น.ส.อนงค์นาถ จ่าแก้ว เลขานุการ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานงานเปิดตัวกรอบการจัดการสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างยั่งยืนของประเทศไทย (Sustainable Pesticide Management Framework: SPMF) โดยมีนายพรเทพ ศรีธนาธร ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรฯ น.ส.ซิโมน บาร์ช ประธานองค์กรครอปไลฟ์เอเชีย น.ส.กล้วยไม้ นุชนิยม นายกสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย นายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานกรรมการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กทม. ว่าการดำเนินงานภายใต้กรอบ SPMF ของประเทศไทย ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมของไทยไปสู่การผลิตอาหารที่ปลอดภัย มีคุณภาพ และสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสม เพื่อตอบสนองความต้องการของทั้งประชาชนไทยและประชาคมโลกในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านโครงการต่างๆซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญที่จะช่วยให้เกษตรกรไทยได้รับการถ่ายทอดนวัตกรรมที่ทันสมัยผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ และสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่สามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การจัดงานครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือที่แข็งแกร่งและแสดงถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ที่ได้สนับสนุนและร่วมมือกับภาครัฐ ในการส่งเสริมและยกระดับภาคเกษตรของไทย เพื่อเสริมสร้างระบบอาหารที่ปลอดภัยและยั่งยืนตามแนวทางของ SPMF ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ซึ่งกรอบความร่วมมือนี้จะเป็นเวทีสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและการเกษตรยั่งยืนของประเทศไทย
น.ส.อนงค์นาถกล่าวต่อว่า มีนโยบายที่สำคัญซึ่งมุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารและลดการใช้สารเคมีในภาคการเกษตร เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค
ส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม มีแนวทางส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย ให้ความสำคัญกับการผลิตพืชอาหารที่ปลอดภัยสำหรับการบริโภคทั้งในประเทศและส่งออก เน้นการลดการใช้สารเคมีและส่งเสริมการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมถึงนโยบายสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดการใช้สารเคมีและหันมาใช้วิธีการทางธรรมชาติในการควบคุมศัตรูพืชและโรคพืช
“ปัจจุบันภาคการเกษตรต้องเผชิญความท้าทายไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ ตลอดจนประเด็นด้านความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร ซึ่งอุปสรรคเหล่านี้อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเกษตรกรและระบบการผลิตอาหารของประเทศ ดังนั้น การบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้ในภาคเกษตรกรรมจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่นคง และเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรไทย” น.ส.อนงค์นาถ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี