คณะวิทยาศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา ลงพื้นที่ ต.สนามชัย อ.สทิงพระ ถ่ายทอดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากใบพลู ช่วยชุมชนแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด-ราคาตกต่ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) นำโดย ผศ.ดร.ทวีสิน นาวารัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ อาจารย์ ดร.ธีรยุทธ์ ศรียาเทพ ผู้ช่วยคณบดี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่และนักศึกษาของทางคณะฯ ลงพื้นที่ ต.สนามชัย อ.สทิงพระ จ.สงขลา จัดอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากใบพลู (สบู่โฟมล้างหน้า ยาสีฟัน เซรั่ม) ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาคุณภาพและนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ของตนเอง ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนให้คนในชุมชนสามารถบริหารจัดการชีวิตได้อย่างสมดุลและเหมาะสม สามารถดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำไปสู่การพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือเกื้อกูลในชุมชนได้อย่างยั่งยืน
ผศ.ดร.ทวีสิน นาวารัตน์ กล่าวว่า ประชากรส่วนใหญ่ใน ต.สนามชัย ร้อยละ 70 ประกอบอาชีพปลูกใบพลูเพื่อจำหน่ายเป็นผลผลิตครัวเรือน โดยช่วงหลังเมื่อ 2 ปีที่แล้ว (ประมาณปี พ.ศ. 2566) ผลิตภัณฑ์จากใบพลูมีผลผลิตออกมามาก ส่งผลให้ผลผลิตล้นตลาด ทำให้ราคาตกต่ำ ทางคณะฯ เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงเข้ามาสนับสนุนชุมชนในการจัดทำผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าใบพลู โดยทีมคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ฯ ได้นำใบพลูที่ไม่ได้ขนาดตามต้องการของตลาด มาสกัดสารแยกส่วนประกอบต่าง ๆ ของใบพลู เพื่อค้นหาว่ามีสารใดบ้างที่มีองค์ประกอบ สามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไปได้ ภายใต้โจทย์ที่ว่าต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากความต้องการของชุมชน จึงนำมาสู่การจัดทำ “สบู่” และ “โฟมล้างหน้า” จากใบพลู โดยมีเลขที่จดแจ้งเรียบร้อยพร้อมจำหน่าย รวมถึงยาสีฟันซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ
ในการดำเนินการดังกล่าว มรภ.สงขลา โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ลงพื้นที่ ต.สนามชัย อ.สทิงพระ จ.สงขลา เพื่อถ่ายทอดกรรมวิธีในการผลิตฯ สู่ชุมชน โดยทางมหาวิทยาลัยคาดหวังให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ซึ่งจะนำเข้าคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย (OTOP) โดยประสานความร่วมมือกับพัฒนาชุมชนและหน่วยงานภาครัฐ ในการสนับสนุนด้านช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน และก่อให้เกิดผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง เชื่อมโยงสินค้าจากชุมชนไปสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อไป
สำหรับการจัดอบรมของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในครั้งนี้ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และมีประสิทธิภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน และ เป้าหมายที่ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ///-026
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี