น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าว ในโอกาสลงพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ร่วมกับ นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรี กระทรวง อว. เพื่อตรวจติดตามผลงานวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ ในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ในงาน “มหกรรมแก้จน คนของพระราชา” ที่เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันของมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ กับหน่วยบริหารและจัดการทุนเพื่อการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในสังกัดกระทรวง อว. โดยระบุว่า
“มีความประทับใจกับการประสานพลังกันของสถาบันความรู้ ที่เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว.ทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และหน่วย บพท.ที่ให้การสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อพัฒนาชุดความรู้สำหรับแก้ปัญหาความยากจนให้เป็นไปด้วยความเบ็ดเสร็จ แม่นยำ และยั่งยืน บนความร่วมมือกันของภาคีทุกภาคส่วนในพื้นที่ และเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่การบูรณาการทำงานร่วมกันของสถาบันความรู้ และหน่วย บพท.ร่วมกับภาคีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนภาคประชาสังคมในพื้นที่ ทำให้เกิดระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนของจังหวัดศรีสะเกษ ภายใต้ชื่อ “สุขเสมอกันที่ศรีสะเกษ” หรือ “Sisaket Equity System-SES” ซึ่งเป็นชื่อที่มีความหมายดีมาก” รมว.อว.กล่าวและว่า ด้วยการทำงานร่วมกันนี้ ทำให้เรามีแผนการในการพัฒนาโครงการที่เน้นการสร้างทักษะอาชีพและผลักดันให้เข้าถึงสวัสดิการที่ควรจะได้รับ เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ คือ การใช้ระบบข้อมูลครัวเรือนความยากจนกลาง “สุขเสมอกันที่ศรีสะเกษ (SES)” เป็นระบบที่จะสอบทานและ “นำคนจนตกหล่นเข้าสู่ระบบ”
นายศุภชัย ใจสมุทร กล่าวว่า การลงพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ทำให้ทราบว่าระบบข้อมูลสุขเสมอกันที่ศรีสะเกษ ยังถูกใช้เป็นเหมือน “สารตั้งต้น” ในการออกแบบโมเดลแก้จน ตลอดจนพัฒนานวัตกรรม สำหรับแก้ปัญหาความยากจนที่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตและบริบทพื้นที่ อย่างเช่น โมเดลผักปลอดภัย และนวัตกรรมการแปรรูปถั่วเหลืองเป็นอาหารมังสวิรัติเพื่อสุขภาพซึ่งช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาชีพ และยกระดับรายได้แก่ครัวเรือนยากจนให้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเดือนละ 3,000 บาท อีกทั้งยังทำให้เกิดการรวมตัวเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน
ที่เชื่อมโยงสมาชิกจากหลากหลายตำบล ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีขีดความสามารถพึ่งพาตัวเองได้
มีการส่งต่อนวัตกรรมและเทคโนโลยี “โมเดลแก้จน” เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ เช่น โมเดลผักปลอดภัย และนวัตกรรมการแปรรูปถั่วเหลือง ที่ช่วยเหลือครัวเรือนยากจนให้มีรายได้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 3,000 บาท/เดือน ก่อให้เกิดเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่เชื่อมโยงสมาชิกจากหลากหลายตำบล สร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมความเสมอภาคในพื้นที่
นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ ด้วยการขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการเพื่อครัวเรือนคนจนในหลายประเด็น เช่น การผลักดันให้ครัวเรือนกลุ่มสงเคราะห์เข้าสู่กลไกกองทุนระดับตำบลเพื่อเข้าถึงสวัสดิการ และส่งต่อความช่วยเหลือให้กับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการช่วยเหลือครัวเรือนที่มีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ
ผศ.ดร.สหัสา พลนิล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ระบบข้อมูลสุขเสมอกันที่ศรีสะเกษ ถูกนำไปเป็นฐานข้อมูลสำหรับใช้ออกแบบโมเดลแก้จน และพัฒนานวัตกรรมพร้อมใช้ ที่มีความหลากหลายสำหรับครัวเรือนยากจน ทั้งนวัตกรรมระบบปฏิทินการปลูกพืชผลการเกษตร นวัตกรรมน้ำหมักชีวภาพจากเศษวัสดุการเกษตร นวัตกรรมแปรรูปถั่วเหลืองเป็นอาหารมังสวิรัติพร้อมใช้พร้อมทาน ในรูปของแป้งถั่วเหลือง หมูยอเจปันสุข และเทมเป้ถั่วเหลือง รวมทั้งกองทุนสวัสดิการช่วยเหลือครัวเรือนยากจนที่ประสบภัยพิบัติ
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วย บพท. กล่าวว่า ผลลัพธ์ความสำเร็จจากการสานพลังความรู้ โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษเป็นแกนกลางเชื่อมโยงเข้ากับพลังภาคีในพื้นที่ ก่อเกิดผลกระทบเชิงบวกหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนยากจน ได้รับการแก้ไขให้บรรเทาจากความยากจน มีรายได้ต่อเนื่องสม่ำเสมอมีอาชีพที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันระบบ SES ยังได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากหน่วยงานภาครัฐนำไปใช้เป็นฐานข้อมูล เพื่อการวางแผนจัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่อย่างกว้างขวางครอบคลุมทั่วทุกอำเภอใน จ.ศรีสะเกษ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี