'ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์' สส.เพื่อไทยกาญจน์ ชี้แผ่นดินไหวคนไทยควรรับรู้อะไรบ้าง
วันนี้ (2 เม.ย.68) นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย เขต 4 ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ สภาผู้แทนราษฎร อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า ช่วงบ่ายของวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.2 แมกนิจูด มีศูนย์กลางที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาร์ ความลึก 10 กิโลเมตร เกิดจากรอยเลื่อนสะกาย ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่มีพลังและพร้อมที่จะปลดปล่อยพลังงานออกมา
แต่แรงสั่นสะเทือนส่งผลถึงกรุงเทพ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย เกิดโศกนาฎกรรม ตึกสูงของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง) ที่กำลังก่อสร้างพังถล่มราบคาบอย่างไม่น่าเชื่อ อีกทั้งตึกสูง ทางด่วน รถไฟลอยฟ้าและรถไฟฟ้าใต้ดิน ต่างรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนดังกล่าว สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งความหวาดกลัวและความวิตกกังวลให้กับพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก
จังหวัดกาญจนบุรีเป็น 1 ในจังหวัดที่รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน แต่ภาพรวมประชาชนไม่มีได้ผลกระทบ การเกิดแผ่นดินไหวขึ้นแต่ละครั้งทุกคนจะจับตาไปยังไปยังเขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิและเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรีมาโดยตลอดว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหวทั้ง 2 เขื่อนได้รับผลกระทบใดๆหรือไม่ อย่างไร
หลังเกิดเหตุจังหวัดกาญจนบุรีโดยท่านอธิสรรค์ อินทร์ตรา ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีพร้อมคณะได้ลงพื้นที่ตรวจสอบด้วยตนเองเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ผลการตรวจสอบของคณะผู้บริหารของทั้ง 2 เขื่อนพบว่าแรงสั่นสะเทือนของการเกิดแผ่นดินไหวในวันและเวลาดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตัวเขื่อนเลยแม้แต่น้อย การลงพื้นที่ของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะถือว่าสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย เขต 4 กล่าวว่า แผ่นดินไหว ไม่ใช่เรื่องแปลก และไม่ใช่เพิ่งเคยเกิด แต่เป็นภัยพิบัติธรรมชาติ ที่มักจะเกิดเป็นช่วงๆ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วครั้งหนึ่ง ก็จะมีแผ่นดินไหวขนาดย่อมกว่าเกิดขึ้นตามมาเป็นระยะๆ ที่เราเรียกกันว่าอาฟเตอร์ซ๊อก (after chock) ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายซ้ำเติมได้
นอกจากนี้กรุงเทพและปริมณฑล เป็นพื้นที่ที่รองรับด้วยตะกอนทะเลโบราณ มีชั้นทรายสลับกับชั้นดินเหนียว เมื่อเกิดแผ่นดินไหว จะส่งแรงสั่นสะเทือนต่อกันเป็นทอดๆ ทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าบริเวณที่รองรับด้วยหินแข็ง เช่นจังหวัดตาก กาญจนบุรี ที่รองรับด้วยหินแกรนิต และภาคอีสาน ที่รองรับด้วยหินทราย เป็นต้น ทีนี้เราคนไทย ควรจะรับรู้อะไรบ้าง เมื่อเกิดแผ่นดินไหว
1. หากเกิดแผ่นดินไหว ควรมีสติ และควรรีบหนีออกจากอาคาร โดยเฉพาะอาคารสูง ให้รีบลงไปรวมตัวยังที่โล่งแจ้ง ที่ปลอดภัยจากสิ่งที่จะตกหล่นใส่ตัวเรา
2. หมั่นตรวจดูอาคารบ้านพัก ว่ามีรอยร้าวหรือไม่ ถ้ามี ต้องรีบปรับปรุงซ่อมแซมทันที
3. ขณะเกิดแผ่นดินไหว ห้ามใช้ลิฟต์โดยเด็ดขาด เพราะลิฟต์อาจจะไม่ทำงาน
4. สำหรับอาคารสูง ประตูหนีไฟ ต้องใช้การได้เสมอ
5. ต่อไปนี้การออกแบบก่อสร้างอาคารสูงในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ควรนำเทคโนโลยีแบบญี่ปุ่นมาใช้ เพื่อให้อาคารสามารถรับแรงสั่นสะเทือนและปลอดภัยจากการเกิดแผ่นดินไหว
และ 6. หน่วยงานที่มีหน้าที่เฝ้าระวังและเตือนภัยแผ่นดินไหว เช่นกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และกรมทรัพยากรธรณี ควรบูรณาการกันสร้างนวัตกรรมในการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า
ทั้งนี้ รอยเลื่อนสะกายประเทศเมียนมาร์ เคยสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นมาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อสมัยสมเด็จพระนเรศวร ประกาศอิสระภาพ ไม่ขึ้นกับกรุงหงสา เมื่อ พ.ศ. 2127 หรือเมื่อ 441 ปีที่แล้ว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี