สภากทม. เยี่ยมคารวะเอกอัครราชทูต กรุงลอนดอน หารือแลกเปลี่ยนการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองท้องถิ่น /พร้อมหารือการจัดการเขตปล่อยมลพิษต่ำ และลอนดอนเมืองต้นแบบรถเก็บขยะไฟฟ้า เตรียมเสนอผ่านสภาเดินหน้าพัฒนารถเก็บขยะกทม.
นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา(ดร.จอห์น) ประธานสภากรุงเทพมหานครเปิดเผยภายหลังนำคณะสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเข้าเยี่ยมคารวะ นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ เอกอัครราชทูต ณ สถานเอกอัครราชทูต กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา ว่า “การเข้าเยี่ยมคารวะท่านเอกอัครราชทูตฯในครั้งนี้เป็นการพบปะหารือเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองท้องถิ่นของกรุงลอนดอนนับเป็นโอกาสอันดีที่ได้รับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากท่านเอกอัครราชทูตเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบ ตลอดจนแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองท้องถิ่นของกรุงลอนดอนสหราชอาณาจักร ลอนดอนเป็นเมืองที่มีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและเป็นแบบอย่างแก่เมืองต่างๆ ในระดับสากล รวมถึงแนวทางการดำเนินนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากรุงเทพมหานคร บรรยากาศในการหารือเป็นไปด้วยความเป็นกันเอง ทั้งนี้ ประเทศไทยและประเทศอังกฤษมีความสัมพันธ์กันมากว่า 170 ปี เป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศ อีกทั้งสภากรุงเทพมหานครกำลังริเริ่มการสร้างความสัมพันธ์และวางกรอบแนวทางการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในอนาคต กับสภากรุงลอนดอน ภายหลังการหารือเอกอัครราชทูตแสดงความยินดีที่จะให้การสนับสนุนในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสภากรุงเทพมหานครและสภากรุงลอนดอนให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น”
ประธานสภากทม. กล่าวอีกว่า คณะสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ได้เข้าร่วมประชุมหารือการจัดการเขตพื้นที่การปล่อยมลพิษต่ำของกรุงลอนดอน กับ Yunex Traffic ซึ่งเป็นผู้นำระดับโลกด้านระบบจราจรอัจฉริยะ มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนโครงการเขตการปล่อยมลพิษต่ำพิเศษ (ULEZ) ของลอนดอน มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศโดยกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดสำหรับยานพาหนะที่ใช้ในเมืองโดยความร่วมมือกับองค์การขนส่งลอนดอน (Transport for London - TfL) ช่วยให้ ULEZ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการติดตั้งเทคโนโลยีตรวจจับป้ายทะเบียนอัตโนมัติ (ANPR) ซึ่งสามารถระบุยานพาหนะที่เข้าสู่เขตเมืองได้อย่างแม่นยำว่าเป็นยานพาหนะรุ่นเก่า ยานพาหนะพลังงานดีเซล-เบนซิน และยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า โดยปัจจุบันยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าสามารถเข้าเขตพื้นที่ลอนดอนได้โดยไม่เสียภาษีการเข้าพื้นที่ ภายหลังการบรรยายสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมแสดงความคิดเห็นหลากหลายประเด็นและจะนำข้อมูลที่ได้มาประยุกต์เพื่อติดตามการบริหารงานของกรุงเทพมหานครต่อไป
นอกจากนี้ คณะสมาชิกสภากรุงเทพมหานครยังได้ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะทำงานการจัดการรถขนขยะไฟฟ้าลอนดอน ซึ่ง “เรื่องมลพิษฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาหลักของกรุงเทพมหานคร รวมถึงเรื่องขยะมูลฝอย การเปลี่ยนรถเก็บขนมูลฝอยจากรถพลังงานดีเซลเป็นรถพลังงานไฟฟ้า (EV) เป็นเรื่องที่สภากรุงเทพมหานครให้ความสำคัญและผลักดันมาโดยตลอด เมืองลอนดอนนั้นเป็นเมืองที่ไร้ฝุ่น PM2.5 เนื่องจากรถยนต์ส่วนใหญ่เป็นรถพลังงานไฟฟ้าที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษรวมถึงรถเก็บขยะด้วย”
ทั้งนี้ ผู้แทนคณะทำงานฯ ได้บรรยายสรุปภาพรวมการปฏิบัติงานของรถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้าลอนดอนว่า โครงการเปลี่ยนรถเก็บขยะพลังงานดีเซลเป็นรถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้าริเริ่มมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2018 ใช้ระยะเวลา 5 ปี ในการเปลี่ยนรถเก็บขยะพลังงานดีเซลเป็นรถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้าในเมืองลอนดอนได้ทั้งหมด โดยรถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้ามีขนาด 26 ตัน สามารถเก็บขยะได้ 50 ล้านชิ้นต่อปี และในด้านสิ่งแวดล้อมระหว่าง รถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้าช่วยลดการปล่อย CO2e ได้ถึง 89% เมื่อเทียบการใช้รถเก็บขยะเครื่องยนต์ดีเซล ทำให้รถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้าลดการปล่อย CO2 ได้รวมกันกว่า 2,000 ตันต่อปี ซึ่งการเปลี่ยนมาใช้รถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้าถือเป็นการบุกเบิกการให้บริการที่ช่วยทำให้ผู้อยู่อาศัยในเมืองไม่ได้รับมลพิษทางเสียงและช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศในใจกลางกรุงลอนดอนอีกด้วย รถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้าได้รับการสนับสนุนจากสถานีชาร์จไฟฟ้าเต็มรูปแบบแห่งใหม่ในลอนดอนตะวันออกเฉียงใต้ สามารถชาร์จรถยนต์ได้ถึง 54 คันพร้อมกัน โดยพลังงานที่ใช้ชาร์จรถเก็บขยะนั้นมาจากการรีไซเคิลขยะที่เก็บในแต่ละวัน
โดยคณะสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมซักถามข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง ทั้งข้อดี ข้อเสีย และปริมาณงานในแต่ละวัน ระหว่างรถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้าและรถดีเซล ซึ่งรถพลังงานดีเซลและรถพลังงานไฟฟ้ามีอัตราการทำงานในแต่ละวันที่เท่ากัน แต่ผลเสียของรถพลังงานดีเซลคือก่อให้เกิดมลพิษในอากาศ ส่วนรถพลังงานไฟฟ้ามีน้ำหนักที่มากกว่าหลายเท่า ทางเมืองลอนดอนจึงต้องแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สามารถใช้รถพลังงานไฟฟ้าทดแทนรถพลังงานดีเซลเพื่อให้เกิดเป็นเมืองไร้ฝุ่นขึ้นมา ซึ่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครจะสรุปข้อมูลเพื่อนำเสนอสภากรุงเทพมหานครผ่านการตั้งกระทู้ ญัตติ และการสอบถามโดยตรงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านคณะกรรมการสามัญประจำสภากรุงเทพมหานครเพื่อเชื่อมโยงข้อมูล และประยุกต์กับแนวทางการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครต่อไป
การไปเยือนกรุงลอนดอนครั้งนี้ ประธานสภากทม.พร้อมคณะฯ นายวิพุธ ศรีวะอุไร รองประธานสภากรุงเทพมหานครคนที่หนึ่ง นางสาวนฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ สก.เขตคลองสามวานางชญาดา วิภัติภูมิประเทศ สก.เขตคันนายาว นางสาวรัตติกาลแก้วเกิดมี สก.เขตสายไหม นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ สก.เขตมีนบุรี นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สก.เขตจอมทอง นายอำนาจ ปานเผือก สก.เขตบางแค นายกฤษฎ์ คงวุฒิปัญญา สก.เขตภาษีเจริญ และนายตกานต์ สุนนทวุฒิ สก.เขตหลักสี่ ได้มีโอกาสเดินทางไปกราบสักการะพระราชวิเทศปัญญาคุณเจ้าอาวาสวัดพุทธปทีป กรุงลอนดอน ประธานพระธรรมทูตไทยในสหราชอาณาจักร ณ วัดพุทธปทีป ได้พบปะพูดคุยกับคนไทยที่พำนักอยู่ที่กรุงลอนดอนพบว่า การใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ค่าครองชีพค่อนข้างสูงหากเทียบกับประเทศไทย อีกทั้งวัดพุทธปทีปกำลังประสบปัญหาเรื่องหลังคาโบสถ์ชำรุด มีน้ำรั่วซึมทำให้หลังคาและภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สร้างโดยศิลปินไทยที่มีชื่อเสียง อาทิ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ได้รับความเสียหาย โดยวัดพุทธปทีปเป็นวัดไทยในต่างประเทศตั้งอยู่ในเมืองวิมเบิลดัน ลอนดอน สหราชอาณาจักร ถือเป็นวัดไทยแห่งแรกที่สร้างในสหราชอาณาจักร ในปี พ.ศ. 2509 โดยรัฐบาลไทยเป็นผู้สร้าง ซึ่งการซ่อมแซมทำนุบำรุงวัดนั้นจำเป็นต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากจึงทำให้การซ่อมแซมยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น ประชาชนและผู้มีจิตศรัทธาจึงขอให้สภากรุงเทพมหานครประสานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในการช่วยทำนุบำรุงศาสนสถานของวัดไทยในลอนดอนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งประธานสภากทม.ได้ตอบรับประสานแก้ไขปัญหาทำนุบำรุงวัด เพื่อที่จะทำให้วัดไทยในต่างประเทศยังคงเป็นศูนย์รวมจิตใจที่มีคุณค่าสำหรับชาวไทยตลอดไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี