รผว.ชี้แจง สภากทม. ย้ำเหตุผล เสนอติดตั้งเครื่องวัดแผ่นดินไหวอีกครั้ง ด้าน ส.ก.ดอนเมือง แจงเหตุตัดงบ ได้ผ่านคณะอนุฯ ที่มีผู้บริหารกทม.-ส.ก.ทุกสังกัดร่วมพิจารณา ยินดีประชาชนตรวจสอบที่สภาฯได้ทุกวัน
2 เม.ย.68 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม. ดินแดง นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 2 ครั้งที่ 1 ประจำปี 2568 โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม นายวิศณุ ทรัพย์สมพล นางสาวทวิดา กมลเวชช นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) หัวหน้าหน่วยงานและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องที่นี่ : สภากทม. ตัดงบ 9 ล้าน ตรวจสอบความปลอดภัยอาคารสูงใน กทม.-ไม่เสี่ยงเท่าภาคเหนือ (คลิป)
ที่ประชุมได้มีการอภิปรายญัตติด่วนด้วยวาจาของนายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครเร่งตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ ส.ก.ได้อภิปรายถึงเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 ที่ผ่านมา
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ชี้แจงต่อสภากทม.ว่า หลังจากเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 กทม.เปิดให้ประชาชนแจ้งเรื่องอาคารเสียหายในทราฟฟี่ ฟองดูว์ ในวันเดียวกัน พบมีผู้แจ้งเข้ามาประมาณ 1,500 เรื่อง ต่อมา วันที่ 29 มี.ค. เพิ่มเป็น 7,000 กว่าเรื่อง และปัจจุบันมีมากกว่า 15,000 เรื่อง จากการตรวจสอบเรื่องทั้งหมดโดยวิศวกร แบ่งเป็นระดับ สีเขียว สีเหลือง และสีแดงโดยมีเรื่องระดับสีเหลืองที่ต้องลงไปตรวจสอบ 400 กว่าเรื่อง และระดับสีแดง 2 อาคาร เท่านั้น ได้สั่งระงับการใช้อาคารเบื้องต้นแล้ว ส่วนอาคารของภาครัฐอยู่ในการตรวจสอบของกรมโยธาธิการและผังเมืองร่วมกับสภาวิศวกร ปัจจุบันตรวจไปแล้ว 300 กว่าอาคาร พบระดับสีแดง 3 อาคาร ซึ่งการตรวจทั้งหมดเป็นการตรวจเบื้องต้นจากวิศวกร ส่วนการตรวจเชิงลึก โดยเฉพาะอาคารควบคุม 9 ประเภท เช่น อาคารสูง ขนาดเกิน 10,000 ตารางเมตร อาคารพื้นที่อาศัยรวมขนาด 2,000 ตารางเมตร โรงแรมขนาด 80 ห้อง เป็นต้น ซึ่งอาคารดังกล่าว มีผู้ตรวจสอบอาคารประจำปี ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมโยธาธิการและผังเมืองอยู่แล้ว ประมาณ 2,600 ราย กทม. จึงออกคำสั่งให้มีผู้ตรวจสอบอาการเพิ่มเติมอีกครั้ง เพื่อความปลอดภัย โดยให้เวลาภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อแจ้งข้อมูลให้กทม. ทราบ ปัจจุบัน ใช้เวลาไป 3 วัน ได้รับข้อมูลประมาณ 280 อาคาร
กรณีส่งเจ้าหน้าที่เขตที่เป็นวิศวกรระดับภาคี เข้าตรวจพื้นที่อาคารเสียหาย ไม่ได้ให้เข้าไปรับรองความปลอดภัยของอาคาร แต่เข้าไปประเมินความเสียหายเบื้องต้นโดยเฉพาะด้านโครงสร้างของอาคารเท่านั้น หากไม่พบความเสียหายรุนแรงก็ถือว่าอาคารนั้นปลอดภัย เนื่องจากมีอาคารเป็นจำนวนมากไม่สามารถตรวจเองโดยละเอียดทุกอาคารได้จึงต้องมีการประเมินในแต่ละระดับและร่วมกับหน่วยงานต่างๆในการตรวจสอบ จากการตรวจสอบที่ผ่านมาทั้งหมดยังไม่พบความเสียหายรุนแรง ถึงขนาดปิดใช้อาคารถาวร มีแต่เสียหายบางจุดและรอการปรับปรุงเพิ่มเติมต่อไป
ส่วนข้อกังวลขณะนี้คือเนื่องจากโรงพยาบาลมีการอพยพผู้ป่วย กทม. ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เนื่องจากเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก็เกิดแผ่นดินไหว แต่โรงพยาบาลสามารถรับได้ แต่คำถามคือเมื่อเกิดแผ่นดินไหวจะทราบได้อย่างไรว่าอาคารจะสามารถรับได้ โดยไม่ต้องอพยพคนออก ดังนั้น หากมีเครื่องมือ ติดตั้งไว้บนโรงพยาบาลจะทำให้ทราบว่า อาคารนั้นปลอดภัยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายคน จึงขอฝากโครงการติดตั้งเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว ให้สภากทม. พิจารณาด้วย เนื่องจากเคยมีการเสนอโครงการไปแล้วแต่ไม่ได้รับการพิจารณา อาจจะมีการผลักดันโครงการนี้อีกครั้ง เพราะเรื่องนี้มีความจำเป็น การอพยพผู้ป่วยมีความสำคัญและมีความเสี่ยงสูง
ส่วนเรื่องการออกแบบอาคารป้องกันแผ่นดินไหว ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา กทม. มีการออกแบบเพื่อป้องกันแผ่นดินไหวไว้แล้ว โดยเฉพาะโรงพยาบาลมีการออกแบบป้องกันระดับสูง สามารถรับแผ่นดินไหวได้ ในปี 2564 ยังมีการกำหนดมาตรฐานการออกแบบสูงขึ้น โดยเฉพาะโรงพยาบาลมีการออกแบบด้านความปลอดภัยมากกว่าอาคารทั่วไป 40% ส่วนนี้จึงไม่น่ากังวล ส่วนอาคารก่อนปี 2550 เน้นการติดเครื่องวัดแรงแผ่นดินไหวที่อาคารเก่าที่อาจจะไม่สามารถปรับปรุงซ่อมแซมเพิ่มเติมได้มากนัก ก็อาจจะช่วยป้องกันได้มากขึ้นในอนาคต ส่วนเรื่องเครน กทม. สั่งระงับทั้งหมด 201 เครน จนกว่าจะมีการตรวจสอบด้านความปลอดภัยโดยวิศวกร
"การรับรองด้านความปลอดภัยของอาคารเป็นเรื่องใหญ่ กทม. ไม่สามารถรับรองได้ เพราะวิศวกรของเรา ไม่ใช่ระดับวุฒิวิศวกร ส่วนผู้ตรวจสอบประจำอาคารก็ไม่ใช่วุฒิวิศวกร แต่เป็นผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม มาตามกฎหมาย ลักษณะคือเดินตรวจด้วยสายตา หากพบความเสียหายมาก ให้คำแนะนำ หากต้องซ่อมแซมต้องปรึกษาวุฒิวิศวกรอีกครั้ง ตามขั้นตอน ดังนั้นจึงต้องส่งวิศวกรลงไปพิจารณารายละเอียด ความปลอดภัยเบื้องต้น จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก หากไม่มีเครื่องตรวจวัดแรงแผ่นดินไหวที่ติดตั้งไว้ ก็อาจให้ความมั่นใจเชิงวิทยาศาสตร์แก่ประชาชนไม่ได้ จึงขอฝาก ทางสภากทม.ในอนาคต หากฝ่ายบริหารเสนอโครงการนี้เข้ามาช่วยสนับสนุนด้วย" นายวิศณุ กล่าว
ด้าน นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กล่าวถึงการพิจารณางบประมาณและเหตุผลในการตัดงบฯโครงการติดตั้งเครื่องตรวจวัดการสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวตามที่นายวิศณุอ้างถึง ว่า ประชาชนหลายคนเข้าใจผิด ทำคลิปเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย โดยความปลอดภัยของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ ในฐานะที่เป็น ส.ก.เป็นตัวแทนของประชาชนชาวดอนเมือง ประเด็นสำคัญในการพิจารณางบประมาณของกรุงเทพมหานคร เราพิจารณาเพื่อความปลอดภัย เพื่อความสะดวกสบาย และเพื่อประโยชน์ของประชาชน
เราให้ความสำคัญกับปัญหาแผ่นดินไหว ตนเองเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทย หลายคนพูดถึงโครงการจ้างที่ปรึกษา ประเมินกำลังต้านทานแผ่นดินไหวในอาคารสูงสังกัดกรุงเทพมหานคร คลิปที่มีการเผยแพร่สร้างความเสียหายให้กับสภากรุงเทพมหานคร วันนั้นตนเองเป็นประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณางบประมาณปี 2568 ดังนั้นจึงต้องทำหน้าที่รายงานทุกโครงการที่ผ่าน และไม่ผ่านการพิจารณา เพื่อให้สภากรุงเทพมหานครได้พิจารณา โดยทุกงานทุกโครงการจะต้องผ่านคณะอนุกรรมการวิสามัญของกรุงเทพมหานคร
โครงการดังกล่าว เมื่อคณะอนุกรรมการวิสามัญโยธาพิจารณาแล้วเสร็จ จึงนำเรื่องรายงานสู่คณะกรรมการวิสามัญ ในคณะกรรมการ ประกอบด้วยผู้บริหาร ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ส.ก.ที่มีหลายสังกัด ไม่ว่าจะเป็นสังกัดอิสระ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทย
ตนเองเป็นประธานกรรมการวิสามัญมีหน้าที่ควบคุมการประชุมให้เรียบร้อยและเสร็จสิ้นตามระเบียบ พร้อมกับรายงานสู่สภากทม. ในระยะเวลาที่กำหนด คณะอนุกรรมการได้พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการไม่ชัดเจน ไม่ครอบคลุม เนื้อหาโครงการและ TOR ยังขาดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ไม่ได้อธิบายว่าจะนำผลประเมินมาใช้ในทางปฏิบัติอย่างไร คณะกรรมการจึงเกรงว่าจะไม่เกิดประโยชน์
โดยเอกสารหลักการและเหตุผลในการขอใช้งบประมาณวัตถุประสงค์ของโครงการ พูดอย่างเดียวว่า จะจ้างที่ปรึกษา และลักษณะงานก็เป็นการจ้างที่ปรึกษาอีกเช่นกัน ส่วนประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ มีแต่เรื่องรายงาน ขอใช้งบประมาณ 9 ล้านบาท แบ่งเป็น เป็นงบบุคลากรราว 3.5 ล้านบาท หรือเกือบ 40% ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์วัดการสั่นสะเทือน 3 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการสำรวจและวิเคราะห์ผล 2.4 ล้านบาท ค่าจัดทำรายงานประมาณ 7 หมื่นบาท
โครงการนี้หากมีการปรับปรุงรายละเอียดและวัตถุประสงค์ของผลลัพธ์ที่ชัดเจน ส.ก.พร้อมจะให้ความเห็นชอบ แต่ตัวเครื่องที่จะใช้งบประมาณ 3 ล้านบาท เป็นเครื่องที่ไม่มีขาย ต้องประดิษฐ์ขึ้นมา การติดตั้งเครื่องต้องติดในอาคารสูงสังกัดกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่การแจ้งเตือนว่าอีก 3 นาที 5 นาที แผ่นดินจะไหว แต่เป็นเครื่องที่วัดการสั่นสะเทือน หากมีแผ่นดินไหวทุกคนต้องอพยพอยู่แล้ว ไม่มีใครขอไปดูเครื่องนี้ก่อนว่าจะถล่มหรือไม่ เวลาเราพิจารณางบประมาณ เราพิจารณาตามเอกสารที่ส่งมา มันไม่ใช่เครื่องแจ้งเตือน แต่เป็นเครื่องที่ไว้วัดการสั่นสะเทือน
หากจะเสนอให้สภากทม. พิจารณาใช้งบประมาณในการป้องกันภัยแบบนี้ เชื่อว่าสภากทม.จะผ่านให้แน่นอน แต่ควรเป็นโครงการป้องกันและบรรเทาแผ่นดินไหวที่ครอบคลุมในหลายมิติ ควรถูกบังคับใช้ในวงกว้างมากกว่า การพิจารณางบประมาณเรานึกถึงความปลอดภัยของประชาชน เช่น โครงการติดตั้งไฟแสงสว่าง ซึ่งนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขอเสนอใช้งบประมาณเยอะมาก เราเห็นด้วย แล้วก็ผ่านให้ในทุกโครงการที่เป็นความปลอดภัย รวมถึงการสร้างโรงพยาบาล ศูนย์อนามัย และโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร แต่เงินที่เราใช้มาจากภาษีของประชาชน การใช้ภาษีจะต้องเป็นไปด้วยความละเอียด รอบคอบ โปร่งใส
"วันนั้นดิฉันทำหน้าที่รายงานสู่สภาฯ แห่งนี้ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญงบประมาณ ถ้าหากประชาชนที่ไม่เข้าใจหรืออยากทราบรายละเอียดสามารถตรวจสอบและติดต่อได้ที่สภาฯ ทุกวัน เชื่อว่าทุกท่านยินดีให้ความเข้าใจมากกว่าที่จะใช้การสื่อสารทางการเมือง มุ่งเน้นทำลายสภาฯ และความตั้งใจของ ส.ก. ที่จะให้เกิดผลประโยชน์โดยทั่วกัน" นางกนกนุช กล่าว
นายวิศณุ ลุกขึ้นย้ำอีกครั้งว่า เครื่องมือดังกล่าวไม่ใช่เครื่องมือเตือนแผ่นดินไหว แต่เป็นเครื่องมือที่ให้รู้ว่าเมื่อแผ่นดินไหวเกิดขึ้นแล้ว อาคารหลังนั้นจะแข็งแรงปลอดภัยพอหรือไม่ จึงเป็นเหตุผลว่าในโครงการดังกล่าวจะต้องจ้างที่ปรึกษา เครื่องมือเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งเราต้องจ้างที่ปรึกษา เพื่อไปวิเคราะห์โครงสร้างของอาคารหลังนั้น ๆ โดยเฉพาะ เมื่อแผ่นดินไหวแล้วจะได้ตอบว่า อาคารหลังนั้นจะต้องอพยพคนหรือไม่ จุดประสงค์หลักคือ ต้องการติดตั้งที่โรงพยาบาล เพื่อที่จะได้รู้ว่าจะอพยพคนหรือไม่ หรืออาคารรับแรงสั่นสะเทือนได้หรือไม่ ตนเองเข้าใจว่าอาจจะมีการสื่อสารหรืออธิบายได้ไม่ดีพอ หากครั้งหน้ามีการของบประมาณ จะได้ชี้แจงมากขึ้น
.-008
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี