‘ชัชชาติ’ จ่อเสนองบ 9 ล้าน ติดตั้งเครื่องวัดแผ่นดินไหวบนตึกสูง ใน 8 รพ. สังกัดกทม. หลังถูกสภากทม. ตีตกไปครั้งก่อน
วันที่ 2 เม.ย. 2568 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกทม. ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 2 ครั้งที่ 1 ประจำปี 2568 กรณีที่สภากรุงเทพมหานคร เคยตีตกร่างงบประมาณโครงการจ้างที่ปรึกษาประเมินกำลังต้านทานแรงแผ่นดินไหวอาคารในสังกัดกรุงเทพมหานคร ที่มี นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้เสนอ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2567 ว่า คงจะมีการเสนองบประมาณอีกครั้ง เนื่องจากครั้งนั้นหลายคนอาจจะไม่ได้เห็นความสำคัญ เป็นเรื่องธรรมดา เราอาจจะไม่ได้เห็นความสำคัญ เพราะไม่ได้มีแผ่นดินไหวขนาดนี้มานาน มุมมองอาจจะเปลี่ยนไป อาจลองเสนออีกครั้งในปีนี้ หรืออาจจะมีการเสนอในปีงบประมาณ 2569 หรือใช้งบกลาง เพื่อติดตั้งเครื่องวัดแผ่นดินไหวในอาคารสูงโรงพยาบาลสังกัดกทม. 8 แห่ง เนื่องจากจำนวนเงินแค่ 9 ล้านบาท
“หากเป็นไปได้อาจจะมีการขยายขอบเขตติดตั้งมากกว่า 5 โรงพยาบาล เนื่องจากเป็นประโยชน์มาก ย้อนกลับไปเมื่อเกิดเหตุ รองผู้ว่าฯวิศณุ ยังส่งข้อความมาหา ชวนไปที่ตึกธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม. (ดินแดง) เนื่องจากข้อมูลออกมาไม่มีปัญหา เทคโนโลยีสมัยนี้ไม่แพงและถูกลง สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์ได้อีก หากมีการติดในหน่วยงานสังกัดกทม. หน่วยงานราชการ และเอกชนด้วย จะมีข้อมูลและสร้างความมั่นใจได้มากขึ้น” นายชัชชาติกล่าว
สำหรับโครงการดังกล่าวที่เคยมีการเสนอจะมีการติดตั้งเครื่องวัดแผ่นดินไหวในอาคารสูงทั้งหมด 6 อาคารได้แก่ อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ความสูง 37 ชั้น, อาคาร 72 พรรษาโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ความสูง 24 ชั้น,อาคารสมเด็จเจ้าพระยาตากสินมหาราช และอาคารธนบุรีศรีมหาสมุทรของโรงพยาบาลตากสิน ความสูง 17 ชั้น และ 20 ชั้นตามลำดับ, อาคารเพชรรัตน์ของวชิรพยาบาล ความสูง 19 ชั้น และคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชความสูง 24 ชั้น
เตรียมของบประมาณปี 2569 ติดเซ็นเซอร์วัดแผ่นดินไหวในอาคารสูง 8 โรงพยาบาลกทม. เพื่อมั่นใจปลอดภัยไม่ต้องอพยพคนไข้-พร้อมรักษาเมื่อมีเหตุภัยพิบัติ
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีแผนขอจัดสรรงบประมาณในการติดตั้งเซ็นเซอร์วัดแผ่นดินไหวบนอาคารสูงของกทม. โดยจะติดตั้งในอาคารโรงพยาบาลสังกัดกทม. ด้วยเหตุผลมีความเสี่ยงสูงเพราะมีคนไข้ที่เคลื่อนตัวได้ยาก และมีความจำเป็นในการให้การรักษาเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ อีกเหตุผลคือ จะติดในอาคารสูง
และเป็นอาคารเก่า จึงจำเป็นต้องติดเพื่อให้ทราบว่าอาคารปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งเราได้เคยของบประมาณปี 2568 ไปแล้ว แต่งบฯโดนตัดไป จะยื่นของบฯ ในปีงบประมาณ 2569 นี้อีกครั้ง จากการสำรวจเบื้องต้นตามเหตุผลดังกล่าว จะของบฯ ติดตั้งใน 8 โรงพยาบาลสังกัดกทม. เชื่อว่าน่าจะได้รับการพิจารณาผ่านสภากทม.
“เซ็นเซอร์เครื่องวัดแผ่นดินไหวถ้าเราติดไว้ จะไม่เกิดเหตุการณ์ที่เราต้องอุ้มเด็กเกิดใหม่ลงมาพื้นล่าง เพราะเซ็นเซอร์จะตอบได้ว่าตึกนั้นปลอดภัย คงทนได้หรือไม่ ถ้ารู้ว่าไหวขนาดนี้ตึกสามารถทนได้ก็ไม่ต้องอพยพคนเลยใช้ชีวิตปกติอยู่บนตึกได้ โดยจะดูที่ค่าตัวเลขในการสั่นของตึก ซึ่ง กทม.ได้ทดลองติดเซ็นเซอร์วัดแผ่นดินไหวที่ชั้นบนสุดของอาคารธานีนพรัตน์ สูง 33 ชั้น เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้วัดได้ 123 มิลลิจี ซึ่งไม่มีอันตรายสามารถอยู่บนตึกได้แค่ต้องหลบใต้โต๊ะ ไม่ต้องเดินลงมา 30 กว่าชั้น แต่เมื่อมีคนลงมาจากตึกแล้วได้มีการตรวจสอบว่าตึกไม่ได้รับความเสียหายก็สามารถให้คนกลับเข้าทำงานได้เร็วที่สุด”รองผู้ว่าฯกทม.กล่าว
ทั้งนี้ การวัดค่าของเซ็นเซอร์วัดแผ่นดินไหว จะวัดค่าความเร่งของพื้นดิน (Peak Ground Acceleration-PGA) ที่เป็นอันตราย ขึ้นอยู่กับประเภทของโครงสร้างและระดับความปลอดภัยของอาคาร โดยทั่วไป ค่า PGA วัดเป็นหน่วย g หรือ มิลลิจี (mg) ซึ่ง 1g=1000 mg โดยระดับความเร่งของพื้นดิน (PGA) ที่มีผลกระทบกับอาคาร มีดังนี้ 1.ต่ำกว่า 20 mg (0.02g)-แทบไม่รู้สึก ไม่มีอันตราย 2.ระดับ 20-50 mg (0.02-0.05g)-รู้สึกได้ชัดเจน แต่ไม่มีความเสียหาย 3.ระดับ 50-100 mg (0.05-0.1g)-อาคารเก่าหรือไม่ได้ออกแบบให้ทนแผ่นดินไหวอาจได้รับความเสียหายเล็กน้อย 4.ระดับ 100-200 mg (0.1-0.2g)-อาคารที่ไม่ได้เสริมความแข็งแรงอาจแตกร้าวและเสียหาย 5.ระดับ 200-500 mg (0.2-0.5g)-อาคารที่ไม่ได้ออกแบบให้รับแผ่นดินไหวอาจพังบางส่วน 6.มากกว่า 500 mg (0.5g ขึ้นไป)-อาคารหลายแห่งอาจพังถล่ม
อย่างไรก็ดี อาคารในเขตกรุงเทพฯที่สร้างตามกฎหมายควบคุมอาคารปี 2550 จะต้องมีการออกแบบรับแผ่นดินไหวด้วย ส่วนอาคารที่สร้างก่อนปี 2550 จะออกแบบรับแรงลมด้านข้างก็สามารถรับแรงแผ่นดินไหวได้ระดับหนึ่ง การติดเซ็นเซอร์วัดแผ่นดินไหวในอาคารโรงพยาบาลสังกัดกทม. ก็เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้อาคารเมื่อเกิดเหตุขึ้น ในส่วนอาคารโรงพยาบาลอื่นๆ ถ้าสามารถติดเซนเซอร์ได้เราแนะนำว่าควรติดตั้งทุกอาคารถ้าเข้าข่าย เป็นอาคารสูงและเก่า
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี