DSI ตั้งทีมสอบคดีตึกสตง.ถล่ม
ไล่บี้สอบ‘นอมินี’
แฉพิรุธมีกว่า 10 บริษัท
กก.คนไทยชุดเดียวกัน
ขยายผล‘ฮั้วประมูล’
คุณภาพสินค้าตกเกรด
“ทวี”เผย“DSI”รับคดี“ตึก สตง.”ถล่ม เป็นคดีพิเศษ ลุยสอบความผิด “นอมินี-ฮั้ว-วัสดุไม่มีคุณภาพ”ยันขยายผลตรวจสอบสุดสาย จนถึงบริษัทร่วมค้า เผยข้อมูลมีมากกว่า 10 บริษัท จดทะเบียน 100 ล้านใช้กก.คนไทยชุดเดียวกัน สถานที่จดทะเบียนเดียวกัน ขณะที่อธิบดีดีเอสไอเซ็นตั้งคณะพนักงานสอบสวนลุยสอบ บ.ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 บริษัท ผู้ก่อสร้างตึก สตง. 30 ชั้นถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว หลังรับเป็นคดีพิเศษ
อธิบดีเผยเข้าเงื่อนไขเป็นคดีพิเศษ ไม่ต้องใช้มติ อกพ. โดยสอบสวนความผิดนอมินี ก่อนสอบขยายความผิดอื่นๆตามหลัง ด้าน “ภูมิธรรม”ย้ำนายกฯสั่งกลางครม.เร่งสอบอย่าทิ้งเวลา กำชับทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องทำเต็มที่ เจอใครเอี่ยวฟันไม่เลี้ยง
เมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่อาคารกระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงการตรวจสอบบริษัทก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เกิดถล่มหลังแผ่นดินไหวว่า เหตุที่อาคาร 30 ชั้น ถล่มลงมาเป็นแห่งเดียวในประเทศ ขณะที่ตึกอื่นไม่ถล่ม เราก็ต้องหาสาเหตุ โดยแนวทางตามกฎหมาย ดีเอสไอรับคดีอาคาร สตง.ถล่มเป็นคดีพิเศษแล้ว โดยใช้อำนาจของอธิบดีดีเอสไอ เป็นความผิดท้ายพ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษในการพิจารณา และจากการรวบรวมพยานหลักฐานพบได้ว่าบริษัทดังกล่าวมีพฤติกรรมการเป็นนอมินี ซึ่งปกติบริษัทชาวต่างชาติ ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยจะต้องมีการแบ่งสัดส่วน ผลประโยชน์ให้คนไทย 51% และเป็นต่างชาติ 49% ซึ่งกรมส่งเสริมคดีพิเศษมีหลักฐานมากพอที่จะสามารถเชื่อได้ว่าบริษัทแห่งนี้เข้าข่ายเป็นนอมินี ประกอบกับมีความเสียหายมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท ถือได้ว่าเข้าข่ายการเป็นคดีพิเศษ
ขยายผลสอบนอมินี-ฮั้ว-สินค้าไร้คุณภาพ
พ.ต.อ.ทวีกล่าวต่อว่า นอกจากความผิดเป็นนอมินีแล้ว จะขยายผลคดีเรื่องสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพของ มอก. ส่วนการฮั้วประมูลและการดูคุณภาพเนื้องานก่อสร้าง ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการที่ทำให้ตึกถล่มลงมาหรือไม่ จากนี้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษก็จะมีการเชิญหน่วยงานนอก เช่น สรรพากร กระทรวงอุตสาหกรรม มาร่วมเป็นคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เนื่องจากเป็นผู้เชี่ยวชาญ นอกจากปัญหานอมินี หรือนักธุรกิจมาเอาเปรียบ ก็ควรตรวจสอบทั้งประเทศด้วย แนวทางเมื่อรับเป็นคดีพิเศษแล้วจะตรวจสอบว่าบริษัทดังกล่าวจอยเวนเจอร์ร่วมกับใครบ้าง ได้งานที่ไหนบ้าง ตรวจสอบทั้งหมดสุดสาย
ชี้พิรุธมี10บริษัท.ใช้กก.ชุดเดียวกัน
“ได้รับรายงานจากดีเอสไอว่ามีหลักฐานมากพอสมควร โดยบริษัทดังกล่าวมีทุนจดทะเบียนเกิน 100 ล้านบาท ซึ่งไม่ใช่บริษัทเดียว มีจำนวนกว่า 10 บริษัท ที่ใช้กรรมการที่เป็นคนไทยชุดเดียวกัน ใช้สถานที่จดบริษัทเดียวกัน ถ้าดีเอสไอจะสอบสัญญาที่มีบริษัทเก็บไว้เองกับที่สรรพากร เราจะเรียกหน่วยงานเหล่านี้มา”รมว.ยุติธรรมกล่าว และว่า แม้จะมีการบอกว่าบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้น จึงต้องทำตรงไปตรงมารอบคอบ ต้องดูไปถึงบริษัทที่ควบคุมงานหรือไม่ที่ปล่อยให้เกิดเหตุครั้งนี้ บริษัทที่เขียนแบบการก่อสร้าง
แฉวิศวกรใช้วีซ่านักท่องเที่ยว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อมูลว่าบริษัทดังกล่าวได้งานก่อสร้างตึกของภาครัฐกว่า 10 แห่ง นอกเหนือจากตึก สตง. รมว.ยุติธรรมกล่าวว่า ดีเอสไอมีข้อมูลมากอยู่แล้ว เมื่อสอบสวนก็ต้องรวบรวมพยานหลักฐานและประวัติต่างๆ ทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับบริษัท พฤติกรรม นิสัยของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งเป็นไปตามหลักการสอบสวนโดยปกติทั่วไป ส่วนการสอบสวนจะขยายไปยังบริษัทที่ร่วมประมูลงานที่อาจสมยอมแข่งขันราคาหรือไม่นั้น เป็นความผิดท้าย พ.ร.บ.คดีพิเศษ ซึ่งจะมีเกณฑ์ทางวิชาการว่าถ้าบริษัทสมยอมกัน กับไม่สมยอมจะมีราคาต่างกันอย่างไร บางครั้งราคาต่างกันมากก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้ทำความผิด แต่อาจไปใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งมีทั้งสมยอมหรือฮั้ว ซึ่งต้องไปตรวจเนื้องานว่าได้มาตรฐานหรือไม่ด้วย นอกจากนี้ จะตรวจสอบรวมถึงเรื่องวิศวกรที่มีข้อมูลว่าใช้วีซ่าของนักท่องเที่ยวเข้ามาทำงานด้วย
พ.ต.อ.ทวียังยืนยันว่า ไม่หนักใจที่ต้องสอบบริษัทดังกล่าว ที่เป็นวิสาหกิจของจีน เพราะความยุติธรรมไม่ได้ดูคนใหญ่คนโตคนหนึ่ง คนมีศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์เท่ากัน ต้องได้รับความคุ้มครอง
เปิดคำสั่งตั้งกก.สอบนอมินี
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีพ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ใช้อำนาจอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับคดีนอมินี บจก.ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 บริษัทผู้ก่อสร้างที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (อาคาร สตง.) แห่งใหม่ ความสูง 30 ชั้นถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว เป็นคดีพิเศษที่ 32/2568 ตามความผิด พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 นั้น วันนี้ (2 เมษายน) อธิบดีดีเอสไอลงนามคำสั่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ มีเนื้อหาโดยสรุปว่า การสอบสวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสตง. ที่อาจมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ อาจเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 7 และมาตรา 8 และอาจมีพฤติการณ์เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 36 และมาตรา 37 เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง(1) แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 เพื่อให้การสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ จึงแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ดังนี้ 1.ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนมีรองหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวน รวมทั้งหมด 36 คน
กก.สอบตึกถล่มถกนัดแรก3เมย.
พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบ สวนคดีพิเศษ ให้สัมภาษณ์กรณีรับเหตุอาคารสตง.ถล่มเป็นคดีพิเศษที่ 32/2568 ว่า การตรวจสอบพบพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องความผิดทางอาญาที่อยู่ในอำนาจของดีเอสไอ มีอย่างน้อย 3 เรื่องคือ 1. ความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 กำหนดไว้ว่ามีสินทรัพย์ตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป อยู่ในอำนาจอธิบดีดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษได้ 2.ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาห กรรม พ.ศ. 2511 ว่าวัสดุต่างๆ ตรงสเปคหรือไม่ เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายคดีพิเศษ มีเกณฑ์ว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป และคาดว่าเกินกำหนด และ 3. ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (ฮั้วประมูล) หลักเกณฑ์กำหนดว่าถ้าวงเงินเสนอราคาตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป อยู่ในเงื่อนไขรับเป็นคดีพิเศษ และไม่ต้องใช้มติกคพ. โดยรับคดีความผิดนอมินีเป็นคดีพิเศษสืบสวนสอบสวนไปก่อน ส่วนความผิดอื่นสอบสวนได้ตามหลัง สำหรับคดีพิเศษเลขที่ 32/2568 มี ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีดีเอสไอ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จะประชุมวันที่ 3 เมษายนเป็นครั้งแรก
มีมูลคนไทยเป็นนอมินีถือหุ้นแทนต่างด้าว
พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวต่อว่า การรับคดีนอมินีเป็นคดีพิเศษ ชั้นนี้พบว่ามีมูล เพราะธุรกิจการก่อสร้างส่วนใหญ่นิติบุคคลจะอนุญาตให้จดทะเบียนคนต่างด้าวไม่เกินร้อยละ 49 และคนไทยร้อยละ 51 ก็ต้องพิสูจน์ว่าคนไทยเป็นนอมินีหรือถือหุ้นแทนหรือไม่ เบื้องต้นพบคนไทยสถานภาพไม่สอดคล้องกับการจะมาถือหุ้นในธุรกิจบริษัทใหญ่ได้ และยังมีหลักฐานลงนามเอกสารเซ็นสัญญากิจการร่วมค้า คนต่างด้าวดูมีอำนาจครอบงำกิจการ โดยพบว่าคนไทยกลุ่มนี้ยังถือหุ้นกับบริษัทอื่นไม่ต่ำกว่า 3 บริษัทในเครือจากทั้งหมด 13 บริษัท ต้องตรวจสอบเส้นทางการจดทะเบียน ประกอบธุรกิจ กรรมการผู้ถือหุ้น และตรวจสอบย้อนหลังเกี่ยวกับกลุ่มบริษัทที่ได้งานประมูลโครงการภาครัฐและอื่นๆ ว่าเข้าข่ายฮั้วประมูลหรือไม่ ทั้งนี้ สำนัก งานตำรวจแห่งชาติได้สืบสวนเบื้องต้นแล้ว พร้อมประสานข้อมูลร่วมกัน
พ.ต.ต.ยุทธนากล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องความผิดผลิตภัณฑ์ไม่ได้ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมจะเน้นตรวจสอบเรื่องเหล็กเป็นหลัก โดยกระทรวงอุตสาหกรรมพิสูจน์เบื้องต้นพบเหล็กบางยี่ห้อไม่ตรงสเปค ส่วนรายละเอียดอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐาน ส่วนคดีฮั้วประมูลมีความผิดหลายลักษณะ แต่หลักเกณฑ์ คือ การแข่งขันราคาไม่เป็นธรรม ต้องสืบสวนข้อเท็จจริงจากคดีนอมินีก่อน นอกจากนี้ รายละเอียดเกี่ยวกับวิศวกรก่อสร้างที่ใช้วีซ่านักศึกษา แต่กลับเข้ามาประกอบอาชีพวิศวกร ต้องตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมดส่วนจะเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ปากคำกับดีเอสไอนั้น อยู่ระหว่างการรวบรวมเอกสารที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและประสานกรมสรรพากรขอเอกสาร ก่อนกำหนดไทม์ไลน์เชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ปากคำต่อไป
ย้ำนายกฯสั่งทำข้อเท็จจริงปรากฎ
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการสอบสวนกรณีจัดซื้อจัดจ้างอาคาร สตง.ว่า จะตรวจสอบหมดทุกอย่างที่เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ทราบว่าเป็นปัญหา ตอนนี้เราทำงานประสานกันทุกส่วน กระทรวงอุตสาหกรรมจะเข้าไปตรวจสอบให้ลึกขึ้น เนื่องจากรอบแรกเป็นการตรวจสอบเฉพาะหน้าเกี่ยวกับเหล็กเส้น ซึ่งพบเหล็กเส้นไม่ได้มาตรฐาน และเข้าใจว่าเขากำลังเตรียมการเข้าไปพิสูจน์ทราบในจุดที่เป็นปัญหาทั้งหมด ส่วนตำรวจทำคดี แต่ทั้งหมดยังไม่สามารถเข้าไปในอาคารได้ อยู่แค่ภายนอก ตอนนี้ทุกฝ่ายพยายามทำเต็มที่
ผู้สื่อข่าวถามว่า บริษัทจีนที่เป็นคู่สัญญามีการรับงานของหน่วยราชการถึง 11 แห่ง ต้องรื้อสัญญามาดูด้วยหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ยังไม่อยากลงรายละเอียดตรงนี้ ตอนนี้ทุกฝ่ายกำลังทำอยู่ทุกเรื่อง เพราะนายกฯสั่งการชัดเจนว่า ต้องเอาข้อเท็จจริงออกมาให้ได้ ใครเป็นคนผิดต้องดำเนินการเต็มที่ และให้พิสูจน์ทราบโดยเร็ว ไม่ให้ทิ้งเวลาไป ซึ่งนายกฯสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ทุกระทรวงที่เกี่ยวข้องทุกเรื่องทำหน้าที่ของตัวเองเต็มที่ เรื่องนี้ต้องใช้ความเป็นวิทยาศาสตร์และใช้ความละเอียดรอบคอบ ไม่ใช่เรื่องการยื้อเวลา แต่เป็นเรื่องที่ถ้าจะสรุปต้องสรุปให้ชัดเจน สามารถเอาผิดได้ ซึ่งทุกคนกำลังหน้าที่อยู่
ปชน.เร่งรื้อเอกสารประมูลสร้างตึกสตง.
ที่รัฐสภา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะทำงานช่วยเหตุภัยพิบัติพรรคประชาชนให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าในการตรวจสอบเหตุการณ์อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ถล่มว่า หลายคนตั้งข้อสังเกตถึงขอบเขตงานประมูล การจัดซื้อจัดจ้างว่าถูกต้องตามระเบียบหรือสมเหตุสมผลหรือไม่ บริษัทที่ชนะการประมูลมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นเป็นอย่างไร มีการนำเอานอมินีที่เป็นคนไทยเข้ามาถือหุ้น โดยที่ไม่มีบทบาททางการบริหารใดๆหรือไม่ ซึ่งพอโยงไปมีข้อสังเกตว่าน่าจะเกี่ยวพันหลายเรื่องหลายคนโยงนายทหารระดับสูงยศพลเอก อาจโยงใยเกี่ยวพันกับบริษัทนี้ หรือบริษัทร่วมค้ากับบริษัทนี้ ซึ่งหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าความจริงแล้วมีบริษัทที่น่าเชื่อถือและมีประสบการณ์สร้างอาคารสูง แต่กลับไม่ชนะประมูล เหตุใดบริษัทนี้จึงชนะ โดยการตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดจะเรียกว่ารื้อค้นเอกสารกันเลย เพื่อตรวจสอบเชิงลึกแน่นอน
แฉบ.จีนเทาร่วมประมูลยึดกิจการในปท.
นายวิโรจน์กล่าวต่อว่า นอกจากตัวบริษัทตัวผู้ถือหุ้น การประกวดราคา ทีโออาร์ การควบคุมงานก่อสร้าง และที่สำคัญคือ มูลค่าสุทธิที่ไทยจะได้จากการก่อสร้างอาคารแห่งนี้เป็นเท่าไหร่กันแน่ เพราะมีการตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทที่เข้ามาประมูล ไม่ใช่แค่บริษัทนี้ แต่เป็นบริษัทที่เรียกว่าบริษัทจีนเทา ที่เข้ามายึดกิจการภายในประเทศ ถ้าชนะการประมูลหรือได้งาน วัสดุจะนำเข้ามาทั้งหมด
“เราได้เพียงค่าแรงและค่าปูน เม็ดเงินที่กระจายอยู่ในเศรษฐกิจที่ได้ประโยชน์เป็นแค่เศษเนื้อข้างเขียง หรือเป็นแค่เศษเสี้ยวเท่านั้นเอง เท่ากับว่าถ้าเรายิ่งปล่อยปะละเลยให้เป็นเช่นนี้ ยิ่งเป็นการทำลายเศรษฐกิจไทย และเป็นบ่อนทำลายผู้ประกอบกิจการคนไทย ที่ประกอบกิจการโดยสุจริต” นายวิโรจน์ กล่าว
ชี้ราคาประมูลต่ำผิดปกติ-เอี่ยวฟอกเงินหรือไม่
และว่า ต้องสืบต่อไปด้วยว่าราคาประมูลที่ต่ำขนาดนี้ เป็นเพราะศักยภาพนำเข้าวัสดุราคาถูก โดยต้องตรวจสอบว่ามีคุณภาพหรือไม่ ถ้าคิดตามหลักบัญชี ราคาที่เสนอถูกแบบผิดปกติ แบบที่กิจการสุจริตไม่สามารถทำได้ ตรงนี้ต้องตรวจสอบก่อนยังไม่ชี้ชัด แต่หากเป็นเช่นนี้ ต้องเดินไปสู่เรื่องฟอกเงินด้วย เพราะตอนนี้เราพบว่าเป็นปัญหารุนแรงมากในประเทศคือ มีมาเฟียข้ามชาติ ผู้มีอิทธิพลข้ามชาติ สุมหัวแล้วติดสินบนกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง โดยนำเงินจากกิจการทุจริตมาซื้อสินทรัพย์ที่ผลิตเป็นเงินสดออกมา เพื่อฟอกเงินจากเงินเทาเป็นเงินสะอาด แล้วป้อนคืนให้ผู้มีอิทธิพลรายนั้นได้ ตอนนี้จะเห็นว่ามีการซื้อกิจการขนส่งบ้าง ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ต ที่พัก ตนกำลังจับตาดู เพราะมีการไปซื้อคอนโดมิเนียมหรืออาคารห้องชุดราคาตั้งแต่ 8-10 ล้านบาท มาปล่อยเช่ารายวันอัตรา 900 - 1,000 บาท
อย่างไรก็ตาม นายวิโรจน์กล่าวว่า ข้อมูลตอนนี้ยังกระจัดกระจาย จะจริงหรือเท็จ โยงใยแค่ไหนต้องตรวจสอบก่อน ถ้าไปกล่าวหาเลยจะไม่เป็นธรรม ต้องดูว่าผู้ถือหุ้นของบริษัทที่มีกิจการร่วมค้าและได้งาน ถือเป็นตัวจริงหรือไม่ หรือเป็นนอมินี
ดักคอกก.สอบห้ามตัดปมฟอกเงิน
นายวิโรจน์กล่าวย้ำว่า เรื่องนี้คงต้องหารือกัน แต่ยืนยันคดีนี้เมื่อเกี่ยวพันกับผู้มีอิทธิพลข้ามชาติ มาเฟียข้ามชาติ ห้ามตัดประเด็นเรื่องการฟอกเงินเด็ดขาด และหากเราจะทำเรื่องการฟอกเงินการพัวพันกับกลุ่มอาชญากรข้ามชาติ ตนขอย้ำว่าเป็นข้อสงสัย ทางออกที่ดีที่สุดคือต้องทำเป็นคดีพิเศษให้ได้ เพราะเกินอำนาจของตำรวจที่จะเข้าไปสืบสวน ทั้งนี้ ตนขอเวลา 2-3 วันสรุปเรียบเรียงประเด็น โดยนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงค์วุฒิ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ติดตามงบประมาณสภาฯ พร้อมดึงเอกสารงบประมาณของ สตง.มาตรวจสอบ ขณะที่นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ประธานคณะ กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาฯ ก็พร้อมสอบสวนเรื่องจีนเทาและนอมินี จากนั้นจะสรุปประเด็นที่น่าสอบต่อมีอะไร
‘สถานทูตจีน’กำชับ‘บ.จีน”ทำตามกม.ไทย
ขณะที่เพจ Chinese Embassy Bangkok สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย โพสต์ข้อความว่า โฆษกสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยตอบคำถามผู้สื่อข่าว เกี่ยวกับวิสาหกิจจีนในประเทศไทยว่า รัฐบาลจีนกำชับบริษัทจีนที่ดำเนินธุรกิจในต่างประเทศมาตลอดว่าควรปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของประเทศนั้นๆอย่างเคร่งครัด รับผิดชอบต่อสังคมอย่างจริงจัง ส่วนเหตุอาคารสตง.ถล่ม ซึ่งบริษัทจีนมีส่วนร่วมนั้น เราขอแสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิต ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ จีนส่งทีมผู้เชี่ยวชาญการกู้ภัยแผ่นดินไหวและทีมอาสาสมัครกู้ภัยมาไทย เพื่อสนับสนุนงานการช่วยชีวิตและกู้ภัย พร้อมทั้งประสานบริษัทจีนในไทยจัดหาเครนขนาดใหญ่และอุปกรณ์เครื่องจักรกลอื่น เข้ามาช่วยกู้ภัย และเรียกร้องให้บริษัทจีนที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือระหว่างกระบวนการสอบหาสาเหตุของรัฐบาลไทยอย่างเต็มที่ เชื่อว่าการสอบหาสาเหตุของไทยจะนำไปสู่ข้อสรุปที่เป็นวิทยาศาสตร์และยุติธรรม
‘ไอทีดี-ซีอาร์อีซี’ยันซื้อวัสดุตามข้อกำหนด
กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซีนัมเบอร์เทน (ไทย) ผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 เมื่อคืนวันที่ 1 เมษายน ชี้แจงกรณีแผ่นดินไหวทำให้ตึกสตง.ถล่มว่า กิจการร่วมค้าฯขอแสดงความเสียใจ ได้แสดงความพร้อมเข้าร่วมปฏิบัติการกู้ภัยตั้งแต่ช่วงแรก ส่งบุคลากร อุปกรณ์สนับสนุน ช่วยบรรเทาความเสียหายให้มากที่สุด อีกทั้ง ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐวิเคราะห์ตรวจสอบสาเหตุการถล่มของอาคารอย่างเต็มที่ ดำเนินการอย่างโปร่งใสเป็นธรรม ขอยืนยันว่า การจัดซื้อวัสดุและการก่อสร้างอาคารสำนักงานดังกล่าวดำเนินการตามข้อกำหนดในสัญญาโครงการ (TOR) กฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตรฐานทางวิศวกรรม และหลักปฏิบัติทางวิศวกรรมที่ดีอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของโครงการ สำหรับวัสดุที่ใช้ในโครงการนี้ เราคัดเลือกผู้ผลิตตามข้อกำหนดทางเทคนิคที่กำหนดไว้ โดยวัสดุก่อสร้างทั้งหมดได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการตรวจรับวัสดุ และต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพอย่างเข้มงวดก่อนนำเข้าพื้นที่ก่อสร้างทุกครั้ง ขอร้องจากทุกฝ่ายให้อดทนรอผลการตรวจสอบทางวิศวกรรมอย่างเป็นทางการ เพื่อให้สรุปข้อเท็จจริงและหาสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ได้อย่างชัดเจน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี