ส.ก. ‘พุทธิพัชร์’ ผลักดันโรงเรียนผู้สูงอายุ 50 เขต ชูเขตยานนาวาเป็นตัวอย่าง กทม.เตรียมร่างข้อบัญญัติฯ เป็นกฎหมาย หนุนให้มีครบทุกเขต
เมื่อวันที่ 2 เม.ย.68 ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร ของนายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ยานนาวา ยื่นญัตติเรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครสนับสนุนให้มีโรงเรียนผู้สูงอายุของกรุงเทพมหานคร โดยกล่าวว่า เรื่องของผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่สำคัญมากในประเทศไทย เพราะเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว แต่ กทม.เน้นให้ความสำคัญกับเด็กมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า กทม.ควรให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีคุณค่า ทั้งยังเป็นแหล่งมรดกความรู้ของคนรุ่นใหม่
ส.ก.พุทธิพัชร์ ได้ยกตัวอย่างโรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ได้การรับรองเป็นศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร ขึ้นมาเพื่อเป็นกรณีศึกษาให้เขตอื่น ๆ สามารถนำไปปรับใช้ได้ โดยโรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวาเกิดจากจิตอาสาที่รวมตัวกันก่อตั้งขึ้น มีภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สโมสรโรตารี่ และสำนักงานเขตยานนาวา เป็นต้น หลักสูตรที่ใช้กับโรงเรียนแห่งนี้ ได้รับการบูรณาการอย่างถี่ถ้วนโดยเอาหลักสูตรของสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) มาราว 30% ผนวกกับหลักสูตรของสำนักอนามัย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข และออกมาเป็นหลักสูตรการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ ระยะเวลา 240 ชั่วโมง โดยจะมีการมอบประกาศนียบัตรให้กับผู้สูงอายุที่จบหลักสูตรด้วย ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าวจะโฟกัสไปที่ 6 มิติสำคัญ ได้แก่ 1. สุขภาพและจิตใจ 2. เศรษฐกิจและอาชีพ 3. วัฒนธรรมประเพณี 4. สังคมสิ่งแวดล้อม 5. สวัสดิการ 6. เทคโนโลยีการตรวจคัดกรอง อาทิ 7 บุญมี ซึ่งจะคอยทำหน้าที่ตรวจร่างกายผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ส.ก.พุทธิพัชร์มีข้อเสนอนโยบายต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในการส่งเสริมและสนับสนุนโรงเรียนผู้สูงอายุ ทั้งหมด 6 ข้อ คือ 1.การสนับสนุนด้านงบประมาณและโครงสร้างพื้นฐาน เช่นการจัดสรรงบประมาณประจำปีเพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดตั้งและสนับสนุน ใช้ศูนย์ชุมนุมและพื้นที่สาธารณะของกทม. ปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ 2. การพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้สูงวัยในเมือง เช่นพัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์ชีวิตในเมือง อย่าง การทำธุรกรรมออนไลน์ จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพจิตและร่างกาย ส่งเสริมการเรียนรู้แบบสหวิทยาการโดยให้ผู้สูงอายุมีโอกาสเรียนรู้จากเยาวชน 3. การสนับสนุนบุคลากรและอาสาสมัครเช่น อบรมบุคลากรในโรงเรียนผู้สูงอายุให้มีทักษะด้านจิตวิทยา ส่งเสริมเครือข่ายอาสาสมัครวัยเกษียณและให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม 4. การใช้เทคโนโลยีเพื่อขยายโอกาสการเรียนรู้ เช่น พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่งเสริมการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตฟรีในโรงเรียนผู้สูงอายุและพื้นที่สาธารณะ 5. การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน เช่น บูรณาการความร่วมมือระหว่างกทม. มหาวิทยาลัยและภาคเอกชน เพื่อพัฒนาหลักสูตรที่ทันสมัยเชื่อมโยงกับองค์กรพัฒนาเอกชน (ngo) และ 6. การพัฒนาศักยภาพผู้ดำเนินงานโรงเรียนผู้สูงอายุ เช่น ส่งเสริมให้ผู้บริหารและผู้ดำเนินงานโรงเรียนผู้สูงอายุเข้ารับการอบรมเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข
ด้านนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ญัตตินี้มีความสำคัญและจะนำไปต่อยอด สิ่งที่กรุงเทพมหานครทำอยู่ตอนนี้ คือ การสนับสนุนชมรมผู้สูงอายุ โดยมีทั้งสิ้น 489 ชมรม มีสมาชิกอยู่ 40,000 คน ตนกับผู้ว่าฯ ได้ไปที่โรงเรียนเขตยานนาวาและรับรู้ถึงเจตนาที่จะพยายามผลักดันให้โรงเรียนผู้สูงอายุมีมากขึ้น ทางฝ่ายบริหารคิดว่าการที่มีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งคือ หัวใจการพัฒนาสังคม ซึ่งการให้ภาครัฐลงไปสร้างโรงเรียนคงไม่สามารถขับเคลื่อนได้เท่าที่ภาคประชาสังคม หรือภาคประชาชนลุกขึ้นมาจัดการและช่วยเหลือกันเอง
เบื้องต้น ทางกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ได้ตั้งคณะทำงานเครือข่ายโรงเรียนผู้สูงอายุกทม.ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนโรงเรียนผู้สูงอายุ โดยมีผู้ว่าฯ กทม. เป็นที่ปรึกษา มี 5 ประเด็นหลัก ดังนี้ 1.งบประมาณและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งอยากให้มีการจัดงบประมาณสนับสนุนการจัดพื้นที่สาธารณะของกทม. เป็นแหล่งเรียนรู้และเรื่องของการเดินทางการขนส่ง พอในมิตินี้ทางกรุงเทพมหานครเราจะสนับสนุน ปัจจุบันทางผู้ว่ากทม. ได้ลดหลักเกณฑ์กองทุน สปสช. ที่ปัจจุบันสามารถรวมกลุ่มเพียง 5 คนก็สามารถที่จะของบประมาณได้แล้ว ซึ่งสอบถามไปยังโรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวาก็มีหลายโครงการที่ได้ของบประมาณไปที่กองทุนนี้ที่ทางผอ.เขตเป็นคนอนุมัตินี้ด้วยตัวเอง ก็จะสนับสนุนงบประมาณจากทางกองทุนได้ก่อน 2.การพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรม ทางกรุงเทพมหานครสนับสนุนหลักสูตรโรงเรียนฝึกอาชีพหรือหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ 3.บุคลากรหรืออาสาสมัคร ทางกรุงเทพมหานครก็ได้สนับสนุน วิทยากรซึ่งทรัพยากรของโรงเรียนฝึกอาชีพ ทางสำนักวัฒนธรรมที่มีศูนย์นันทนาการก็จะเอาวิทยากรหรือบุคลากรมาช่วยตรงนี้ด้วย 4. wifi หรือการใช้เทคโนโลยี ในหลายๆ ที่จะใช้ศูนย์การเรียนรู้ดิจิตอลของทางกระทรวงดีอีที่เคยให้มา ในส่วนของตรงนี้ทางกรุงเทพมหานครจะไปลองดูว่าจะสนับสนุนตรงไหนได้บ้าง ปัจจุบันยังไม่มีตัวอินเตอร์เน็ตให้ ในส่วนของการสนับสนุนด้านพื้นที่คือ การให้ใช้ศูนย์กีฬา หรือศูนย์นันทนาการของเรา ซึ่งตรงนั้นก็จะมีอินเตอร์เน็ตและเรื่องของสถานที่อยู่ และ 5.ความร่วมมือของรัฐและเอกชน อาจจะเป็นการสร้างการมีส่วนร่วม และเอาเอกชนหลายคนที่อยากจะสนับสนุนงานด้านผู้สูงอายุมาช่วยเหลือ
ทั้ง 5 ประเด็นหลักนี้ เราจะช่วยเหลือเบื้องต้น โดยตนจะแบ่งการสนับสนุนเป็น 2 ระยะ ระยะแรก คือ ทุกสิ่งที่กทม.สามารถดำเนินการได้ในปัจจุบัน ส่วนระยะที่สอง อาจใช้แนวทางคล้ายๆ กับศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ที่กำลังร่างข้อบัญญัติ เราจะยกระดับการสนับสนุนให้เป็นข้อกฎหมาย อาจจะต้องมีการหารือกับทางสภาในอนาคต และเรายืนยันว่าจะมุ่งเน้นสนับสนุนโรงเรียนผู้สูงอายุให้ครบทั้ง 50 เขต
037
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี