โครงการก่อสร้างอาคาร รพ.ห้วยยอดตึก 5 ชั้น งบ 140 ล้าน สร้าง 3 ปี ยังไม่เสร็จ ทำได้แค่โครงสร้างชั้น 1 ล่าสุดผู้รับจ้างส่อแววทิ้งงาน กระทบระบบการแพทย์อย่างหนัก จากอาคารเดิมสามารถรองรับผู้ป่วยได้แค่วันละ 200 คน แต่ปัจจุบันกลับพุ่งสูงถึงวันละ 700 คน ต้องกางเต็นท์รองรับนอกตัวอาคารเดิม ซ้ำร้ายอาคารใหม่ส่อแววทิ้งงาน ด้าน รพ.จ่อบอกเลิกสัญญาหลังเข้าเกณฑ์เงื่อนไข ค่าปรับพุ่งสูง 26 ล้านบาทไปแล้ว
วันที่ 1 เมษายน 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ รพ.ห้วยยอด ต.เขาขาว อ.ห้วยยอด จ.ตรัง นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง มอบหมายให้ นายยุทธนา วิมลเมือง หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง พร้อมด้วยชมรมตรังต้านโกง ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอก-อุบัติเหตุ โดยแบ่งเป็นห้องตรวจผู้ป่วย 30 ห้อง เตียงผู้ป่วย ICU 7 เตียง ห้องผ่าตัด 4 ห้อง ห้องคลอดและอื่นๆ เพื่อหวังลดความแออัดของผู้ที่มาใช้บริการ โดยดำเนินการก่อสร้างเป็นอาคาร คสล. 5 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 9,318 ตรม. โดยมีบริษัทหนึ่งในพื้นที่ จ.ชลบุรี เป็นผู้รับจ้าง แต่ปรากฏว่าล่วงเลยระยะเวลาสัญญามาแล้ว กลับมีการส่งงานได้แค่ 3 งวด โดยมีค่าปรับวันละ 1.3 แสนบาท รวมค่าปรับขณะนี้เป็นประมาณ 26 ล้านบาท
แต่ปรากฏว่าการก่อสร้างยังคงดำเนินการก่อสร้างได้เนื้องานที่น้อยมาก ที่เห็นได้ชัดคือได้แค่เพียงโครงสร้างชั้นที่ 1 เท่านั้น ซึ่งไม่มีคนงานหรือเครื่องจักรหนักเข้ามาดำเนินการแล้ว ส่อแววว่าจะมีการทิ้งงานเกิดขึ้น โดยที่ทาง รพ.ได้มีการวางแผนหากมีการทิ้งงานก็จะบอกยกเลิกสัญญาในทันทีเพื่อหาผู้รับจ้างใหม่ เนื่องจากเข้าเงื่อนไขสัญญาในส่วนของค่าปรับเกิน 10 เปอร์เซ็นไปแล้ว โดยทาง รพ.ห้วยยอด ได้ดำเนินการมาตั้งเต็นท์โดมเพื่อรองรับผู้ป่วยด้านนอกอาคาร เนื่องจากอาคารที่มีอยู่เดิมไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้พอ และอาคารที่กำลังก่อสร้างใหม่ก็ไม่แล้วเสร็จ
นพ.ปิยวิทย์ เนกขพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลห้วยยอด เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้าง รพ.ห้วยยอด มีระยะสัญญาเริ่มต้นวันที่ 31 ธ.ค. 64 และมีกำหนดสิ้นสุดวันที่ 14 พ.ค. 67 รวม 800 วัน โดยปัจจุบันโครงการอยู่ในงวดที่ 4 จากทั้งหมด 16 งวด งบประมาณทั้งโครงการรวม 140 ล้านบาท ขณะนี้มีการเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้วประมาณ 20 ล้านบาท หากผู้รับเหมาปัจจุบันไม่สามารถส่งมอบงานงวดที่ 4 หรือไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาได้ จะมีการยกเลิกสัญญาและประกาศหาผู้รับเหมารายใหม่ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบ e-bidding
สำหรับปัญหาการให้บริการผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ อาคารที่ยังสร้างไม่เสร็จทำให้เกิดความแออัด เนื่องจากโรงพยาบาลมีผู้เข้ารับบริการเฉลี่ยวันละ 700 คน ปัจจุบันอาคารเดิมรองรับได้เพียง 200 คน ซึ่งอาจทำให้การบริการล่าช้า และหากไม่สามารถดำเนินการกับผู้รับเหมารายเดิมได้ จะมีการประกาศหาผู้รับเหมารายใหม่ภายในเดือนกันยายน 2568 หากเกิดการยกเลิกสัญญากับผู้รับเหมาในปัจจุบันจะเป็นความลำบากใจ แต่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนราชการ และการจัดซื้อจัดจ้างต้องใช้วิธี e-bidding ซึ่งบางครั้งทำให้ไม่สามารถเลือกผู้รับเหมาที่มีศักยภาพสูงสุดได้ เพราะต้องพิจารณาจากราคาที่ต่ำที่สุด อย่างไรก็ตามหากสามารถปรับปรุงระเบียบให้เลือกผู้รับเหมาที่มีศักยภาพได้ ก็จะเป็นประโยชน์มากกว่า
ขอโทษประชาชนใน จ.ตรัง และอำเภอห้วยยอด ที่ได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในการก่อสร้างโรงพยาบาล และยืนยันว่าโรงพยาบาลดำเนินการตามขั้นตอนและระเบียบที่กำหนด มองว่าหากสามารถปรับเปลี่ยนระเบียบเพื่อให้เลือกผู้รับเหมาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะทำให้โครงการต่าง ๆ เสร็จสมบูรณ์ได้เร็วขึ้นและดีขึ้น
ทางด้าน นายยุทธนา วิมลเมือง หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ ป.ป.ช. จ.ตรัง กำลังดำเนินการสรุปข้อมูลเพิ่มเติมจากโครงการของภาครัฐกว่า 20 โครงการในจังหวัดตรัง ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท ที่ถูกทิ้งร้างและไม่เสร็จสิ้น โดยหนึ่งในโครงการที่กำลังได้รับความสนใจคือ การก่อสร้าง รพ.ห้วยยอด ซึ่งทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ ได้รายงานว่า กำลังมีการสร้างห้องไอซียู ตึกคลอด และตึก OPD โดยมีงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท แต่เกิดปัญหาการทิ้งงานจากคู่สัญญาหรือบริษัทผู้รับเหมา
นายยุทธนา กล่าวต่อว่า ป.ป.ช. กำลังเสนอให้มีมาตรการที่เข้มงวดขึ้น โดยหากมีการทิ้งงานจากคู่สัญญาในโครงการที่ดำเนินการภายใต้สัญญาทางปกครอง ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างโรงพยาบาลหรือโรงเรียน หากมีเจตนาหรือการละเลยในการทำงานนั้น จะต้องมีมาตรการทางกฎหมายที่เพิ่มขึ้น ทั้งในทางอาญาและทางแพ่ง เพื่อลงโทษคู่สัญญาให้ได้รับการชดเชยและลงโทษที่เหมาะสม นอกเหนือจากการปรับหรือยึดหลักประกันสัญญา
นอกจากนี้ นายยุทธนายังกล่าวถึงความสำคัญในการผลักดันระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ โดยเน้นให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาคุณภาพและความพร้อมของบริษัทผู้รับเหมาก่อนราคาต่ำสุด เพื่อหลีกเลี่ยงการดั้มราคาที่สูงเกินไป ซึ่งจะทำให้คู่สัญญามีต้นทุนสูงขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงในการทิ้งงาน จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณางานจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถทำงานได้อย่างมั่นใจและมีความคุ้มครองที่เหมาะสม
ขณะที่ นายชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ ประธานชมรมตรังต้านโกง กล่าวว่า จากการที่ทางชมรมตรังต้านโกง ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. จ.ตรัง ได้ติดตามปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงการทิ้งงานและทิ้งร้างในพื้นที่ จ.ตรัง ซึ่งพบว่ามีโครงการจำนวนมากที่ไม่สามารถดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ ทำให้เกิดการใช้จ่ายงบประมาณจากภาษีอากรของประชาชนไปโดยเปล่าประโยชน์ ค่อนข้างมาก ทั้งนี้ เราได้เริ่มเข้ามาติดตามโครงการอีกหนึ่งโครงการ ที่ส่อแววว่าจะมีปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงานอย่างแน่นอน นั่นคือโครงการก่อสร้าง รพ.ห้วยยอด ซึ่งใช้งบประมาณถึง 140,000,000 บาท และตอนนี้หมดระยะเวลาสัญญาก่อสร้างแล้ว โดยเข้าสู่ระยะเวลาการปรับเงินจากการไม่เสร็จสิ้นงาน ซึ่งคาดว่าผู้รับเหมาอาจจะหยุดการก่อสร้างและทิ้งงานไป
ปัญหานี้เป็นปัญหายืดเยื้อที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.ตรัง จำนวนมาก และอาจพบในจังหวัดอื่นๆ บ้าง แต่ จ.ตรังมีจำนวนโครงการที่ประสบปัญหานี้ค่อนข้างเยอะ เมื่อเราติดตามข้อมูลกับทาง รพ.ห้วยยอด พบว่าผู้ที่ประมูลงานมาจากต่างภูมิภาค ผ่านระบบ e-bidding ของราชการ หลังจากนั้นได้จ้างเหมาช่วงให้คนในพื้นที่เข้ามาทำงาน ซึ่งการตัดวงเงินงบประมาณในขั้นตอนนี้ ทำให้ผู้รับเหมาหรือแรงงานที่ทำงานจริงไม่สามารถทำกำไรได้ ส่งผลให้พวกเขาทิ้งงานตามมา และนี่เป็นปัญหาที่รัฐต้องหาทางแก้ไข
ถ้าการตัดวงเงินยังคงดำเนินต่อไป จะทำให้ผู้ที่ทำงานจริงไม่สามารถทำกำไรได้และเกิดปัญหาการทิ้งงานอย่างที่เห็นอยู่ในขณะนี้ ทางชมรมฯ และภาคประชาชนจึงอยากเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหานี้ เพื่อให้ปัญหาการทิ้งงานหมดไป และให้โครงการก่อสร้างสามารถดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ตามแผน
ในกรณีของ รพ.ห้วยยอด ซึ่งมีกำหนดระยะเวลา 800 วัน แต่ถึงวันนี้ผ่านไปเกือบ 3 ปีแล้วและยังไม่เสร็จสมบูรณ์ อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนที่รอใช้บริการโรงพยาบาล ผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาอาจจะมีอาการหนักขึ้น หรืออาจเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที นอกจากนี้ รพ.ห้วยยอดยังต้องใช้เต็นท์ชั่วคราวในการให้บริการ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยต้องทนกับอากาศที่ร้อนอบอ้าว ทำให้สุขภาพของพวกเขาย่ำแย่ลง และทางโรงพยาบาลก็ขาดแคลนบุคลากรแพทย์และพยาบาล ทำให้พวกเขาทำงานหนักขึ้น เหนื่อยขึ้น นี่คือปัญหาหนึ่งที่เราพบ
ทางเราจึงขอเรียกร้องให้ภาครัฐดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน เพื่อให้โครงการสามารถเสร็จสมบูรณ์และประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่ดีที่สุด นี่คือประเด็นที่เราต้องการให้รัฐบาลพิจารณาและหาทางแก้ไข เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนในพื้นที่จังหวัดตรังและทั่วประเทศ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี