วันที่ 1 เมษายน 2568 เวลา 16.50 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, นางสาวภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการการสำนักงานเขตจตุจักร ร่วมกันแถลงความคืบหน้าของปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหายจากเหตุอาคารในโครงการก่อสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ จตุจักร ถล่ม ขณะแผ่นดินไหว
นายชัชชาติ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ขั้นตอนค้นหาผู้ประสบภัยต่อ โดยมีการรื้อถอนสิ่งหักพังขนาดใหญ่ออก โดยเริ่มเมื่อคืนนี้ด้วยทีมกู้ภัยนานาชาติเป็นทีมที่ดีที่สุดในโลก ได้ติดตั้งเครนขนาดใหญ่ 4 ตัว แบ่งเป็น ด้านซ้าย ขนาด 600 ตัน 1 ตัว/ ตรงกลางขนาด 500 ตัน และอีก 200 ตัน จำนวน 2 ตัว และมีการมาร์คจุดโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยเริ่มยกตั้งแต่เช้ามีชาร์ปขวางอยู่ 4 จุด และกำลังทยอยยกอีก 6-7 ชิ้น จะทำให้เข้าสู่โพรงด้านในได้มากขึ้น ขณะนี้ยังไม่พบสัญญาณชีพ พบแล้ว 12 ร่างอยู่ด้านในแต่ยังไม่ได้เอาออกมา ซึ่งขณะนี้การนำร่างออกมาไม่ได้สำคัญที่สุด ส่วนไหนที่พอจะนำออกมาได้ก็จะนำออกมา อย่างเช่นเมื่อสักครู่นำออกมาได้ 1 ร่าง จะเน้นค้นหาผู้รอดชีวิตก่อน โดยจะค่อยๆ ยกของหนักไปทีละชั้น และให้หน่วยเดินเท้าเข้า เพราะทีมผู้เชี่ยวชาญต่างชาติบอกว่ายังมีความหวัง วันนี้มีหลายหน่วยงานเข้ามาเก็บหลักฐานต่างๆ ซึ่งเราจะให้ความร่วมมือ เช่น กรมโยธาธิการเข้ามาเก็บหลักฐานต่างๆ จะต้องมีการประสานเวลาในการเข้า-ออก
“เรามีความหวัง และไปด้วยความหวัง และประสบการณ์ของทีมต่างชาติบอกมีเคสที่รอดได้ ก็จะต้องลุยต่อ” นายชัชชาติ กล่าว
นายชัชชาติ กล่าวถึงการคาดการณ์จำนวนผู้รอดชีวิตว่า ไม่สามารถระบุเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ แต่ทีมงานยังคงมีความหวังและปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยจากการสำรวจภายใน พบว่าอุณหภูมิไม่สูงมากและมีโพรงอากาศอยู่ ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่ติดอยู่สามารถรอดชีวิตได้หากไม่ถูกทับถมโดยตรง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่มีการเผยแพร่เกี่ยวกับจำนวนผู้สูญหายที่สแกนพบ 50-60 คนนั้น เป็นเพียงการประมาณการของเครื่องมือ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดและการประเมินสถานการณ์ที่ไม่ถูกต้อง จึงขอความร่วมมือทุกฝ่ายให้ติดตามข้อมูลจากการแถลงข่าวของหน่วยงานหลัก
สำหรับร่างผู้เสียชีวิต 12 ร่าง ที่ตรวจพบนั้น เป็นจุดที่มีการสำรวจและพบชิ้นส่วน เช่น มือหรือขา แต่ยังไม่สามารถนำออกมาได้ทันที โดยจุดที่พบร่างจำนวนมากคือโซน B และโซน C ซึ่งเป็นบริเวณบันไดหนีไฟและเชื่อมต่อกับอาคารจอดรถด้านหลัง ส่วนโซน A และโซน D มีโอกาสรอดชีวิตน้อย เนื่องจากโครงสร้างมีการทับซ้อนกันในลักษณะแพนเค้ก และการเข้าช่วยเหลือเป็นไปด้วยความยากลำบาก ผู้เชี่ยวชาญจึงจำเป็นต้องสอบถามข้อมูลจากผู้รอดชีวิตเพื่อระบุจุดที่มีผู้คนหนีภัยมามากที่สุด ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นระบุว่าเป็นโซน B และโซน C
อุปสรรคในการปฏิบัติงานคือความไม่มั่นคงของซากปรักหักพังที่มีขนาดใหญ่ ทำให้รถยกอาจมีกำลังไม่เพียงพอ จึงต้องมีการตัดแยกชิ้นส่วนให้เล็กลงก่อนทำการยก การช่วยเหลือจะนำกำลังคนลงไปที่โซนดังกล่าวโดยใช้เทคนิคเหมือนหอม คือค่อยๆ ปลอกไปทีละชั้น หากพบคนก็จะเช็คสัญญาณชีพ แล้วจะมาร์คจุด จากนั้นก็จะกู้ร่าง การปฏิบัติงานจะคัดเลือกเจ้าหน้าที่ให้ตรงกับภารกิจ โดยจะใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้นหาในการค้นหาผู้สูญหาย และใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านการกู้ร่างในการนำร่างออกมา
นายชัชชาติ กล่าวว่า ขณะนี้มีการระดมกำลังและทรัพยากรเพียงพอแล้ว หากมีสิ่งใดขาดแคลนจะมีการร้องขออย่างแน่นอน เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติได้รวมตัวอยู่ที่นี่แล้ว นอกจากนี้ ได้มีการย้ายกองบัญชาการส่วนหน้า จากพื้นดินไปอยู่ที่ชั้น 5 ของลานจอดรถ เพื่อให้สามารถมองเห็นพื้นที่โซน B และ C ได้ทั้งหมด และยืนยันว่าจะร้องขอความช่วยเหลือหากมีความจำเป็น โดยอุปกรณ์ที่ต้องการในขณะนี้คืออุปกรณ์ตัด ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนเพียงพอแล้ว ส่วนประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับการขนย้ายเศษซากอาคาร ได้มีการนำไปไว้ที่บริเวณทางรถไฟใกล้ศาลเยาวชนแล้ว สำหรับเรื่องหลักฐาน ทางกรมโยธาธิการได้เข้ามาพูดคุยแล้ว แต่ในขณะนี้เน้นการช่วยเหลือผู้สูญหายเป็นอันดับแรก การเก็บหลักฐานสามารถดำเนินการเพิ่มเติมภายหลังได้ และยินดีให้ความร่วมมือเต็มที่ ส่วนเรื่องการตรวจสอบเหล็กนั้น ขอสงวนความเห็นเนื่องจากมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง
“ขณะนี้เป็นกระบวนการกู้ชีพในการค้นหาผู้รอดชีวิต หากจะเลิกค้นหาจะต้องมีคำตอบให้ญาติได้” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
ล่าสุดเวลา 16.20 น. มีผู้ประสบเหตุ 96 คน เสียชีวิต 14 คน เป็น ชาย 8 คน หญิง 6 คน ผู้บาดเจ็บ 9 คน อยู่ระหว่างติดตาม 73 คน
ด้านอธิบดีกรมโยธาเก็บตัวอย่างคอนกรีตและโครงเหล็กซากอาคาร สตง. ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว
นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นำทีมเก็บตัวอย่าง โครงเหล็ก และคอนกรีต เพื่อนำไปตรวจสอบคุณภาพ หลักจากที่อาคารสตง.หลังใหม่ถล่มลงมาจากเหตุแผ่นดินไหว โดยการเข้าไปตรวจสอบครั้งนี้จะใช้ คอริ่งที่เป็นเครื่องความหนาแน่นของปูน จำนวน 4 เครื่อง และเครื่องมือตัดเหล็ก อีก 3 ชุด 4 จุด แบ่งตามโซน A,B,C,D ควบคู่กันไปเพื่อเจาะและตัดคอนกรีตและเหล็กส่งให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานส่งไปตรวจสอบมาตรฐานต่อไป
โดยบริเวณด้านในได้มีการมาร์กจุดที่จะทำการขุดเจาะ ซึ่งลักษณะของตัวอย่างจะต้องเป็นเหล็กที่มีความสมบูรณ์ ไม่บิดงอ ส่วนคอนกรีตต้องเป็นตัวอย่าง คอนกรีตที่ไม่มีรอยแตกร้าว เพื่อให้เกิดการพิสูจน์หลักฐานที่มีความแม่นยำถูกต้องมากที่สุด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี