คณะทำงาน ป.ป.ช. ชุก ฉก.ฉลามอันดามัน นำกำลังย่องเงียบ บุกตรวจสอบอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา งามไส้! เห็นคาตา นักท่องเที่ยวผีเพียบ เผย แจ้งซื้อตั๋วผ่านระบบ E-Ticket เพียง 5 คน แต่ขนนักท่องเที่ยวมาจริงกว่า 50 คน และยังพบซื้อมาในราคาคนไทย แต่กลับมีต่างชาติมาเต็มลำ โดยแทบจะไม่มีนักท่องเที่ยวชาวไทย ทำประเทศชาติสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก ด้าน หัวหน้าฯอุทยาน เผย พบข้อผิดพลาดจริง อ้างเกิดจากหลายปัจจัย ขณะที่ ป.ป.ช.เตรียมตรวจสอบเชิงลึก หากพบข้อมูลเป็นความจงใจของเจ้าหน้าที่ร่วมกันทุจริตกับเอกชน ยกเหตุสงสัยดำเนินการตามขบวนการต่อไป ล่าสุดมีรายงานสั่งย้ายหัวหน้าอุทยานฯออกนอกพื้นที่แล้ว
วันนี้ 27 มีนาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวานนี้ 25 มี.ค.68 คณะทำงานของ ป.ป.ช. ชุดเฉพาะกิจติดตามมาตรการป้องกันการทุจริตในการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ หรือชุด “ฉก.ฉลามอันดามัน” นำโดย นายสุชาติ กรวยกิตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 8 นายทวิชาติ นิลกาญจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 8 นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง นายยุทธนา วิมลเมือง หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง นายปิยะวัฒน์ คุระพูล ผอ.กลุ่มประสานการป้องกันการทุจริตภาค 9 และเจ้าหน้าที่คณะทำงานร่วมกว่า 30 คน ได้นำกำลังเดินทางลงตรวจสอบการจัดเก็บรายได้ของ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา โดยลงพื้นที่บริเวณ เกาะสี่และเกาะแปด ภายหลังจากที่มีการประกาศให้มีการจัดเก็บรายได้ E-Ticket หรือตั๋วแบบอิเล็กทรอนิกส์ อย่างเต็ม 100 เปอร์เซ็น โดยเป็นการบุกตรวจด้วยความลับ ไม่มีการบอกกล่าวกับทางอุทยานฯ ล่วงหน้าแต่อย่างใด
เมื่อเดินทางไปถึงจึงได้ยื่นหนังสือขอเข้าตรวจสอบกับ นายฤทธิกรณ์ นุ่นลอย นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ปฎิบัติหน้าที่ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา เพื่อขอเข้าปฎิบัติหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งคณะทำงาน ป.ป.ช.ได้มีข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยว ทั้งไทยและเทศ ที่มีการแจ้งจากผู้ประกอบการซื้อตั๋วผ่านระบบ E-Ticket ของวันนี้ (25 มี.ค.) อยู่ในมือทั้งหมดแล้ว ก่อนจะแยกย้ายแบ่งหน้าที่กันเข้าประจำจุด เมื่อเรือของผู้ประกอบการหลายบริษัททยอยกันเดินทางเข้ามาเทียบชายหาด คณะทำงานได้นำจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่โดยสารมา ก่อนจะตรวจสอบภายหลังจากที่ไกด์นําเที่ยวประจำเรือแต่ละลำจะนำคิวอาร์โค้ดมาให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดสแกนเพื่อระบุถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางซื้อตั๋วแบบ E-Ticket เข้ามา
แต่ปรากฏว่าคณะทำงานเฝ้าติดตามอยู่ประมาณ 4 ชั่วโมง สามารถตรวจสอบพบว่าเรือผู้ประกอบการท่องเที่ยวเอกชน จำนวนประมาณ 15 ลำ ที่เข้ามาเทียบชายหาดเพื่อส่งนักท่องเที่ยว บางลำเข้ามาส่งนักท่องเที่ยวโดยซื้อตั๋ว แบบ E-Ticket แจ้งว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเพียงแค่ 5 คน ทั้งที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเห็นอย่างชัดเจนว่าโดยสารมาถึง 50-60 คน และทั้งนี้ยังพบเห็นอย่างชัดเจนว่าบางลำแจ้งซื้อตั๋วเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยมาจำนวน 10-20 คน แต่ปรากฏข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบแทบจะไม่มีนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางเข้ามา รวมทำหมดที่พบเห็นมีเพียงไม่ถึง 50 คน ซึ่งราคาตั๋ว แบบ E-Ticket จำหน่ายในราคาคนไทย 100 บาท เด็ก 50 บาท ต่างชาติ 500 บาท เด็ก 250 บาท
ทั้งนี้ในระหว่างที่ลงพื้นที่ตรวจสอบพบเห็นว่าลูกจ้างของอุทยานฯที่เฝ้าประจำจุดนั้น ไม่ได้มีการนับจำนวนนักท่องเที่ยวโดยทั้งหมด มีการนับเพียงบางลำเท่านั้น โดยการนับของลูกจ้าวงอุทยานฯเป็นการนับแบบใช้สายตาและใช้เครื่องกดนับตัวเลข และภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่คณะทำงาน ป.ป.ช. ได้ตรวจพบอย่างชัดเจน ก่อนจะสอบถามว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ ทางลูกจ้างอุทยานฯ จึงได้มีการเขียนใบปรับให้กับไกด์นำเที่ยวเพื่อเปรียบเทียบปรับ โดยจะต้องส่งใบปรับให้ทางผู้มีอำนาจของอุทยานฯต่อไป
จากการตรวจสอบข้อมูลรอบเดือนที่ผ่านมา ที่มีนักท่องเที่ยวชาวไทยจำนวน 40,000 กว่าคนต่อเดือน แต่ข้อเท็จจริงจากการสังเกตการณ์พบว่าไม่ค่อยปรากฏมีนักท่องเที่ยวชาวไทย ส่วนมากเกือบ 100% เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งข้อมูลและสภาพที่พบเห็นต่างต่างกันอย่างชัดเจน
นายสุชาติ กรวยกิตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 8 กล่าวว่า เป็นภารกิจติดตามเกี่ยวกับเรื่องค่าเข้าอุทยาน ซึ่ง ป.ป.ช เสนอมาตรการไปเกี่ยวกับเรื่องให้จัดเก็บแบบ E-Ticket ส่วนที่มาสิมิลันฯเพราะเป็นอุทยานแรกที่เก็บ E-Ticket อย่าง 100 % จากการมาตรวจสอบจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากับบริษัททัวร์แต่ละลำยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง แต่ความคลาดเคลื่อนต่างๆ คือการจะหาแนวทางที่จะลดความคลาดเคลื่อนลง หรือหาแนวทางแก้ไขยังไง เพราะว่าในระบบกับหน้างานจริง ๆ มันมีเรื่องจำนวนคน ประเภทของนักท่องเที่ยวต่างชาติกับคนไทยค่าธรรมเนียมแตกต่างกันถึงเกือบ 10 เท่า พอแจ้งยอดคนไทยเข้ามาทั้งที่จริงเป็นต่างชาติเยอะทำให้มีความ Error อยู่ และแม้ว่าจะเข้ามาในระบบ E-Ticketแต่การตรวจนับก็ยังเป็นแบบแมนนวล คือการใช้เจ้าหน้าที่ตรวจนับเอา ซึ่งยังมีจุดที่หละหลวมอยู่แต่ไม่มากนัก อาจจะมีประเภทนักท่องเที่ยวมากกว่า แต่ก็ได้หาแนวทางแล้วว่าจะกำชับยังไงให้ลดความคลาดเคลื่อนลง
เบื้องต้นได้ประสานไปทางอุทยานให้ดำเนินการไปตามกฎกติกาของเขาก่อน แต่ถึงขั้นมีการช่วยเหลือกันหรือไม่จะต้องไปดูรายละเอียดอีกที และเมื่อพบเห็นอย่างนี้แล้วก็จะให้อุทยานไปดำเนินการตามระเบียบของกรมอุทยานฯ ในการปรับผู้ที่แจ้งมาไม่ตรงกับที่เข้าชมอุทยานฯ จริง ๆ ตอนนี้รวบรวมมาหลายที่แล้ว แต่มีที่นี่เพียงที่เดียวที่ใช้ E-Ticket100 % บางทีนำร่องเป็น E-Ticket แต่ใช้แบบปกติอยู่คือฉีกตั๋วหน้างาน เราเริ่มมีการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียกัน แม้ว่าจะพบข้อบกพร่องจริง ๆ แต่จะต้องปรับปรุงมาตรการ คือเราต้องแยกก่อนว่าในการปรับปรุงมาตรการเพื่อให้การเก็บค่าเข้าชมอุทยานซึ่งเป็นรายได้ของแผ่นดินให้ครบถ้วนตามความเป็นจริง แต่กรณีที่เรายังไม่พบถึงขั้นที่เจ้าหน้าที่เองไปมีพฤติการณ์ในการทุจริต หรือร่วมกับทางเอกชนในการที่จะแสวงหาประโยชน์ ถ้าหากพบเห็นก็จะดำเนินการให้เป็นเรื่องกล่าวหาร้องเรียนต่อไป
นายยุทธนา วิมลเมือง หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง กล่าวว่า วันนี้มีข้อสังเกตจากการจำหน่ายตั๋วของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่วันนี้มีการซื้อตั๋วของบริษัทต่าง ๆ ระบุว่าเป็นคนไทย 500 คน แต่จากการสังเกตของคณะทำงานฯ พบว่าน่าจะมีไม่ถึง 10% อาจจะ 30-40 คนโดยประมาณ ซึ่งผิดปกติวิสัย และเรื่องของการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จะเห็นว่าไม่ไปดำเนินการตรวจนับให้มันตรงตามใบงาน หรือ E-Ticket ที่ซื้อมา ซึ่งตัวเลขแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เรือบางลำบางบริษัทซื้อมาแค่ 5 คน แต่มาจริงเต็มลำคือ 50 คน มีส่วนต่างจำนวนมาก ซึ่งตรงนี้เดี๋ยว ป.ป.ช จะติดตามเจ้าหน้าที่ว่าจะต้องดำเนินการปรับหรือไม่อย่างไร
วันนี้อยู่ประมาณ 4 ชั่วโมงประมาณ 10 โมงถึงบ่าย 2 ก็เห็นเรือประมาณ 10 บริษัทหรือ 10 กว่าลำที่มีจำนวนไม่ตรงกันเลยทุกลำที่เราไปตรวจนับ มีการซื้อตั๋วในจำนวนนักท่องเที่ยวไทย แต่ปรากฏว่าไม่มีนักท่องเที่ยวไทยเลยทั้งลำ หรือซื้อมาต่างชาติจำนวนน้อยแต่มาจำนวนมาก เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รายงานมาว่ามีแค่รายเดียว ซึ่งกลายเป็นข้อสังเกต ซึ่ง 1 เดือนที่ผ่านมามีแค่รายเดียวที่มีการเปรียบเทียบปรับ โดย ป.ป.ช จะขอข้อมูลย้อนหลังมาดู และต้องดำเนินการกับบริษัทที่ซื้อตั๋วผิดประเภทหรือไม่ซื้อตั๋วให้ตรงตามจำนวนนักท่องเที่ยว
นายฤทธิกรณ์ นุ่นลอย นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ปฎิบัติหน้าที่ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา กล่าวว่า จากการที่ได้สุ่มตรวจพบข้อผิดพลาดในบางรายที่ไม่ตรง ทุกครั้งที่ตรวจพบจะมีการจับปรับ ครั้งแรก 5,000 บาทและมีการจ่ายเงินในใบเสร็จให้ครบ ซึ่งมีอยู่ประปรายและปรับเรื่อยไป สาเหตุอาจจะมาเช้า ขาดเกินมาก็ปรับเพราะเราเก็บเงินต่อไม่ได้ต้องปรับเป็นวินัยทันที เคสปรับมีวันละ 5,000-10,000 บาท บางวันก็ไม่มี บางวันก็ 2 หมื่นก็แล้วแต่ ระเบียบปรับเป็นวินัย กฎหมายใหม่ ซึ่งมีองค์คณะ 3 ตัวมีระดับชำนาญงานพิเศษ ชำนาญการ และระดับปฎิบัติการ บางทีก็รวมถึงความผิดอื่นด้วย เช่น ทอดสมอในอุทยานฯ จับเต่า หรือความผิดทั่วไปก็อยู่ในข้อดี คือปรับ ถ้าไม่ปรับก็ดำเนินคดี ซึ่งอำนาจอยู่ที่อุทยานฯ เอง ถ้าพบมีการกระทำความผิดอยู่ บางครั้งก็มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ฯ
มีการสุ่มตรวจและลงโทษ มีหนังสือแจ้งเตือนผู้ประกอบการ ไกด์ให้กวดขันไม่เช่นนั้นจะโดนค่าปรับตามจำนวน 3 ครั้งแล้วต้องเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งเท่าที่ทราบยังไม่เคยมีใครถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งก็เพิ่งย้ายมา ส่วนสาเหตุของการรั่วไหลของจำนวนเงินในแต่ละวัน 1.น่าจะมาจากการรวบรวมแมนนวลหรือการสรุปตัวเลข 2. นักท่องเที่ยวบางส่วนมาไม่ครบหรืออาจจะไปเล่นน้ำจากจุดอื่นมา ซึ่งมีหลายปัจจัย แต่วันนี้ที่ได้คุยกับ ป.ป.ช มี 3-4 ปัจจัยด้วยกัน เราจึงต้องควบคุมปัจจัยเหล่านั้นและกวดขันให้มากขี้น ซึ่งเราต้องหมั่นสุ่มตรวจอยู่เรื่อยเพื่อไม่ให้มีช่องว่าง
ซึ่งอยากให้กรมอุทยานฯ ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ฯ ที่มีนักท่องเที่ยวมากขึ้น อาจจะบางปีมาก บางปีน้อย ถ้าปีที่น้อยก็ทำงานทัน แต่ถ้าปีไหนนักท่องเที่ยวมากก็ทำให้การควบคุมอาจจะรั่วไหล อาจจะไม่กวดขันในการนับจำนวน ซึ่งเราต้องเพิ่มจำนวนคนนับและใช้เครื่องมือช่วย เท่าที่ทราบมาหลังโควิด เมื่อก่อนเก็บสดหน้าหาด ซึ่งมีการรั่วไหลเป็นจำนวนมาก ถ้าเก็บหน้าหาดก็รั่วไหลจากหลายอย่าง 1. นับทอนผิด 2. นับไม่ทัน 3.ทำเงินตกน้ำ มีการขโมยเงินทอง หลายปัจจัย แต่พอเป็น E-Ticket ที่เกาะไม่มีเงินเลย ลดโอกาสทุจริตน้อยลง ซึ่งหลังจากมี E-Ticket แล้วมีอยู่บ้าง ก็ต้องมีการสุ่มตรวจหรือใช้เครื่องมือทันสมัย ใช้ริสแบนด์หรือใช้เครื่องมือให้มากแทนการนับคน เพราะการนับคนมี Error หลายอย่าง ทั้ง 3-4 ปัจจัยและเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องควบคุม
เบื้องต้นทาง คณะทำงาน ป.ป.ช. ชุด ฉก.ฉลามอันดามัน จะทำการของตรวจสอบพยานหลักฐานหรือเอกสารต่างๆ อย่างละเอียดอีกครั้ง พร้อมทั้งได้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากพบมีข้อมูลว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนรู้เห็นเป็นใจร่วมกับผู้ประกอบการ จะมีการดำเนินการยกเหตุสงสัยว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น และจะดำเนินการตามขบวนการต่อไป พร้อมทั้งให้ทางหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา ได้ดำเนินการตรวจสอบว่าเจ้าหน้าที่มีการเปรียบเทียบปรับกับบริษัทฯหรือไม่ และเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามกฎของอุทยานฯ หรือไม่ต่อไป
โดยล่าสุดมีรายงานว่า นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ได้มีคำสั่งย้าย นายฤทธิกรณ์ นุ่นลอย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา ออกจากพื้นที่ในระหว่างตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี