อย่างไรก็ตาม หากเราเปรียบเทียบผลการจัดอันดับกับทุกประเทศทั่วโลก ก็พบข้อเท็จจริงที่ชัดเจนและไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ระบบการศึกษาของประเทศไทย ยังมีคุณภาพและมาตรฐานน้อยกว่าอีกมากมายหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศในทวีปยุโรป และมีประเด็นอีกมากมายที่ประเทศไทย ต้องเร่งพัฒนา
อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่ได้จากผลการจัดอันดับครั้งนี้ คือ ผลการจัดอันดับในครั้งนี้เป็นสัญญาณเตือนให้ประเทศไทยต้องตื่นตัวและเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาและพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยมากกว่าเดิม มิเช่นนั้นแล้ว ประเทศไทยก็จะถูกประเทศอื่น ๆที่ตามหลังเราอยู่แซงหน้าเราไปในไม่ช้านี้”
รศ.ดร.ประวิต ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “อีกหนึ่งข้อมูลทางการศึกษาที่น่าสนใจที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ World Population Review คือ อัตราการรู้หนังสือ (Literacy Rate) ของประชากรในแต่ละประเทศ โดยพบว่า ประเทศไทยมีอัตราการรู้หนังสือได้ อยู่ที่ 94% ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศด้านในกลุ่มอาเซียน อาทิ มาเลเซีย (95%) ฟิลิปปินส์ (96%) อินโดนีเซีย (96%) เวียดนาม (96%) สิงคโปร์ (97%) บรูไน (98%) ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน มีอัตราการรู้หนังสือน้อยกว่าประเทศไทยทั้งสิ้น โดยข้อมูลอัตราการรู้หนังสือของประเทศไทย เป็นข้อมูลตั้งแต่ปี 2021 จึงอาจไม่สะท้อนสถานการณ์ในปัจจุบันเท่าใดนัก ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมกับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ได้มีการสำรวจการรู้หนังสือของประเทศไทย ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2568 โดยมีผลการสำรวจเบื้องต้น พบว่า อัตราการรู้หนังสือของคนไทย อายุ 15 ปีขึ้นไป อยู่ที่ประมาณ 99% ซึ่งหากใช้ข้อมูลดังกล่าวในการจัดอันดับจะถือว่าประเทศไทย มีอัตราการรู้หนังสือเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จะจัดการแถลงข่าวรายละเอียดและเผยแพร่ผลการสำรวจการรู้หนังสือของประเทศไทยดังกล่าว ภายในเดือนมีนาคม 2568 นี้
ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ระบบการศึกษาของประเทศไทย ยังมีจุดแข็งอยู่อีกมากมายที่ยังไม่ได้ประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานต่าง ๆทั้งภายในและภายนอกประเทศได้รับรู้ จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญอีกข้อหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องรีบเร่งดำเนินการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคส่วนต่าง ๆต่อการศึกษาไทยให้เพิ่มมากขึ้น”
รศ.ดร.ประวิต ได้ให้ข้อแนะนำในการพิจารณาผลการจัดอันดับทางการศึกษาของหน่วยงานต่าง ๆ อย่างมีสติและเท่าทัน ว่า “ปัจจุบัน สาธารณชนและหน่วยงานต่าง ๆหันมาสนใจผลการจัดอันดับด้านต่าง ๆของหน่วยงานต่าง ๆทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดอันดับด้านการศึกษา เพราะการจัดอันดับจะเป็นประโยชน์ที่ทำให้เราเห็นภาพทางการศึกษา ในแบบที่เข้าใจง่ายขึ้น และชัดเจนขึ้น แต่การมองผลการจัดอันดับทางการศึกษาโดยปราศจากความระมัดระวัง และความรอบคอบก็ก่อให้เกิดผลเสียได้เช่นกัน สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงได้สังเคราะห์แนวทางการพิจารณาผลการจัดอันดับทางการศึกษาออกมาเป็น Ranking Literacy หรือ ความฉลาดรู้ในการพิจารณาผลการจัดอันดับทางการศึกษา โดยมีหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ 1) ต้องมองหลายการจัดอันดับ/ดัชนีประกอบกัน เพื่อให้เห็นภาพการศึกษาชัดเจนมากขึ้น เนื่องจาก ฝการจัดอันดับของหน่วยงานต่าง ๆมีจุดเน้นและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ซึ่งนำมาสู่การนำข้อมูลสถิติทางการศึกษา มาใช้ในการจัดอันดับที่แตกต่างกันด้วย ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ World Population Review ใช้การสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการศึกษา แต่เพียงอย่างเดียวในการสะท้อนภาพรวมการจัดการศึกษาทั้งหมด อาจทำให้ผลการจัดอันดับไม่สะท้อนภาพความเป็นจริงของระบบการศึกษา 2) ต้องมองการจัดอันดับให้เป็นแบบ Longtitutional ranking ควบคู่ไปกับการมองแบบ Cross – Sectional Ranking โดยการมองการจัดอันดับแบบ Longtitutional ranking คือ การมองผลการจัดอันดับต่อเนื่องย้อนไปข้างหลัง ซึ่งจะทำให้เห็นทิศทาง และแนวโน้มผลการจัดอันดับ ขณะที่การมองการจัดอันดับแบบ Cross – Sectional Ranking คือ การมองผลการจัดอันดับในปีปัจจุบัน และเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เห็นถึงสภาวะปัจจุบันของประเทศ ซึ่งการวิเคราะห์ใน 2 มิติแบบนี้ จะทำให้มองเห็นพัฒนาการของการศึกษาของแต่ละประเทศมากขึ้น 3) ต้องมองค่าของดัชนีมากกว่าอันดับที่ปรากฎ ผลการจัดอันดับที่ปรากฏออกมา ไม่สามารถอธิบายลักษณะ จุดแข็ง และจุดอ่อนของการศึกษาของประเทศได้ แต่ค่าของตัวชี้วัดแต่ละตัวต่างหากที่จะอธิบายผลการจัดอันดับได้ดีกว่า ดังนั้น จึงไม่ควรตัดสินคุณภาพของการศึกษา โดยใช้ผลการจัดอันดับแต่เพียงอย่างเดียว”
รศ.ดร. ประวิต กล่าวสรุป ว่า “กระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้นิ่งนอนใจในการพัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ผลการจัดอันดับทางการศึกษาที่สำคัญในระดับนานาชาติของประเทศไทยสูงขึ้น โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบ เรื่องนี้ โดยขณะนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา มีกิจกรรมสำคัญที่จะเป็นเรือธงในการขับเคลื่อนการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษา 3 เรื่อง คือ 1) การจัดทำแผนระดับความสามารถทางการแข่งขัน ทางการศึกษาของประเทศไทย ให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล พ.ศ. 2568 – 2570 ซึ่งแผนดังกล่าว ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสภาการศึกษาแล้ว อยู่ในระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ 2) การจัดทำดัชนีการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นสาระสนเทศสำคัญ ที่รวบรวมข้อมูลทางการศึกษาที่เป็นตัวชี้วัดของการจัดอันดับนานาชาติมาประมวลผลให้เห็นถึงสภาวะการศึกษาของประเทศไทยอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และตรงตามสถานการณ์จริง รวมทั้ง ยังมีระบบ Education Benchmarking ที่เปรียบเทียบพัฒนาการทางการศึกษาของประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ เพื่อส่งสัญญาณให้กับผู้บริหารการศึกษา ให้เป็นข้อมูลในการวางแผนทางการศึกษา และ 3) การทำเอกสารตราสารทางการศึกษา เกี่ยวกับการประเมินระบบการศึกษาให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งเป็นเอกสารที่ใช้ในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีแนวทางการพัฒนาการศึกษาที่ชัดเจน ได้มาตรฐานในระดับนานาชาติ ซึ่งหากดำเนินการได้ครบถ้วนทั้งหมดแล้ว ความสามารถทางการแข่งขัน ทางการศึกษาของประเทศไทยในเวทีโลก ต้องเกิดการพัฒนาอย่างแน่นอน”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี