ส.ก.จอมทอง เรียกร้อง กทม. ตรวจสอบอาคารสูงทั่วกรุงเทพฯ แนะกระจายอำนาจให้เขตดูแล พร้อมออกมาตรการรับรองความปลอดภัยจากแผ่นดินไหว
เมื่อวันที่ 2 เม.ย.68 ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตจอมทอง ได้ยื่นญัตติด่วนด้วยวาจา เพื่อสอบถามถึงมาตรการรับมือแผ่นดินไหว และความแข็งแรงของอาคารสูงในกรุงเทพมหานคร โดยกล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นส่งผลให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล โดยเฉพาะผู้ที่พักอาศัยในอาคารสูง ซึ่งหลายแห่งเริ่มปรากฏรอยร้าวและแตกร้าวในโครงสร้าง เน้นย้ำว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่คาดคิดว่าแผ่นดินไหวจะส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ต้องตระหนักถึงความปลอดภัยของโครงสร้างอาคาร โดยเฉพาะอาคารที่สร้างก่อนปี 2550 ซึ่งยังไม่มีข้อบังคับด้านมาตรฐานต้านแผ่นดินไหว
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ขอเสนอให้กรุงเทพมหานครมอบหมายให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต มีอำนาจในการตรวจสอบอาคารสูงภายในพื้นที่ของตน โดยให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเชิญผู้ประกอบการและวิศวกรที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมพูดคุยและดำเนินการตรวจสอบอาคาร เพื่อให้สามารถรับรองความปลอดภัยของอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
ที่ประชุมมี ส.ก.ร่วมอภิปราย ประกอบด้วย นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก.เขตทุ่งครุ แสดงความกังวลเกี่ยวกับความสามารถของอาคารในการรองรับน้ำหนักรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มขึ้น โดยระบุว่า น้ำหนักรถ EV มากกว่ารถทั่วไปประมาณ 300-500 กก. หากมีการจอดเพิ่มขึ้นในอาคารต่างๆ อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของโครงสร้าง โดยเฉพาะหากเกิดแผ่นดินไหวซ้ำขึ้นอีก ด้านนายเนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย ส.ก.เขตบึงกุ่ม อภิปรายขอบคุณทีมงานผู้ว่าฯ โรงพยาบาล และคณะทำงานหน้างานที่ทำงานได้อย่างดีและแข็งขัน อย่างไรก็ตาม เราต้องเพิ่มวิชาเรียนเรื่องการเอาตัวรอดในเหตุการณ์แผ่นดินไหวในโรงเรียนสังกัดกทม. และศูนย์เด็กเล็ก ส่วนนายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ ชี้ถึงปัญหาปฏิบัติว่า วิศวกรระดับ 3-4 ยังไม่ถึงวุฒิวิศวกร ไปเซ็นรับรองอาคารตามคำสั่งของบริหารได้หรือไม่? นอกจากนี้ พ.ร.บ.อาคารสูง กำหนดในตรวจสอบความแข็งแรงอาคารสูงทุกปี และ นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ส.ก.เขตมีนบุรี กล่าวถึง การเข้าตรวจสอบอาคารตามกฎหมายควบคุมอาคารควรทำเป็นประจำและมีการส่งรายงานการดำเนินการ โดยเห็นว่าควรจะมีเครื่องมือที่เข้ามาตรวจสอบอาคารได้ด้วยและต้องเป็นเครื่องมือที่น่าเชื่อถือ ซึ่งในปัจจุบันเครื่องมือที่มีอยู่ต้องใช้การวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง ถ้าหากมีเครื่องมือที่สามารถแปลผลได้เลยก็ควรจะทำการจัดซื้อเพื่อมาใช้งาน
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า จากการร้องเรียนใน Traffy Fondue พบว่ารอยแตกร้าวในอาคารที่เป็นรอยผนัง ยังไม่ถือว่าอันตรายถือเป็นกลุ่มสีเขียว ส่วนกลุ่มสีเหลืองเป็นกลุ่มที่มีรอยแตกร้าวแต่ยังไม่เร่งด่วน และได้ส่งคนไปตรวจแล้ว โดยได้สภาวิศวกรอาสามาช่วย และถ้าเป็นสีแดงคือรอยแตกร้าวอันตราย ก็ได้สั่งปิดใช้อาคาร 3 อาคาร การตรวจทั้งหมดเป็นการตรวจเบื้องต้นจากวิศวกร ส่วนการตรวจเชิงลึก โดยเฉพาะอาคารควบคุม 9 ประเภท มีผู้ตรวจสอบอาคารประจำปี ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมโยธาธิการและผังเมือง ประมาณ 2,600 ราย กทม. ออกคำสั่งให้มีผู้ตรวจสอบอาการเพิ่มเติมอีกครั้ง เพื่อความปลอดภัย ให้เวลาภายใน 2 สัปดาห์ แจ้งข้อมูลให้กทม. ทราบ ปัจจุบันได้รับข้อมูลประมาณ 280 อาคาร
กรณีส่งเจ้าหน้าที่เขตที่เป็นวิศวกรระดับภาคี เข้าตรวจพื้นที่อาคารเสียหาย ไม่ได้ให้เข้าไปรับรองความปลอดภัยของอาคาร แต่เข้าไปประเมินความเสียหายเบื้องต้นโดยเฉพาะด้านโครงสร้างของอาคารเท่านั้น หากไม่พบความเสียหายรุนแรงก็ถือว่าอาคารนั้นปลอดภัย เนื่องจากมีอาคารเป็นจำนวนมากไม่สามารถตรวจเองโดยละเอียดทุกอาคารได้จึงต้องมีการประเมินในแต่ละระดับและร่วมกับหน่วยงานต่างๆในการตรวจสอบ
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก หากไม่มีเครื่องตรวจวัดแรงแผ่นดินไหวที่ติดตั้งไว้ ก็อาจให้ความมั่นใจเชิงวิทยาศาสตร์แก่ประชาชนไม่ได้ จึงขอฝาก ทางสภากทม.ในอนาคต หากฝ่ายบริหารเสนอโครงการนี้เข้ามาช่วยสนับสนุนด้วย ส่วนประเด็น การที่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ก็เพื่อให้คำแนะนำในการซ่อมแซมอาคารหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ในส่วนการทำงานของเครื่องมือนั้นหากมีการอ่านค่าแล้วไม่จำเป็นต้องใช้คนแล้ว เนื่องจากต้องมีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องอาคารไปวิเคราะห์โครงสร้างอาคารก่อนแล้วจึงใส่เครื่องมือเข้าไปช่วยวัดการสั่นสะเทือนอีกครั้ง
037
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี