ระดมเครื่องจักรหนักกรุยพื้นที่
ลุยค้นซากตึก
ยอดตายพุ่ง 15 สูญหาย 72 ราย
สั่งระงับใช้ 34 อาคารสีแดง
เยียวยารายแรก 1.7 ล้านบาท
ค้นหาหลังตึก สตง.ถล่ม เข้าสู่วันที่ 6 เจ้าหน้าที่นำเครื่องจักรหนักรวมพลังทำลายแผ่นคอนกรีต เปิดทางเข้าโซน B C D ค้นหาผู้รอดชีวิตในซากตึกถล่ม ยอดเสียชีวิตอยู่ที่ 15 ศพ “ผู้ว่าฯชัชชาติ”ชี้ภาพรวมเข้าสู่ภาวะปกติ เหลือแค่จุดตึกถล่ม ยังเร่งค้นหาผู้รอดชีวิต-รื้อถอน ย้ำให้เก็บหลักฐานแจ้งที่เขตรอการชดเชยเยียวยา กรมโยธาฯ สรุปตรวจ 3,375 อาคาร หลังเหตุแผ่นดินไหว สั่งระงับการใช้ 34 อาคาร
โครงสร้างเสียหายหนัก ส่วนเงินเยียวยาก้อนแรก 1.7ล้าน เหยื่อตึกถล่มถึงมือญาติแล้ว อีก4ราย ขอให้มีปาฏิหาริย์ ระทึกแต่เช้า!ศูนย์ราชการฯตึกAสั่นอพยพวุ่นอีกครั้ง แรงสั่นจากสะเทือน3.0จากที่เมียนมา
เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 จากกรณีเหตุอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หลังใหม่สูง 30 ชั้นถล่ม จากแผ่นดินไหว บริเวณถนนกำแพงเพชร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ทำให้ เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และติดอยู่ในซากตึกถล่ม ขณะนี้เหตุการณ์เข้าสู่วันที่ 6 ของการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ
จนท.นำเครื่องจักรหนักเร่งค้นหา
โดยเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานได้อยู่ระหว่างเร่งช่วยเหลือผู้ที่ยังมีสัญญาณชีพที่ติดค้างอยู่ใต้ซากปรักหักพังออกมาอย่างเร่งด่วน โดยมีทั้งทีมกู้ภัยทั้งไทยและต่างประเทศที่ร่วมช่วยเหลืออย่างเต็มที่
เวลา13.00น.เจ้าหน้าที่นำเครื่องจักรหนักรวมพลังทำลายแผ่นคอนกรีต เปิดทางเข้า โซน B C D อย่างต่อเนื่อง จนเริ่มเห็นเป็นช่องได้อย่างชัดเจน อำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่หน่วยค้นหาทำงานได้ง่ายขึ้น
ยอดตายอยู่15ศพ/สูญหาย71ราย
เวลา14.00น.โดยล่าสุดยอดผู้ประสบเหตุตึกสตง.ถล่ม จนถึงขณะนี้ รวม 96 ราย แบ่งเป็นผู้เสียชีวิต 15 ราย ( ชาย 8 ราย หญิง 7 ราย) และ ผู้บาดเจ็บ 9 ราย ส่วนผู้สูญหายอีก 72 ราย ซึ่งเจ้าหน้าที่เร่งเดินหน้าลุยติดตามและค้นหาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน ยังคงระดมกำลังปฏิบัติงานในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีเข้าช่วยในการค้นหาและกู้ภัยโดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และความหวังในการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตที่อาจยังติดอยู่ภายในซากอาคาร
‘ชัชชาติ’ยันยังเร่งค้นหา-รื้อถอน
ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกทม. ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมสถานการณ์เหตุแผ่นดินไหวและตึกสตง.ถล่มที่เขตจตุจักรว่าภาพรวมส่วนใหญ่เข้าสู่ภาวะปกติ เหลือจุดเดียว คือที่จตุจักรต้องเร่งดำเนินการทั้งพยายามค้นหาผู้รอดชีวิตและเริ่มทำการรื้อถอนคู่กันไป ส่วนภาพรวมอาคารส่วนใหญ่ได้รับการตรวจสอบแล้ว มีอาคารที่ห้ามเข้าในส่วนของกทม.ตรวจ2อาคารและส่วนที่ กรมโยธาธิการฯตรวจ3อาคาร อาคารที่ต้องแก้ไข ก็ได้เข้าไปช่วยดำเนินการไม่ได้มีปัญหาอะไร สำหรับการเยียวยารองผู้ว่าฯทวิดากำลังเร่งทำรายละเอียดการเยียวยาอย่างไรกลุ่มไหนบ้าง ขอให้ผู้ที่ได้รับความความเสียหายเก็บหลักฐานไว้ก่อน เพื่อไปแจ้งที่สำนักงานเขตได้ทุกเขต
ขยายอีก2วันใช้เครื่องหนักเปิดทาง
ผู้ว่า กทม.กล่าวว่า ในส่วนพื้นที่ตึกถล่ม เขตจตุจักรเข้าสู่วันที่5 เกิน 72 ชั่วโมงของช่วงวิกฤตแต่เราได้ขยายไปอีก 2 วันและเริ่มใช้เครื่องขยับชิ้นส่วนหนักมากขึ้น เมื่อคืนขยับคอนกรีตไปได้เกือบ 100 ตันและเปิดช่องทาง ให้ทีมกู้ชีพกู้ภัยเข้าไปในโพรงค้นหาผู้รอดชีวิตซึ่งยังไม่พบ มีพบผู้เสียชีวิต 10 กว่าศพ ที่ยังค้างอยู่นำออกมาไม่ได้
โดยในช่วง6โมงเย็นวันนี้จะประชุมอีกครั้ง จะเริ่มเอาเครื่องมือหนักเข้าพื้นที่ รื้อถอนด้านบน มีเครน 200ตัน 500 ตัน 600 ตัน พร้อมเข้าทำงาน การทำงานผู้ปฏิบัติงานหน้างานทุกทีม ไม่มีปัญหา ทำเป็นทีมเดียวกัน
หวังมีผู้รอด-ขอให้อดทนอีดหน่อย
ผู้ว่า กทม.ยังกล่าวถึงที่โลกออนไลน์แชร์ภาพขณะนั่งพักที่อาคารสตง.ที่ถล่มโดยกล่าวติดตลกว่า ตอนนั้นนั่งหลับอยู่ ไม่มีอะไรหรอก หลักการของตนคือไปนั่งสังเกตการณ์หน้างานจะมีประชุมทุกวันเวลา08.00น.13.00 น.และ18.00น. ร่วมกับหลายหน่วยงานและมีชาวต่างชาติที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษด้วย ในฐานะผู้นำหน่วย ต้องเข้าใจสถานการณ์และช่วยเข้าไปคุยในประเด็น ที่ไม่สามารถตัดสินใจได้
“ในหลักการต้องเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เราไปนั่งตรงนั้นเ ห็นหมดว่า ใครทำอะไร ขาดเครื่องมืออะไร ทำให้เข้าใจสถานการณ์ดีขึ้นเราก็นั่งพักบางทีเที่ยงเอาข้าวกล่อง มานั่งกิน ไม่ได้สร้างภาพ ยังคิดว่าไปถ่ายรูปหล่อๆกว่านี้ก็ไม่ได้ ตอนนั้นอาจจะหลับด้วยซ้ำไม่มีอะไร ไปสังเกตหน้างาน อย่างน้อยไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวอะไร ไม่เคยไปสั่งให้หยุดทำอะไร สังเกตปัญหาว่าเครื่องมือดูไม่น่าพอ หรือการประสานงานไม่ดี ผมไม่ได้เสียกำลังใจ เนื่องจากเป็นจุดที่ดี ลมเย็น นึกถึงว่าคนที่อยู่หากมีชีวิตรอด ก็ขอให้อดทนอีกหน่อย หวังว่าจะเป็นอย่างนั้น“ นายชัชชาติ กล่าว
เล็งของบ9ล้านตั้งเครื่องวัดดินไหว
นายชัชชาติ ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยประชุมสามัญ สมัยที่2 ครั้งที่1ประจำปี2568กรณีที่สภากรุงเทพมหานครเคยตีตกร่างงบประมาณโครงการจ้างที่ปรึกษาประเมินกำลังต้านทานแรงแผ่นดินไหวอาคารในสังกัดกรุงเทพที่งนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่ากทม.เป็นผู้เสนอ เมื่อวันที่ 11ก.ย.67ว่า คงจะมีการเสนองบประมาณอีกครั้ง เนื่องจากครั้งนั้นหลายคนอาจจะไม่ได้เห็นความสำคัญ เพราะไม่ได้มีแผ่นดินไหวขนาดนี้มานาน มุมมองอาจจะเปลี่ยนไปอาจลองเสนออีกครั้งในปีนี้หรืออาจจะเสนอในปีงบประมาณ2569หรือ ใช้งบกลางเพื่อติดตั้งเครื่องวัดแผ่นดินไหวในอาคารสูงโรงพยาบาลสังกัด กทม.8แห่งเนื่องจากเงินเพียง 9ล้านบาท
“หากเป็นไปได้อาจจะมีการขยายขอบเขตติดตั้งมากกว่า 5 โรงพยาบาล เนื่องจากเป็นประโยชน์มาก ย้อนกลับไปเมื่อเกิดเหตุรองผู้ว่าฯวิศณุ ยังส่งข้อความมาหาชวนไป ที่ตึกธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม. (ดินแดง) เนื่องจากข้อมูลออกมา ไม่มีปัญหา เทคโนโลยีสมัยนี้ไม่แพงและถูกลง สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์ได้อีก หากมีการติดในหน่วยงานสังกัดกทม.หน่วยงานราชกา และเอกชนด้วยจะมีข้อมูลและสร้างความมั่นใจได้มากขึ้น”นายชัชชาติกล่าว
ชงตั้งเครื่องวัดดินไหวบน6อาคารสูง
สำหรับโครงการดังกล่าว ที่เคยมีการเสนอจะมีการติดตั้งเครื่องวัดแผ่นดินไหว ในอาคารสูงทั้งหมด 6 อาคาร ได้แก่ อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ความสูง 37 ชั้น, อาคาร 72 พรรษาโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ความสูง 24 ชั้น, อาคารสมเด็จเจ้าพระยาตากสินมหาราช และอาคารธนบุรีศรีมาหาสมุทรของโรงพยาบาลตากสิน ความสูง 17 ชั้น และ 20 ชั้นตามลำดับ, อาคารเพชรรัตน์ของวชิรพยาบาล ความสูง 19 ชั้น และ คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ความสูง 24 ชั้น
ระทึกแต่เช้า!ตึกAศูนย์ราชการฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าช่วงเช้า ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะตึก เอ ได้มีการแจ้งเตือนจากเจ้าหน้าที่อาคารว่า อาคารเกิดเสียงลั่นและสั่งอพยพคนออกจากอาคาร ทำให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ภายในตึกรีบวิ่งออกมาข้างนอก ขณะที่ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์(ธพส.)ซึ่งเป็นส่วนบริหารศูนย์ราชการดังกล่าวได้ส่งทีมวิศวกรเข้าไปตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นการสั่นไหวของตึก ไม่กระทบโครงสร้างหลัก สอดคล้องกับก่อนหน้านี้กรมโยธาธิการและผังเมือง สภาวิศวกรได้เข้าไปตรวจสอบโครงสร้างหลักแล้ว และ ยืนยันว่าใช้งานได้เป็นปกติ
จนท.แจ้งเข้าทำงานได้ตามปกติ
จากนั้นเจ้าหน้าที่ที่ดูแลอาคารได้ประกาศเสียงตามสายระบุว่า”จากการตรวจสอบข้อมูลจากกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา มีการสั่นสะเทือน 3.0 ที่ประเทศเมียนมา เวลา 09.19 น. ไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอาคาร ขอให้ทุกท่าน สามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติ”
กรมโยธาฯสรุปตรวจ3,375อาคาร
ที่ กรมโยธาธิการและผังเมือง ถนนพระรามที่ 6 ศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว(ศรต.ยผ.) กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย แถลงว่าผลการดำเนินการในวันจันทร์ที่1เมษายน 2568 ศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว(ศรต.ยผ.) ร่วมกับสภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และวิศวกรอาสาภาคเอกชน 110 คน ดำเนินการตรวจสอบอาคารที่มีการแจ้งว่าได้รับความเสียหาย
โดยแบ่งอาคารในการตรวจสอบเป็น3 กลุ่ม คือ อาคารกลุ่มที่ 1 ได้แก่ อาคารภาครัฐ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน อาคารราชการในเขตกรุงเทพมหานคร ,อาคารกลุ่มที่ 2 ได้แก่ อาคารสูง โรงแรม คอนโดมิเนียม หอพัก ห้างสรรพสินค้าที่เป็นของภาคเอกชน และ อาคารกลุ่มที่ 3 ได้แก่ อาคารบ้านพักอาศัย ตึกแถว ห้องแถว และอาคารทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานครจะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการตรวจสอบ
สำหรับอาคารในต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้สั่งการให้โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ดำเนินการตรวจสอบอาคาร ร่วมกับวิศวกรขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่นและวิศวกรอาสาของเอกชนในพื้นที่ โดยสั่งการให้มีการตรวจสอบอาคารสาธารณะ เช่น โรงพยาบาล หรืออาคารหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้อาคาร
สั่งระงับการใช้ สีแดง 34 อาคาร
ปัจจุบันได้มีผลการตรวจสอบอาคารในส่วนจังหวัด 76 จังหวัด จำนวน 3,008 อาคาร สามารถใช้งานได้ปกติ สีเขียว จำนวน 2,796 อาคาร / มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้ สีเหลือง จำนวน 181 อาคาร / โครงสร้างมีความเสียหายอย่างหนักโดยได้สั่งให้ระงับการใช้งานอาคาร สีแดง จำนวน 31 อาคาร
สรุปผลการตรวจสอบอาคารที่มีการแจ้งว่าได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว ตั้งแต่ วันที่ 28 มีนาคม - 1 เมษายน 2568 ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด รวมทั้งสิ้น จำนวน 3,375 อาคาร สามารถใช้งานได้ปกติ (สีเขียว) จำนวน 3,130 อาคาร / มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้ (สีเหลือง) จำนวน 211 อาคาร / โครงสร้างมีความเสียหายอย่างหนัก โดยได้สั่งให้ระงับการใช้งานอาคาร (สีแดง) จำนวน 34 อาคาร
ลุ้นขอให้มีปาฏิหาริย์4ผู้สูญหาย
สำหรับคนงานก่อสร้างที่ติดอยู่ในซากตึกสตง.ที่ถล่มนั้น มีแรงงานชาวนครพนม จำนวน 5 คน ที่สูญหายภายในตึกดังกล่าว คือ1.นายจักรกฤษณ์ ศิลารักษ์ อายุ 17 ปี บ้านเลขที่ 22 หมู่ที่ 6 บ้านคำสว่าง ต.วังตามัว อ.เมืองนครพนม 2.นายบุญรอด โอทาตะวงค์ หรือหลอด อายุ 33 ปี บ้านเลขที่ 221 หมู่ที่ 6 บ้านคำสว่าง ต.วังตามัว อำเภอเมืองนครพนม 3.นายเอกชัย อินทรักษ์ อายุ 22 ปี บ้านเลขที่ 45 หมู่ 16 ตำบลสามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม 4.นายเนติพงษ์ พัฒทอง อายุ 29 ปี และ 5.น.ส.เพ็ญจมาร วงศ์ใจ อายุ 40 ปี พี่สะใภ้ของนายเอกชัย
โดยวันที่ 30 มี.ค.เจ้าหน้าที่สามารถกู้ร่างนายบุญรอดออกจากซากปรักหักพังออกมาได้หลังตรวจดีเอ็นเอตามขั้นตอนแล้วจึงส่งมอบศพให้ญาตินำไปบำเพ็ญกุศล ช่วงเย็นวันที่ 31 มี.ค.ถึงบ้านเกิดเมื่อเวลา02.30น.วันที่ 1 เม.ย. ส่วนแรงงานอีก 4 ราย แม้ความหวังจะริบหรี่ แต่ก็ภาวนาให้มีปาฏิหาริย์
เยียวยาก้อนแรก1.7ล้านเหยื่อตึกถล่ม
นางศิรัณ ธีรทัศน์ธำรงค์ ประกันสังคมจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยนางณัฐกฤตา ดาหาร แรงงานจังหวัดนครพนม และคณะลงพื้นที่ให้กำลังใจและช่วยเหลือการจัดงานฌาปนกิจศพนายบุญรอด โอทาตะวงศ์ หรือหลอด ผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติทางธรรมชาติจากตึกสตง.ถล่ม โดยนายบุญรอดเป็นผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมิได้ขาดจึงได้เงินทดแทนจากกระทรวงแรงงาน โดยเสียชีวิตขณะทำงาน
ทางกระทรวงได้ดำเนินการเยียวยาแก่ครอบครัวของผู้ประกันตน ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตึกถล่มรายดังกล่าว โดยมีพ่อและแม่คือ นายอุไร โอทาตะวงศ์ อายุ 62 ปี นางสุดา โอทาตะวงค์ อายุ 63 ปี เป็นผู้รับเงินเยียวยาก้อนแรกนี้ ซึ่งมีการชดเชยรายละประมาณ 1,731,321.20 บาท แบ่งเป็นค่าทำศพ 50,000 บาท เงินบำเหน็จชราภาพ 1,321.20 บาท และเงินทดแทนกรณีเสียชีวิต 1,680,000 บาท
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง สามารถติดต่อได้ผ่านสำนักงานแรงงานจังหวัด รวมถึงสำนักงานเขต 12 แห่งในกรุงเทพฯ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ได้รับผลกระทบและครอบครัว
‘อิ๊งค์’เยี่ยมกำลังใจศูนย์พักคอยฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา09.40 น.น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเดินทางไปที่ศูนย์พักคอยญาติผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) แห่งใหม่ถล่มเพื่อเยี่ยม ให้กำลังใจญาติผู้ประสบเหตุ โดยนายกฯได้สอบถามเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตจตุจักรเรื่องการดูแลศูนย์พักคอยญาติฯพร้อมพูดคุยสอบถามความเป็นอยู่ของญาติผู้ประสบภัยด้วยความห่วงใยว่าขอให้กินข้าวด้วย เดี๋ยวจะไม่สบาย ขณะที่ญาติผู้ประสบภัยตอบว่า กินไม่ค่อยได้ นอนไม่ค่อยหลับ
ก่อนเดินทางกลับผู้สื่อข่าวถามว่าได้พูดคุยกับญาติผู้เสียหายว่าพอใจศูนย์พักคอยหรือไม่นายกฯกล่าวว่าใช่ค่ะได้คุยกับญาติ เขาก็โอเคนะ นายกฯได้บอกว่ามาให้กำลังใจ ให้กินข้าวกินน้ำ จะได้ไม่ป่วย เรายังคงมีความหวังต่อไป ให้ดูแลตัวเอง จากนั้นนายกฯเดินทางเข้าปฎิบัติหน้าที่ที่ทำเนียบรัฐบาล
ทั้งนี้ ยังมีรายงานด้วยว่าขบวนรถยนต์ของนายกฯที่จอดรอด้านหน้าปรากฏว่าขวดน้ำซึ่งภายในบรรจุน้ำใช้แขวนป้ายในจุดดังกล่าวได้ร่วงหล่นใส่กระจกรถของนายกฯยี่ห้อ Lexus เลขทะเบียน พพ 267 กรุงเทพมหานคร บริเวณด้านหน้ากระจกทำให้กระจกมีรอยร้าวเล็กน้อย แต่ไม่มีผู้ได้รับอันตรายแต่อย่างใด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี