ส.ก.พญาไท ทวงถาม ‘วัคซีนไข้หวัดใหญ่‘ หายไปไหน! หลังผู้ป่วยพุ่ง 1.6 แสน ชี้ วัคซีนฟรียังเข้าไม่ถึงประชาชน รผว.รับไปพิจารณา
เมื่อวันที่ 2 เม.ย.68 ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2568 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกทม. ดินแดง นายพีรพล กนกวลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตพญาไท ได้มีกระทู้ถามสด เรื่อง การเตรียมการรับมือสถานการณ์การระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ของกรุงเทพมหานครว่า จากสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่กำลังระบาดรุนแรงตามรายงานของแพทย์ ซึ่งมีแนวโน้มที่ว่าในช่วงเวลา 1 ม.ค. ถึง 1 มี.ค. 2568 ประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสมมากกว่า 160,000 ราย จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มที่สูงขึ้นกว่าสถิติย้อนหลัง 5 ปี สิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนว่าประชาชนป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่จำนวนมาก แต่การเข้าถึงวัคซีนนั้น ประชาชนต้องมีเงินไปฉีดวัคซีนในราคาเข็มละ 600 ถึง 1,200 บาท จึงเรียนถามทางกรุงเทพมหานครว่ามีการเตรียมฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงไว้อย่างไร
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อที่ประชุมว่า สัดส่วนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มีจำนวนมากขึ้น โดยมีผู้ป่วยสะสม 29,769 ราย มีอัตราเพิ่มขึ้นจากค่ามัธยฐานของปีที่แล้วประมาณ 6 เท่า โดยผู้ป่วยกระจุกตัวอยู่ที่สถานพยาบาล ชุมชนแออัด รวมไปถึงโรงเรียน ทาง กทม. มีระบบเฝ้าระวังและการตรวจสอบที่เชื่อมโยงกันทั้งระบบ จะมีการส่งข้อมูลหากมีการระบายของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และจะมีกลุ่มสอบสวนโรคลงไปตรวจสอบ
ที่ผ่านมามีการแจ้งเตือนข้อมูล พบว่า กลุ่มที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนคือ เด็กที่มีอายุ 5-9 ปี ซึ่งปีที่ผ่านมาไม่ได้มีการจัดวัคซีนให้ จึงมีการกำหนดให้มีการจัดสรรเพิ่มเติม รวมทั้งประชาสัมพันธ์ความรู้ให้รับทราบ โดยกลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มเสี่ยง ซึ่งกทม.ได้รับการจัดสรรวัคซีน จำนวน 10,000 โดส และได้มีปฏิบัติการเชิงรุกเข้าไปในชุมชนในช่วงวันที่ 17 มี.ค. ถึง 20 เม.ย. 2568 กลุ่มที่ 2 คือ โครงการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในโรงเรียน เพราะจากการเก็บข้อมูลการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ พบว่า ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของเด็กในโรงเรียนได้ จึงมีการจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติม จำนวน 66,689 โดส อีกกลุ่มคือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข มีการจัดสรรวัคซีน จำนวน 18,130 โดส และคาดว่าจะได้รับการจัดสรรเพิ่มเติม จำนวน 340,000 โดส และ กรณีประชาชนทั่วไป ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง หากอยากเข้ารับวัคซีน ต้องเสียเงินเข็มละ 600-1,200 บาท และอีกกลุ่มคือ โครงการ เอไอเอ แชร์ริ่ง ที่มีการจัดสรรวัคซีนให้ จำนวน 10,000 โดส และมีการสื่อสารเรื่องไข้หวัดใหญ่ทั้งหมดในสถานศึกษา ชุมชน โดยอาสาสมัครจากสาธารณสุข
ด้าน นายพีรพล กล่าวอีกว่า เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ วัคซีน ที่ได้มาจาก สปสช. จำนวน 10,000 โดสนั้นไม่เพียงพอ และถ้ายังตั้งรับอยู่ที่ศูนย์สาธารณสุข แล้วทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้มีโรคเรื้อรัง ผู้เป็นโรคธาลัสซีเมีย ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยที่มีโรคอ้วน หรือหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มคนเหล่านี้จะเดินทางมาที่ศูนย์ฯ ไหวหรือไม่ ควรต้องปรับเปลี่ยนใหม่ โดยเสนอว่าให้มีการเดินเท้าเข้าไปในชุมชน เพื่อฉีดวัคซีนให้ผู้ป่วยติดเตียง เด็ก และกลุ่มเปราะบางอื่น และหากวัคซีน จำนวน 10,000 กำลังจะหมดอายุในเดือนพฤษภานี้ วัคซีนทั้งหมดนี้อยู่ที่ไหน
ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สปสช. ให้วัคซีนมาเพื่อฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง โดยสำนักอนามัยได้ทำการฉีดวัคซีน ทั้งเชิงรับ และเชิงรุก โดยจะไปสำรวจล่วงหน้าก่อนว่าในแต่ละชุมชนมีกลุ่มเสี่ยง อาทิ ผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สะดวกมารับบริการที่ศูนย์ฉีดวัคซีน จำนวนเท่าใด จากนั้น จะมีเจ้าหน้าที่ตามไปฉีดให้ถึงบ้านตามที่ร้องขอมา แต่ไม่ใช่ทุกคน โดยสามารถนำลูกหลานไปฉีดที่โรงพยาบาลได้เช่นกัน ส่วนคำถามที่ว่า วัคซีนมีเหลือทิ้งหรือเปล่า หรือฉีดไปแล้วหรือยัง ต้องบอกว่าวัคซีนเหล่านี้คือ วัคซีนตามฤดูกาล (seasonal vaccine) สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข จะส่งมาให้ในช่วงเดือนพฤษภาคม และมีการกำหนดว่าต้องฉีดให้หมดโดส ภายในเดือนสิงหาคม จากนั้น ทางสำนักอนามัย ต้องรายงานยอดกลับไปให้ สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้น นี่จึงไม่ใช่วัคซีนที่จะฉีดได้ทั้งปี หรือทุกวัน วัคซีนไข้หวัดใหญ่ต้องมีการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์เพราะจะมีการเปลี่ยนสายพันธุ์ของวัคซีนจึงเป็นเหตุผลที่ต้องฉีดเป็นช่วงฤดูกาล ก่อนการแพร่ระบาด
นายพีรพล จี้ถามต่อว่า “วัคซีนต้องฉีดตามฤดูกาล แต่จริงๆ แล้วมีวัคซีนอยู่ในมือหรือไม่ ตนได้มีการประชุมที่สำนักงานเขต ถามว่ามีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ศูนย์สาธารณสุขหรือไม่ คำตอบคือ ไม่มี สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้สงสัยว่า สรุปแล้วมีวัคซีนอยู่จริงหรือเปล่า ถ้าตนไม่ทวงถามจะมีคนออกไปสำรวจ และฉีดวัคซีนให้กับประชาชนหรือไม่ ท่านต้องดูแลประชาชนให้มากกว่านี้ ไม่ใช่ตั้งรับที่ศูนย์สาธารณสุข และรอให้ประชาชนมาหา อีก 1 คำถามคือ วัคซีน 10,000 โดส ที่จะหมดอายุในเดือนกรกฎาคม แต่ข้อมูลที่ได้รับคือ ยังมิทันจะกรกฎาคม เข้าเดือนพฤษภาคม มิถุนายน วัคซีนก็หมดอายุแล้ว จึงอยากถามว่าประชาชนได้รับวัคซีนแล้วหรือยัง คำถามต่อมาคือ เรื่องของวัคซีนที่จะได้ 200,000 กว่าโดส จะได้เมื่อไหร่ จะฉีดให้ประชาชนอย่างไร และมีแผนที่จะดำเนินการให้เสร็จเมื่อไหร่ กลุ่มเสี่ยงทุกคนถือเป็นประชาชนคนไทย ต้องดูแลประชาชนคนไทยให้มากกว่านี้ ท่านต้องหันกลับมาดูแลทุกคนให้ได้รับการฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน
รศ.ทวิดา กล่าวว่า ปกติรอบจัดสรรวัคซีนจะเป็นไปในลักษณะนี้ เช่น มีการจัดสรรวัคซีนในเดือนสิงหาคม 2567 จากนั้นจะฉีดวัคซีนให้ประชาชนให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน หรือตุลาคม 2567 โดยจะพิจารณาฉีดเป็นเชิงรุก ทั้งที่บ้านและพื้นที่ดูแล สิ่งที่ท่านสมาชิกพูด อาทิ อาจต้องมีการคิดจัดสรรวัคซีนเพิ่ม วัคซีนยังเข้าไม่ถึงกลุ่มเปราะบาง หรือเมื่อถูกถามว่าได้ฉีดวัคซีนไปหมดหรือยัง แล้วคำตอบคือไม่มี ทางกทม.ขออนุญาตรับไปพิจารณาต่อทั้งหมดที่ท่านสมาชิกกล่าว
037
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี