ประธานสภากทม. ยืนยัน ผู้ว่าฯ ของบกลางแก้ไขกรณีเหตุฉุกเฉินเร่งด่วนได้ ระยะยาวควรถอดบทเรียน ศึกษาการสร้างระบบแจ้งเตือนให้ครอบคลุม พร้อมเคร่งครัดมาตรฐานก่อสร้าง
นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เปิดเผยกรณีงบประมาณ 9 ล้านบาทที่ถูกตัด จะมีโอกาสกลับมาได้หรือไม่ ว่า ขั้นตอนการกลั่นกรองงบประมาณของสภากรุงเทพมหานคร หลังจากมีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณางบประมาณ จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ซึ่งมีบุคคลภายนอก 100 คน ร่วมเป็นกรรมการพิจารณา เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้ง กรณีนี้เมื่อคณะอนุกรรมการลงพื้นที่แล้วเห็นว่าไม่เหมาะสม เอกสารข้อมูลไม่ชัดเจน ประกอบกับ เนื้องานไม่ใช่การติดตั้งในโรงเรียน สถานศึกษาหรือสถานที่ราชการ ครอบคลุมทั่วกรุงเทพมหานคร งบประมาณกว่า 40% เป็นค่าใช้จ่ายจ้างที่ปรึกษา จึงสรุปข้อมูลชุดนี้ และนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯเพื่อพิจารณา และโหวต ซึ่งก็มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 2 – 3 ท่านขอสงวนคำแปร คือการเห็นต่าง เพื่อนำไปอภิปรายในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร เพื่อโหวต วาระ 2 และ 3 สุดท้ายเมื่อที่ประชุมพิจารณาเหตุผลต่าง ๆ แล้วจึงมีมติให้ตัดงบประมาณในส่วนนี้ออกไป
“กรุงเทพมหานครแบ่งออกเป็น 4 ฝ่าย คือ สภากรุงเทพมหานคร เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารคือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฝ่ายข้าราชการ และประชาชน หน้าที่หลักของฝ่ายนิติบัญญัติ คือการเสนอข้อแนะนำ ผลักดัน ตรวจสอบการใช้เงินของฝ่ายบริหาร ทุกขั้นตอนการใช้จ่ายงบประมาณต้องผ่านการกลั่นกรองจากสภา แต่ละปีมีโครงการที่เสนอขอจัดสรรงบประมาณเป็นพันโครงการ หากพิจารณาแล้วพบว่าโครงการไม่ละเอียด ไม่ตอบโจทย์ อาจเสนอปรับ ลด ตัด ซึ่งสุดท้ายก็ต้องมาโหวต”
อย่างไรก็ตามจากนี้ไปผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสามารถเสนอโครงการนี้เข้ามาขอจัดสรรงบประมาณได้อีกครั้ง หรือใช้งบกลางที่มีอยู่ ซึ่งเงื่อนไขของการใช้งบกลางคือการใช้ในกรณีเร่งด่วน ฉุกเฉิน ซึ่งก็หมายถึงระบบเตือนภัยต่าง ๆ นี้ด้วย ในส่วนงบประมาณที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ สามารถเสนอโครงการเพื่อขอจัดสรรงบประมาณในปี 69 ได้ เชื่อว่าสภาไม่มีเหตุที่ต้องตัดงบประมาณ เพราะที่สุดแล้วต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน
“ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร ประธานสภากรุงเทพมหานครมีหน้าที่ควบคุมการประชุมให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุม ไม่สามารถก้าวล่วงการพิจารณาของสภากรุงเทพมหานครได้ สำหรับแนวทางรับมือเรื่องนี้ในระยะสั้น หากประชาชนพบเจอรอยแตกร้าวสามารถแจ้งผ่าน Traffy Fondue หรือขอรับคำปรึกษาโดยติดต่อผ่านศูนย์ “รวมใจวิศวกรอาสาอุเทนถวาย” หมายเลขโทรศัพท์ : 098-6455055, 093-5384654 เพื่อให้คณะวิศวกรอาสาพิจารณา ให้คำปรึกษาเบื้องต้นและออกผลการตรวจสอบ ส่วนระยะยาวต้องถอดบทเรียนและศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้กรุงเทพมหานครมีระบบแจ้งเตือนให้ครอบคลุม รวมถึงกรุงเทพมหานครต้องเคร่งครัดเรื่องการก่อสร้าง การขออนุญาต ตลอดจนการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ” ประธานสภากทม.
036
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี