‘รมช.เกษตรฯ-กรมฝนหลวงฯ’ ผนึกกำลังลุยเชิงรุกแก้ ‘ฝุ่นพิษPM2.5ภาคเหนือ’ ขึ้นบินโปรย ‘น้ำแข็งแห้ง’ ผ่อนหนักเป็นเบาบรรเทาเดือดร้อนประชาชน เตรียมใช้งบฯกลางตั้ง ’โรงผลิตน้ำแข็งแห้ง‘ ช่วยสู้ ตั้งเป้าช่วง ‘สงกรานต์’ ลดสถานการณ์ สร้างความมั่นใจนทท.
วันที่ 29 มีนาคม 2568 ที่กองบิน41 อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์ และคณะ เป็นประธานการประชุม การปฏิบัติภารกิจบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 พื้นที่ภาคเหนือ ปี 2568 โดยมีนายราเชน ศิลปะรายะ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นายศิวกร บัวป้อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้บริหารจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม เพื่อติดตามสถานการณ์และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และดูงานการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมทั้งมอบนโยบายการดำเนินงานการปฏิบัติภารกิจบรรเทาปัญหาด้วยการบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ
รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง สร้างความเดือดร้อนทั้งชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชน โดยในช่วงเดือนมี.ค. และเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งเป็นฤดูกาลของการเกิดไฟป่าและมีการเผาไหม้รายวัน กินพื้นที่กว้าง เป็นปัญหาที่เกิดซ้ำ ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเกิดปัญหาไฟป่าลุกไหม้ตามธรรมชาติ เพราะสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง และยังมีการเผาเพื่อเริ่มต้นทำการเกษตรครั้งใหม่ รวมทั้งการเผาป่า
“สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ และจำเป็นต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ซึ่งการแก้ไขจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่เพื่อยับยั้งและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ได้
อยากขอวิงวอน ช่วงนี้ใกล้จะสงกรานต์แล้ว อยากให้พวกเราช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว รัฐบาลชุดนี้และกรมฝนหลวงไม่ได้นิ่งนอนใจเราป้องกันฝุ่นPM 2.5 เต็มที่ และปีนี้เท่าที่ได้รับรายงานฝุ่นเบาบางกว่าปีที่แล้ว เพราะเราได้เริ่มทำตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2567 จึงอยากให้ช่วยสร้างความมั่นให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ จะได้มาเที่ยว” นายอิทธิ กล่าว
รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวอีกว่า ในวันนี้ กรมฝนหลวงฯ ริเริ่มแนวทางใหม่ในการแก้ไขปัญหา ด้วยการนำน้ำแข็งแห้งมาโปรยลงในพื้นที่ที่มีปัญหาฝุ่นควัน แม้ว่าจะยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด แต่ก็สามารถช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งตนได้กำชับหน่วยงานต่างๆ ให้ช่วยกันระดมความคิด หาแนวทางรับมือกับปัญหา เพื่อให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ จึงได้กำชับให้เร่งหาวิธีแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว และเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่ยุติการเผาตอซัง หรือวัชพืชเพื่อจะได้ช่วยลดปัญหาฝุ่น เชื่อว่าปัญหาจะบรรเทาลงได้ ในส่วนของงบกลาง จำนวน 200 ล้านบาท ที่รัฐบาลอนุมัติ เมื่อวันที่ 3มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อตั้งโรงผลิตน้ำแข็งแห้ง 4 จุด ใช้เวลาในการก่อสร้าง 4 เดือน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประชาชนว่า ในปีหน้าจะมีเครื่องหมายเครื่องมือ ในการสู้กับฝุ่นPM 2.5 แต่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมดกรมฝนหลวงฯ ยึดตำราศาสตร์พระราชา เอามาใช้เป็นต้นแบบสู้กับฝุ่นPM2.5 ในทุกวันนี้
สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ รมช.เกษตรฯ พร้อมคณะ ได้ติดตามดูการดำเนินงานบรรเทาปัญหาด้วยการโปรยน้ำแข็งแห้ง ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ริเริ่มโดยกรมฝนหลวงฯ น้ำแข็งแห้งที่โปรยลงไปจะถูกพ่นเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อช่วยปรับลดอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศอุณหภูมิผกผันให้ต่ำลงและเกิดช่องว่าง ทำให้ฝุ่น PM2.5 สามารถลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว วิธีการนี้จะช่วยลดความเข้มข้นของฝุ่นใกล้พื้นดินอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี