ระดมเจ้าหน้าที่-เครื่องตรวจจับสัญญาณชีพ
ลุยค้นหาผู้รอดชีวิต
ยังสูญหายอีกร่วม80ชีวิต
เกิดอาฟเตอร์ช็อก157ครั้ง
ส่งวิศวกร2พันคนเช็คตึก
ปภ.สรุป18จว.เสียหาย
ปภ.สรุปความเสียหายเหตุแผ่นดินไหวเขย่าไทยความแรงระดับ 8.2 พบ 18 จว. รวมกทม.ได้รับผลกระทบ โดยกทม.หนักที่สุด ขณะที่ภาคเหนือ “เชียงใหม่-เชียงราย” อ่วมนับสิบอำเภอ เดินหน้าสำรวจความเสียหาย เพื่อเยียวยา
ขณะที่การช่วยเหลือผู้ติดอยู่ในซากตึกสตง.ถล่มทั้งหลัง ยังเดินหน้าต่อไปอย่างเร่งด่วน โดย “ภูมิธรรม”ย้ำเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการที่สุดขณะนี้ ส่งจนท.-เครื่องตรวจจับสัญญาณชีพเข้าพื้นที่ ค้นหาผู้สูญหายอีกหลายสิบชีวิต ด้านนิติเวชรพ.ตำรวจ ตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล ประสานญาติเก็บ DNA เพื่อความรวดเร็วในการพิสูจน์ตัวบุคคล ช่วงบ่ายวันเดียวกัน กู้ภัยพบเพิ่มอีก3ศพ
เมื่อวันที่ 30มีนาคม2568 นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ในฐานะเลขานุการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ(บกปภ.ช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28มีนาคมที่ผ่านมา ขณะนี้สถานการณ์อยู่ในการควบคุมและเป็นขั้นตอนของการจัดการพื้นที่ และแนวโน้มของการเกิดอาฟเตอร์ช็อค ได้ลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง
18จว.-กทม.เสียหายจากดินไหว
ล่าสุดได้รับรายงานความเสียหาย 18 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรีสมุทรปราการ สมุทรสาคร ชัยนาท และกรุงเทพมหานคร รวม 85 อำเภอ 173 ตำบล 144 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 420 หลัง วัด 48 แห่ง โรงพยาบาล 76 แห่ง อาคาร 8 แห่ง โรงเรียน 23 แห่ง และสถานที่ราชการ 18 แห่ง โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีผู้เสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บ 9 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บใน กทม. 8 ราย นนทบุรี 1 ราย
เหนือ“เชียงใหม่-เชียงราย”อ่วม
ขณะที่ 1.จ.เชียงใหม่ พื้นที่ได้รับความเสียหาย 20 อำเภอ 49 ตำบล 33 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.ดอยเต่า อ.พร้าว อ.หางดง อ.แม่แจ่ม อ.สันกำแพง อ.สะเมิง อ.กัลยาณิวัฒนา อ.ฮอด อ.แม่อาย อ.เชียงดาว อ.สันป่าตอง อ.แม่ริม อ.จอมทอง อ.แม่วาง อ.สันทราย อ.แม่แตง อ.อมก๋อย อ.แม่ออน และ อ.สารภี บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 225 หลัง อาคารสูง 6 แห่ง วัด เจดีย์ 31 แห่ง โรงเรียน 11 แห่ง โรงพยาบาล 15 แห่ง 2.จ.เชียงราย พื้นที่ได้รับความเสียหาย 13 อำเภอ 12 ตำบล 11 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.เชียงของ อ.ป่าแดด อ.เมืองฯ อ.เวียงป่าเป้า อ.เทิง อ.แม่จัน อ.เชียงแสน อ.แม่สาย อ.ขุนตาล อ.แม่ลาว อ.ดอยหลวง อ.แม่สรวย และ อ.พาน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 57 หลัง วัด 2 แห่ง โรงพยาบาล 9 แห่ง
3.จ.พะเยา พื้นที่ได้รับความเสียหาย 7 อำเภอ 8 ตำบล ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.ภูซาง อ.เชียงม่วน อ.ดอกคำใต้ อ.เชียงคำ อ.แม่ใจ และ อ.ปง บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 40 หลัง โรงเรียน 1 แห่ง โรงพยาบาล 6 แห่ง รพ.สต.6 แห่ง สถานที่ราชการ 4 แห่ง 4.จ.ลำพูน พื้นที่ได้รับความเสียหาย 6 อำเภอ 13ตำบล 25 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.ป่าซาง อ.ลี้ อ.เมืองฯ อ.บ้านโฮ่ง อ.เวียงหนองล่อง และ อ.แม่ทา บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 33 หลัง วัด 3 แห่ง โรงพยาบาล 4 แห่ง สถานที่ราชการ 2 แห่ง5.จ.ลำปาง พื้นที่ได้รับความเสียหาย 9 อำเภอ 19 ตำบล 16 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.สบปราบ อ.เกาะคา อ.แม่ทะ อ.แม่พริก อ.งาว อ.ห้างฉัตร อ.วังเหนือ และ อ.เถิน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 28 หลัง วัด 4 แห่ง โรงเรียน 1 แห่ง โรงพยาบาล 3 แห่ง สถานที่ราชการ 3 แห่ง
6.จ.แม่ฮ่องสอน พื้นที่ได้รับความเสียหาย 4 อำเภอ 5 ตำบล ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.ปาย อ.สบเมย และ อ.ขุนยวม วัด 1 แห่ง สถานที่ราชการ 1 แห่ง โรงพยาบาล 3 แห่ง 7.จ.แพร่ พื้นที่ได้รับความเสียหาย 4 อำเภอ 12 ตำบล 24 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.สอง อ.หนองม่วงไข่ และ อ.สูงเม่น บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 20 หลัง โรงเรียน 2 แห่ง โรงพยาบาล 1 แห่ง สถานที่ราชการ 8 แห่ง8.จ.น่าน พื้นที่ได้รับความเสียหาย 2 อำเภอ 2 ตำบล ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.ภูเพียง วัด 2 แห่ง โรงพยาบาล 1 แห่ง 9.จ.เพชรบูรณ์ พื้นที่ได้รับความเสียหาย 6 อำเภอ 19 ตำบล 18 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.วิเชียรบุรี อ.หล่มสัก อ.น้ำหนาว อ.เขาค้อ และ อ.บึงสามพัน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 2 หลัง โรงพยาบาล 18 แห่ง โรงเรียน 1 แห่ง สถานที่ราชการ1แห่ง
10.จ.พิษณุโลก พื้นที่ได้รับความเสียหาย 2 อำเภอ 4 ตำบล ได้แก่ อ.นครไทย อ.บางกระทุ่ม โรงพยาบาล 4แห่ง 11.จ.สุโขทัย อ.ศรีสำโรง อาคารโรงยาสูบ เสียหาย 1 หลัง 12.จ.อ่างทอง อ.วิเศษชัยชาญ โรงเรียน4แห่ง ได้รับความเสียหาย 13.จ.พระนครศรีอยุธยา พื้นที่ได้รับความเสียหาย 2 อำเภอ 2 ตำบล อ.ลาดบัวหลวง อ.พระนครศรีอยุธยา วัด 2แห่ง โรงพยาบาล1แห่ง 14.จ.ปทุมธานี พื้นที่ได้รับความเสียหาย 1 อ. 1 ต. อ.คลองหลวง เบื้องต้นพบรอยร้าวอาคาร 3 หลัง ได้แก่ อาคารโรงอาหารเป็นชั้นเดียว อาคารสำนักงาน 2 ชั้น และอาคารเรียน 3 ชั้น
15.จ.นนทบุรี พื้นที่ได้รับความเสียหาย 3 อำเภอ 5 ตำบล อ.เมืองฯ อ.ปากเกร็ด อ.บางกรวย โรงพยาบาล 4 แห่ง ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์งามวงศ์วาน 1 แห่ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1ราย 16.จ.สมุทรปราการ อ.พระประแดง วัด1แห่ง ได้รับความเสียหาย 17.จ.สมุทรสาคร อ.เมืองฯ โรงพยาบาล 1 แห่ง ได้รับความเสียหาย 18.จ.ชัยนาท อ.เมืองฯ วัด 1แห่งได้รับความเสียหาย
กทม.เจอผลกระทบมากที่สุด
อธิบดี ปภ.กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือ ในทุกพื้นที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรสาธารณะกุศล ภาคเอกชน และจิตอาสา และพลเรือนเข้าให้การช่วยเหลือและสำรวจความเสียหายเพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าให้การช่วยเหลือผู้ติดค้างภายใต้ซากอาคาร โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ระดมทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง (USAR) รวม 48 นาย พร้อมด้วยเครื่องมือ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัย กว่า 14 รายการ จากศูนย์ป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยเขต 1 ปทุมธานี เขต 2 สุพรรณบุรี เขต 3 ปราจีนบุรี และเขต 16 ชัยนาท เข้าร่วมปฏิบัติการสนับสนุนการค้นหาผู้ประสบภัย
3จว.ประกาศเขตประสบสาธารณภัย
ขณะเดียวกันได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรณีแผ่นดินไหว) แล้ว 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดแพร่ รวมทั้งกรุงเทพมหานครที่มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติเต็มพื้นที่ โดยขณะนี้กรมบัญชีกลางได้อนุมัติให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขยายวงเงินทดรองราชการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรณีแผ่นดินไหว) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ 76 จังหวัด ซึ่งเป็นวงเงินในอำนาจอธิบดี จำนวน 200 ล้านบาท สำหรับใช้จ่ายด้านการดำรงชีพและด้านการปฏิบัติงานฯ
“ปภ.ยังสั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 1 -18 เตรียมเครื่องมืออุปกรณ์เครื่องจักรกลสาธารณภัยและตรวจสอบความพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยทั้ง 355 รายการ ซึ่งพร้อมสนับสนุนจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบและให้เคลื่อนย้ายกำลังทันทีที่ได้รับการประสาน และให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเร่งสำรวจความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่เพื่อที่จะให้การช่วยเหลือเป็นไปตามสิทธิที่จะได้รับอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง” อธิบดี ปภ. กล่าว
วิศวกรอาสา2พันคนลุยตรวจตึกทั่วกรุง
ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหตุแผ่นดินไหวในประเทศไทย และผู้ประสบภัยจากอาคารสำนักงาน สตง.ถล่มว่า นายกรัฐมนตรีได้ติดตามและมอบภารกิจทั้งหมดซึ่งดำเนินการแล้ว ไม่น่ามีปัญหาใดมาก สิ่งสำคัญคืออยากให้ประชาชนมั่นใจ เวลานี้จากการตรวจสอบแล้วคิดว่าปลอดภัย ยกเว้นบางสถานที่และบางจุดได้กำชับเป็นสัดส่วนไป เช่น คอนโดฯ บางแห่งมีรอยร้าว และตรวจพบว่ายังไม่มั่นคงก็จะไม่ให้เข้าพื้นที่ ส่วนเรื่องขนส่งมวลชนตรวจสอบแล้ว แต่รถไฟฟ้าอีก 2 สายอยู่ระหว่างตรวจสอบ คาดวันนี้หรือพรุ่งนี้จะครบถ้วนและเปิดให้บริการได้ แต่อย่างอื่นไม่มีปัญหาแล้ว ขณะที่พื้นที่สีลมที่มีทั้งโรงพยาบาลจุฬาฯและตึกสูงสำนักงานต่างๆรวมถึงโรงแรม ตึกสูงที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างก็ไม่ได้รับผลกระทบ แต่สั่งให้นำเครนก่อสร้างลงมาก่อน คิดว่าจะแก้ปัญหาต่างๆได้ ซึ่งตลอดทั้งวันนี้วิศวกรอาสาประมาณ 2,000 คน จะเข้าตรวจสอบแต่ละพื้นที่อีกครั้ง
ส่งเครื่องตรวจสัญญาณชีพช่วยค้นหา
นายภูมิธรรมกล่าวต่อว่า ดังนั้น ในประเทศภารกิจหลักอยู่ที่การช่วยเหลือชีวิตผู้ที่อยู่ในพื้นที่ตึกถล่ม เพราะตามปกติจะสามารถดำเนินชีวิตได้ 72 ชั่วโมง ดังนั้น จึงต้องเร่งมือ เมื่อคืนนี้ได้ส่งหน่วยตรวจสัญญาณชีพโดยใช้เครื่องมือที่ทะลุปูนเข้าพื้นที่แล้ว จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างเต็มที่ จากนั้นจะยกแผ่นปูนขนาดใหญ่เพื่อทำให้อุโมงค์โล่ง มีอากาศหายใจเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้เร็วที่สุด ย้ำว่าเรื่องนี้สำคัญ ส่วนเรื่องอื่นไม่มีปัญหาอะไรแล้ว ทุกอย่างมีการสนับสนุนอย่างเต็มที่ กองทัพมีทุกส่วนคอยสนับสนุน และเปลี่ยนผลัดกำลังพลเข้าไป รวมถึงเตรียมกำลังพลเสริม นอกจากนี้ทั่วประเทศสั่งกองทัพทุกจุดพร้อมสนับสนุนในทุกพื้นที่และดูแลได้ทันที
ผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนนานาชาตินอกเหนือจากอิสราเอลที่ให้ความช่วยเหลือไทย ยังมีประเทศอื่นอีกหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า เบื้องต้นได้ประสานงานขั้นต้น แต่ตอนนี้ไทยดำเนินการเต็มที่ แต่ส่วนหนึ่งก็ได้แบ่งไปที่เมียนมา เนื่องจากประสบภัยอย่างหนัก พร้อมย้ำว่ามีเที่ยวบินรองรับคนไทยจากเมียนมาที่จะเดินทางกลับตลอดเวลา หากคนไทยต้องการกลับ นอกจากนี้ ไทยยังได้ลำเลียงยุทโธปกรณ์ เครื่องช่วยเหลือต่างๆ กำลังพลไปเพิ่มเติมได้ ถ้ามีการร้องขอ ซึ่งภารกิจครั้งนี้ได้สั่งกำชับเป็นพิเศษแล้วว่าต้องช่วยคนไทยให้กลับประเทศได้ เป็นภารกิจหลักและกำชับกำลังพลไปแล้ว
ศธ..ติดตาม2นศ.ฝึกงานติดในซากตึก
พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แสดงความห่วงใยต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ทำให้อาคาร สตง.ถล่ม โดยมีนักศึกษาฝึกงานจากวิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ด 2 ราย คือ นายศักดิ์ชัย และนายวรวุฒิ นักศึกษา ระดับชั้น ปวช.2/4 แผนกวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง สูญหายภายในอาคารพร้อมทีมช่างไฟฟ้าอีก 4 คน ยังมีความหวังในการช่วยชีวิตผู้ประสบเหตุ เนื่องจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยตรวจพบสัญญาณชีพจรจากบริเวณที่คาดว่าผู้สูญหายติดอยู่
นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ สอศ. กล่าวว่า ทีมกู้ภัยยังคงเร่งค้นหาผู้ประสบเหตุอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องทำงานอย่างระมัดระวังเนื่องจากโครงสร้างอาคารยังเสี่ยงต่อการถล่มซ้ำ นักศึกษาทั้งสองกำลังฝึกงานกับห้างหุ้นส่วนจำกัด สมใจ เจ้บุ๋ม การไฟฟ้า มีกำหนดฝึกงาน 1 ภาคเรียน (มีนาคม-กันยายน 2568) โดยดำเนินการตามขั้นตอนครบถ้วน ทั้งใบคำร้อง หนังสือยินยอมจากผู้ปกครอง และหนังสือตอบรับจากสถานประกอบการ โดยนักศึกษาได้ติดต่อฝึกงานผ่านญาติที่ทำงานในสถานประกอบการดังกล่าว ในการนี้วิทยาลัยได้ทำประกันอุบัติเหตุหมู่ให้กับนักศึกษาทุกคน ครอบคลุมการเสียชีวิตทุกกรณี วงเงิน 100,000 บาท โดย สอศ.พร้อมให้การสนับสนุนทุกด้านเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วที่สุด
ดีอีถกปภ.-กสทช.แก้ปมส่งSMSเตือนช้า
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยผลประชุมหารือร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม (โอเปอเรเตอร์) เพื่อสรุปแนวทางแก้ไขความผิดพลาดเรื่องระบบการแจ้งเตือนภัยว่า ที่ประชุมหารือกระบวนการส่งข้อมูลการแจ้งเตือนสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย SMS ตามที่นายกฯสั่งให้ปภ. และ กสทช.ส่งข้อความ SMS แจ้งเตือนภัยถึงประชาชนให้เร็วขึ้น ทันเวลาและทั่วถึง ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องจากประชาชน สรุปขั้นตอนได้ดังนี้
1.เมื่อ ปภ.ได้รับการแจ้งเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยา ปภ.โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จะวิเคราะห์ข้อมูล พิจารณาแล้วแจ้งข้อความเตือน และ broadcast ไปให้กสทช.ทันที จากนั้น 2. กสทช. แจ้งดำเนินการไปยัง โอเปอเรเตอร์ เพื่อส่ง SMS ไปยังประชาชนในพื้นที่ประสบภัยและ3.ปภ.เตรียมแผนปฏิบัติการสื่อสาร/แผนสำรองในการแจ้งเตือนภัย ให้แจ้งสถานการณ์เบื้องต้น การปฏิบัติตนของประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติ และแจ้งสรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อสถานการณ์ได้สิ้นสุดลง
“นอกจากนี้ กสทช.และหน่วยที่เกี่ยวข้องจะวางแผนการเพิ่มผังรายการให้ประชาชนได้รับข่าวสารอย่างรวดเร็ว พร้อมเร่งรัดดำเนินการเรื่องระบบแจ้งเตือนภัย (cell broadcast )ส่งข้อความ SMS แจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ครอบคลุมโทรศัพท์มือถือของประชาชนที่ประสบภัยธรรมชาติ เหตุฉุกเฉินในพื้นที่เป้าหมาย ประสานการทำงานกันอย่างใกล้ชิด พร้อมชประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อกระจายเสียงให้ทันท่วงที” นายประเสริฐ กล่าวย้ำ
สั่งเจ้าของอาคาร9ประเภทเช็คเสียหาย
ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงนามในหนังสือขอให้เจ้าของอาคาร หรือผู้ครอบครองอาคาร ประสานผู้ตรวจสอบอาคารเข้าตรวจสอบความเสียหาย เพื่อประเมินวิธีปรับปรุง แก้ไข ซ่อมแซม หรือเสริมกำลังของอาคาร เพื่อให้อาคารปลอดภัย มั่นคง แข็งแรง ต่อการใช้งานตามหลักวิศวกรรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป และขอให้รายงานผลต่อกรุงเทพมหานครทุกวัน ภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนสามารถกลับเข้าใช้อาคารได้อย่างปลอดภัย โดยให้เจ้าของอาคาร หรือผู้ครอบครองอาคารสามารถรายงานผลให้กรุงเทพมหานครทราบทุกวัน ผ่านระบบ Google form ตามลิงก์https://forms.gle/4dxiHsZCZZpbiGkQA หรือQR codeด้านล่าง
ทั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่เจ้าของอาคาร 9 ประเภท ที่เข้าข่ายต้องทำการตรวจสอบอาคารเป็นประจำทุกปี ได้แก่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมคน โรงมหรสพ โรงแรม สถานบริการ อาคารชุด อาคารอยู่อาศัยรวม โรงงาน ป้าย ซึ่งการให้รายงานในระยะเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อให้สามารถเฝ้าติดตามจุดเสี่ยง ร้อยร้าว ความเสียหายของอาคาร มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ยังใช้สอยได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ โดยในGoogle Form จะให้ระบุชื่อเจ้าของอาคาร ชื่อผู้ตรวจสอบอาคาร เลขที่ผู้ตรวจสอบอาคาร และความคิดเห็นผู้ตรวจสอบอาคาร ว่าอาคารปลอดภัย หรือต้องปรับปรุง เพื่อให้กรุงเทพมหานครได้ทราบภาพรวมของอาคารในกรุงเทพฯ ผ่านความร่วมมือของผู้ตรวจสอบ
1.อาคารสูง (ความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป)2. อาคารขนาดใหญ่พิเศษ (อาคารที่มีเนื้อที่อาคารรวมกันตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตร ขึ้นไป)3. อาคารชุมนุมคน ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตร ขึ้นไป หรือจำนวนคนตั้งแต่ 500คนขึ้นไป4. โรงมหรสพ 5.โรงแรม ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80ห้องขึ้นไป 6.สถานบริการ ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตร ขึ้นไป 7.อาคารชุด หรืออาคารอยู่อาศัยรวม (หอพัก อะพาร์ตเม้นต์) ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตร ขึ้นไป8.โรงงานที่สูงมากกว่า 1 ชั้น และมีพื้นที่ตั้งแต่ 5,000ตารางเมตร ขึ้นไป 9.ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ซึ่งสูงจากพื้นดินตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตร ขึ้นไป หรือป้ายที่ติดตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตร ขึ้นไป
พร้อมกันนี้ จึงขอให้ผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้แจ้งต้องตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยของปั้นจั่นหอสูงและเดอริกเครนในสถานที่ก่อสร้างก่อนการใช้งาน เพื่อป้องกันมิให้เกิดภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน
ตาย17-สูญหาย83ราย
รายงานสถานการณ์จากศูนย์เอราวัณ กรณี เหตุแผ่นดินไหว ข้อมูล ณ เวลา 06.00น.วันที่ 30มีนาคมพบว่า ขณะนี้พบผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว 32 ราย เสียชีวิต 17รายและสูญหาย 83ราย
เจออีก3ศพลำเลียงส่งนิติเวช
เวลา 13.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ติดในซากตึก 30 ชั้นของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่กำลังก่อสร้างในเขตจตุจักรเกิดพังถล่มลงมาว่า เจ้าหน้าที่กู้ภัยจากหลายหน่วยงาน หลายมูลนิธิ ตำรวจ ทหาร รวมถึงสถาบันการศึกษาที่นำหุ่นยนต์ และเครื่องจักรเข้ามาช่วยในภารกิจค้นหาผู้รอดชีวิต ยังระดมกำลังเร่งกู้ซากอาคารถล่ม เพื่อค้นหาผู้รอดชีวิตอย่างไรก็ตาม ตลอดทั้งวันนี้ มีฝนตกลงมาเป็นอุปสรรคต่อภารกิจการค้นหากู้ชีพและกู้ภัย เมื่อฝนหยุดตกเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายและทุกหน่วยงานต้องปฏิบัติงานแข่งกับเวลากระทั่งเวลา 13.00 น.เจ้าหน้าที่กู้ภัยพบร่างของผู้เสียชีวิต 3 คน และลำเลียงออกจากพื้นที่ เพื่อนำส่งไปยังสถาบันนิติเวชโรงพยาบาลตำรวจ
เปิดวอร์รูมพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล
สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ แจ้งประชาสัมพันธ์จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่ออาคารที่กำลังดำเนินการก่อสร้างพังถล่ม ทำให้เกิดความเสียหายและการสูญเสียค่อนข้างมาก เพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือญาติของผู้สูญหาย ท่านสามารถเข้ามาตรวจเก็บ DNA จากเยื่อบุกระพุ้งแก้มและติดต่อขอดูรูปภาพผู้สูญหายได้ที่สถาบันนิติเวชวิทยา สิ่งที่ต้องเตรียมมาด้วย บัตรประชาชน หรือเอกสารสำคัญทางราชการเพื่อแสดงตัวตน
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล กรณี อาคาร สตง. ถล่ม เนื่องจากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยศูนย์ฯ ตั้งอยู่ที่ อาคารสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 3 ถนนอังรีดูนังต์ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 –20.00 น.สอบถามข้อมูล 0 2207 6108 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี