2 เม.ย. 2568 ศ.ดร.นฤมล นิราทร อดีตอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งสนใจศึกษาประเด็นหาบเร่แผงลอยมาอย่างยาวนาน เขียนบทความ “ทางเท้าที่เป็นได้มากกว่าทางเดิน” เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก “Narumol Nirathron” เนื้อหาดังนี้
ความพยายามในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเหตุผลอื่นๆ ทำให้ แนวคิด Mixed-use ได้รับความสนใจมากขึ้น นัยสำคัญของแนวคิดนี้ก็คือ การใช้ทรัพยากรเพื่อตอบหลายโจทย์ ซึ่งกรุงเทพมหานครทำมานานแล้ว เช่น อนุญาตให้ขายของบนทางเท้าในบางพื้นที่ แต่เมื่อการขายของบนทางเท้าขาดการคำนึงถึงความปลอดภัยและความสะดวกของผู้สัญจรที่เป็นประชาชนทั่วไป และ ผู้มีความต้องการพิเศษ ในขณะที่ชาวกรุงเทพมหานครก็ใช้ทางเท้าเพื่อการสัญจรมากขึ้นจากการระบบขนส่งสาธารณะ ความเห็นที่ว่า “ทางเท้ามีไว้เดิน” จึงได้รับการตอบรับมากขึ้น แม้กฎหมายจะมีข้อยกเว้นให้ใช้ทางเท้าเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ หากได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น (กทม.) และเจ้าพนักงานจราจร (ตำรวจ)
ในหลายประเทศ มีตัวอย่างการใช้ทางเท้าเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจนอกเหนือจากการสัญจร Los Angeles เป็นเมืองหนึ่งที่อนุญาตให้มีการขายของบนทางเท้า ข้อมูลในปี 2019 (2562) ที่ยืนยันว่าธุรกิจขนาดจิ๋วนี้สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ถึง 504 ล้านดอลลาร์ และ สร้างงานได้มากกว่า 5,000 งานในปี 2015 (2558) และที่เป็นที่กล่าวถึงเสมอก็เช่น ที่เมือง Atlanta และ New York ในสหรัฐอเมริกา ส่วนในอาเซียน ก็ที่เมือง Ho Chi Minh ใน เวียตนาม ซึ่งได้รับการกล่าวถึงมาก ในความเป็นจริง การขายของบนทางเท้าเป็นปรากฏการณ์ในเมืองใหญ่จำนวนมาก
กลุ่มที่สนับสนุนการขายของบนทางเท้าให้เหตุผลด้านโอกาสทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ สนับสนุนส่งเสริมวัฒนธรรม สร้างเสน่ห์และความมีชีวิตชีวาให้เมือง และยังเป็นการใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการเข้าถึงสินค้าบริการ โดยเฉพาะอาหาร อาจเรียกได้ว่า สร้างความมั่นคงทางอาหาร กำกับคุณภาพสินค้า และ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ซึ่งหาได้ยากขึ้นในเมืองใหญ่ ส่วนข้อโต้แย้งก็คือ ความปลอดภัย ความสวยงาม และ การเอาเปรียบธุรกิจในระบบ และการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
ประเด็นต่างๆเหล่านี้ล้วนต้องนำมาพิจารณา โดยเฉพาะในเมืองที่มีความหลากหลายเช่นกรุงเทพมหานคร ซึ่งแม้แต่ในเขตเดียวกัน ก็ยังมีความแตกต่างกันชนิดสุดขั้วได้ ไม่ว่าจะเป็นขนาดทางเท้า การตั้งบ้านเรือนของผู้คน ชุมชน บทบาทของภาคธุรกิจในพื้นที่ และที่สำคัญคือความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญคือ ผู้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ และ ผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางบวกและลบ
ดังนั้น นอกจากพิจารณาเหตุผล ต้องคิดต่อว่าจะจัดการอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะใช้พื้นที่ทางเท้าสนับสนุนการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ การให้พื้นที่บางส่วนแก่คนเปราะบาง กำหนดเพดานราคาอาหารตอบโจทย์หรือไม่ // วัฒนธรรมอะไรที่การขายสินค้าบนทางเท้าสามารถส่งเสริมได้ วัฒนธรรมอาหารหรือสินค้าวัฒนธรรมอื่นๆ // เสน่ห์และความมีชีวิตชีวาสร้างได้อย่างไร สร้างจากสินค้าที่หลากหลาย สีสรรของสินค้า อัธยาศัย ความซื่อตรงของผู้ค้า และ มิตรจิตมิตรใจระหว่างกัน // ความมั่นคงทางอาหารมาจากการกำหนดราคาหรือประเภทของสินค้า // ส่วนคุณภาพของสินค้าซึ่งมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในกรณีอาหาร มาจากการควบคุมคุณภาพ สร้างมาตรการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability เช่นในเวียตนาม)
ทั้งหมดนี้ต้องมีการจัดการทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่การสร้างความเข้าใจร่วมกัน กำหนดพื้นที่ สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น น้ำ ไฟ การกำจัดขยะ การดูแลสิ่งแวดล้อม การพัฒนาสมรรถนะผู้ค้า การสนับสนุนทุนประกอบอาชีพ สนับสนุนให้ผู้ค้า และ ชุมชนเข้าร่วมบริหารจัดการเพื่อลดภาระเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ส่วนประเด็นข้อโต้แย้ง เช่น ความปลอดภัย ความเป็นระเบียบนั้น หมายรวมถึงความปลอดภัยด้านกายภาพ การรักษาความเป็นระเบียบทั้งการตั้งแผงค้า การจัดวางสินค้า วัสดุอุปกรณ์ และอื่นๆ // การลดการเอาเปรียบผู้ค้าที่อยู่ในระบบโดยเฉพาะผู้ค้ารายย่อย อาจทำได้ด้วยการกำหนดระยะของพื้นที่การค้า (เช่น ในสหรัฐอเมริกาบางรัฐ) หรือ เราอาจจะมีวิธีการของเราเองในการจัดการ อันที่จริงมีงานวิจัยทั้งในกรุงเทพมหานครเองและต่างประเทศที่ระบุว่าผู้ค้าในระบบได้รับประโยชน์จากการที่มีผู้สัญจรมากขึ้น // การเก็บค่าธรรมเนียมผู้ค้าอย่างสมเหตุสมผลเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะลดข้อโต้แย้งเรื่องการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทั้งยังมีรายได้ส่งกลับท้องถิ่นด้วย
ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ต้องคิด ทบทวน วางแผนร่วมกัน ระหว่างหลายหน่วยงานที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง หลายเรื่องอาจยังไม่เคยมีการทำมาก่อน แนวทางเหล่านี้เชื่อมร้อย ประสานกัน ต้องมีการร่วมคิด ร่วมทำกำกับดูแลอย่างจริงจังให้เป็นไปตามระเบียบและข้อตกลง เพื่อประโยชน์ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ผู้ค้า ผู้บริโภค ผู้ใช้ทางสัญจรและประชาชน
เราจะเริ่มต้นอย่างไร? แนวทางหนึ่งคือการสร้างพื้นที่ทดลองในพื้นที่ที่มีบริบทต่างกัน ถอดบทเรียน เพื่อสร้างพื้นที่ต้นแบบ แนวทางนี้ได้รับการเสนอไว้แล้วในมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานครครั้งที่ 3 ในปี 2565 และ ได้รับการยืนยันในครั้งที่ 4 ในปี 2567
นโยบายของกรุงเทพมหานครที่ให้เริ่มต้นการบริหารจัดการหาบเร่แผงลอยใหม่ (Set Zero) โดยทบทวนจุดผ่อนผันเดิมทั้งหมด ประกาศจุดผ่อนผันชุดใหม่ภายในเดือนมิถุนายน 2568 เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะทำพื้นที่ทดลองการบริหารจัดการการใช้ทางเท้าที่ตอบโจทย์ข้างต้นภายใต้กฎเกณฑ์ชุดใหม่ที่ประกาศใช้ในปี 2567 Set Zero จึงเป็นจุดตั้งต้นของการเดินทาง หรือ Journey ที่มีความสำคัญนี้ ซึ่งหากสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิผลและยั่งยืน ก็จะเป็นผลงานชิ้นสำคัญของการบริหารจัดการที่ตอบโจทย์ในหลายมิติ รวมทั้งเป็นบทเรียนสำหรับการใช้ทางเท้าสำหรับกิจกรรมที่หลากหลายในอนาคต
ขอบคุณเรื่องจาก
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี