นักวิชาการธรรมศาสตร์ แนะรัฐบาลเร่งจัดตั้งผู้จัดการภัยพิบัติ ทำหน้าที่สื่อสารสังคม-ประชาชน สร้างความชัดเจนข้อมูลแผ่นดินไหว ป้องกันประชาชนตระหนก เสนอผนึก Google ใช้แอนดรอยด์ กว่า 2,000 ล้านเครื่อง ทำหน้าที่เป็น sensor ตรวจจับแรงสั่นสะเทือนขนาดเล็ก
รศ.ดร.อัจฉรา ชลายนนาวิน คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ในสถานการณ์วิกฤตและภัยพิบัติมักจะพบการเผยแพร่และส่งต่อข้อมูลที่ขาดความน่าเชื่อถือจนทำให้เกิดความตื่นตระหนัก รวมถึงพบการสื่อสารที่กระจัดกระจายของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งจะให้ข้อมูลหรือข่าวสารตามภารกิจส่วนงานของตัวเองเท่านั้น ทั้งหมดสะท้อนถึงการขาดเอกภาพในการบริหารจัดการข้อมูล ทั้งที่องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการจัดการภัยพิบัติคือการสื่อสาร ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง ไม่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก และไม่ทำให้เกิดการไหลบ่าของข้อมูลข่าวสารอย่างไร้ทิศทาง
รศ.ดร.อัจฉรา กล่าวว่า ในสถานการณ์หรือภาวะวิกฤต ภาครัฐควรมีการกำหนดหรือจัดตั้ง “ผู้จัดการภัยพิบัติ” ทำหน้าที่สื่อสารกับสังคมและประชาชน ใช้วิธีการสื่อสารระบบทางเดียว (One-way Communication) เพื่อป้องกันความสับสน โดยผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการภัยพิบัตินั้นอาจจะแปรผันไปตามความรุนแรงของเหตุการณ์หรือผลกระทบ หากอยู่ในระดับจังหวัดก็ควรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น หากผลกระทบกว้างขวางในระดับประเทศก็ควรเป็นนายกรัฐมนตรีเป็น ส่วนในสถานการณ์ฟื้นฟูเยียวยารวมถึงช่วงเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติ ควรใช้วิธีการสื่อสารระบบสองทาง (Two-way Communication) แทน
สำหรับวิธีการป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่กระจัดกระจายผ่านทางออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย รัฐซึ่งเป็นผู้จัดการภัยพิบัติควรเชิญสื่อมวลชนประชุมทำความเข้าใจว่าให้เผยแพร่ข่าวอย่างเป็นทางการผ่านช่องทางของผู้จัดการภัยพิบัติเท่านั้น เช่น กรณีผู้ว่าฯ หมูป่า ท่านบอกกับสื่อเลยว่าห้ามไปฟังข่าวจากที่ไหน ต้องฟังข้อมูลจากศูนย์บัญชาการเหตุการณ์เท่านั้น ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
นอกจากนี้ รัฐต้องทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ รวมถึงอาสาสมัครต่างๆ ด้วย เพราะบ่อยครั้งเราจะเห็นว่าคลิปวิดีโอเหตุการณ์ต่างๆ มักได้รับการถ่ายทอดจากเจ้าหน้าที่ หรืออาสาสมัครจนอาจทำให้คนเกิดความเข้าใจผิด และมีผู้ไม่หวังดีอาจนำรูปหรือคลิปไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องจนก่อให้เกิดการตื่นตระหนกในท้ายที่สุด
“เมื่อรัฐจัดตั้งช่องทางการสื่อสารผ่านผู้จัดการภัยพิบัติอย่างชัดเจนแล้ว ก็ควรจะมีการเพิ่มความถี่ในการสื่อสารให้มากขึ้น เพื่อป้องกันและต่อสู่กับเฟคนิวส์ที่แพร่กระจายอยู่ในโซเชียลมีเดียอย่างไม่ขาดสาย เพราะสถานการณ์ในรอบหนึ่งวันอาจเกิดเหตุการณ์ได้ต่างๆ มากมาย การรวบรวมสถานการณ์ตลอดทั้งวัน แล้วเผยแพร่เพียงครั้งเดียว อาจไม่เพียงพอที่จะสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชน ที่ติดตามข่าวสารอยู่ตลอดเวลา” รศ.ดร.อัจฉรา กล่าว
รศ.ดร.อัจฉรา ยกตัวอย่างกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นภายใต้ข้อตกลงความช่วยเหลือด้านการจัดการภาวะฉุกเฉิน (EMAC) เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ EMAC จะทำหน้าที่เป็นองค์กรหลักในการแจ้งเตือนและส่งข่าว รวมไปถึงการมีอำนาจเต็มเพื่อบริหารจัดการเรื่องภัยพิบัติในมิติต่างๆ การมีองค์กรหลักเพียงองค์เดียว ที่ทำหน้าที่ทั้งบริหารจัดการภัยพิบัติ และทำหน้าที่สื่อสารให้กับประชาชนได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีความเป็นเอกภาพในการทำงาน
รศ.ดร.อัจฉรา กล่าวอีกว่า เพื่อความรวดเร็วในการแจ้งเตือนแผ่นดินไหว รัฐบาลควรจะขอความร่วมมือไปยังบริษัทกูเกิล (Google) เพื่อขอเปิดการใช้งานระบบการแจ้งเตือนแผ่นดินไหวผ่านระบบแอนดรอยด์ (Android Earthquake Alerts) อย่างเป็นทางการเพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับข้อมูลแผ่นดินไหวที่ทันเวลา เพราะระบบมีศักยภาพในการแจ้งเตือนล่วงหน้าหลายวินาทีก่อนเกิดแรงสั่นสะเทือน ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานสามารถหนีไปยังที่ปลอดภัยได้ในที่สุด
นั่นเพราะ Google สามารถใช้มือถือของผู้ใช้เองเป็นเซ็นเซอร์ โดยใช้วิธีการตรวจจับแบบ crowdsourcing ซึ่งอาศัยข้อมูลจากโทรศัพท์ที่ใช้ระบบแอนดรอยด์ (Android) ทุกเครื่องทั่วโลก โดยภายในมีเซ็นเซอร์วัดความเร่ง (accelerometers) ที่สามารถตรวจจับแรงสั่นสะเทือนได้ ซึ่งอาจบ่งชี้ว่าแผ่นดินไหวกำลังเกิดขึ้น การใช้โทรศัพท์ Android มากกว่า 2,000 ล้านเครื่องทั่วโลก ให้ทำหน้าที่เป็น sensor หรือ เครื่องตรวจจับแผ่นดินไหวขนาดเล็ก (mini-seismometers) เพื่อสร้างเครือข่ายตรวจจับแผ่นดินไหวที่ใหญ่ที่สุดในโลก โทรศัพท์จะตรวจจับแรงสั่นและความเร็วของแรงสั่น แล้วแจ้งเตือนผู้ใช้ Android ที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างถูกต้อง
นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าวต่ออีกว่า หลังจากผ่านพ้นภัยพิบัติในครั้งนี้ผ่านพ้นไป สิ่งที่ทุกภาคส่วนควรตระหนักและถอดบทเรียนร่วมกันคือการบริหารจัดการก่อนเกิดภัยพิบัติ ซึ่งจะเป็นการวางแผนล่วงหน้า เพื่อทำให้ทุกคนรับรู้ว่าตนเองควรจะปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อเกิดภัยพิบัติ รวมไปถึงความเข้าใจในการเลือกรับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง จากหน่วยงานที่เชื่อถือได้
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี