พญ.ณัฐิดา พงศ์วิไลรัตน์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคไต โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก กล่าวถึงการล้างไตทางหน้าท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) ซึ่งเป็นหนึ่งสิทธิประโยชน์การดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ บัตรทอง 30 บาท ว่า การใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติ ประโยชน์หลักๆ คือช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากเดิมที่ผู้ป่วยล้างไตทางหน้าท้อง (CAPD) ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำยาล้างไต 4 ครั้งต่อวัน แต่การใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัตินี้ ทำให้การเปลี่ยนถ่ายน้ำล้างไตเหลือเพียง 1 ครั้งต่อวันเท่านั้น
ทั้งยังเป็นการล้างไตขณะนอนหลับในช่วงเวลากลางคืน ทำให้เมื่อตื่นเช้ามาและช่วงเวลากลางวันผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตและทำกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติเหมือนคนอื่นทั่วไป นอกจากนี้ข้อดีอีกประการหนึ่งคือ การล้างไตด้วยเครื่องอัตโนมัติเพียง 1 ครั้งต่อวัน ยังช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากการเปลี่ยนถ่ายน้ำยาล้างไตได้ หากเปรียบเทียบกับการล้างไต CAPD.
รวมถึงการควบคุมเรื่องน้ำและของเสียต่างๆในร่างกายที่ทำได้ดีกว่าวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนถ่ายน้ำยาล้างไตทุกวัน ส่งผลให้ปริมาณของเสียในร่างกายคงที่ ขณะการฟอกเลือดปริมาณของเสียในร่างกายจะมีปริมาณขึ้นๆ ลงๆ ทำให้ผู้ป่วยบางวันมีภาวะตัวบวมขึ้นได้ ทั้งนี้ ในฐานะกุมารแพทย์โรคไตซึ่งดูแลรับผิดชอบผู้ป่วยเด็กโรคไตทั้งใน จ.พิษณุโลก และจังหวัดอื่นๆ ในเขตสุขภาพที่ 2 ทำให้เห็นผลกระทบต่อเด็กที่มีภาวะไตวายเรื้อรังซึ่งต้องขาดเรียน
ซึ่งจะส่งผลต่อเด็กในระยะยาวได้ ทั้งเรียนไม่ทันทำให้สอบไม่ได้ และทำให้ขาดโอกาสเหมือนเพื่อนๆ แต่วันนี้เมื่อมีสิทธิประโยชน์ล้างไตด้วยเครื่องอัตโนมัตินี้ ทำเด็กกลุ่มนี้สามารถกลับไปเรียนหนังสือและได้ใช้ชีวิตในช่วงกลางวันเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ ได้ เป็นสิ่งที่ดีมากๆ ทำให้เด็กมีความสุขมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ทั้งปัจจุบันเครื่องมีเมนูภาษาไทย ทำให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น ดังนั้นในกรณีเด็กในวัยเรียนหากมีภาวะที่ต้องรับการบำบัดทดแทนไต อยากแนะนำให้ใช้วิธีล้างไตทางหน้าท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัตินี้
“ขอบคุณ สปสช. ที่มีสิทธิประโยชน์ที่ดีๆ นี้ ดีกับคนไข้โรคไตดีกับคุณหมอโรคไต และดีกับทุกๆ คน ตั้งแต่ยุคนโยบายล้างไตช่องท้องทางเลือกแรก (PD Frist) จนถึงปัจจุบันที่มีสิทธิประโยชน์เครื่องล้างไตอัตโนมัติ ทำให้คนไข้ โดยเฉพาะเด็กในวัยเรียนสามารถไปเรียน หรือใช้ชีวิตในช่วงกลางวันได้แทบเหมือนคนปกติทั่วไป และอยากแนะนำให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังพิจารณาการล้างไตด้วยวิธีนี้ดู” พญ.ณัฐิดา กล่าว
ด้าน นางวรรณวิไล อนุรักษ์วัฒนะ พยาบาลหน่วยไตเทียม โรงพยาบาลพุทธชินราช กล่าวว่า ที่โรงพยาบาลมีคนไข้เด็กจำนวนมากที่ต้องล้างไต การใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติเป็นทางเลือกที่ดี เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงพยาบาลสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เพื่อฟอกไต จึงอยากให้ผู้ป่วยที่จะเลือกวิธีฟอกเลือดให้ลองดูวิธีล้างไตทางหน้าท้อง หรือใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัตินี้ดูเพราะหากทำตามขั้นตอนไม่ต้องกังวลเรื่องการติดเชื้อ ทั้งยังสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องการเดินทาง สามารถมีสุขภาพที่แข็งแรงได้เหมือนผู้ป่วยที่ใช้วิธีการฟอกเลือด
“สำหรับเครื่องล้างไตอัตโนมัติมองว่าได้ สร้างความสะดวกให้กับผู้ป่วยไม่ต้องกลับบ้านหรือหาสถานที่เปลี่ยนน้ำยาล้างไตในช่วงกลางวันอย่างแต่เดิมอีกอย่างไรก็ดีก่อนผู้ป่วยจะออกจากโรงพยาบาล พยาบาลจะให้คำแนะนำในเรื่องอาหารที่คนไข้ทานได้และทานไม่ได้ พร้อมแนะนำวิธีการใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติ ซึ่งผู้ป่วยสามารถโทรติดต่อพยาบาลได้หากมีปัญหาการใช้งาน และบางครั้งพยาบาลเองก็จะโทรติดตามอาการผู้ป่วยอยู่ตลอดเช่นกัน ดังนั้นผู้ป่วยจึงไม่ต้องกังวล” นางวรรณวิไล กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี