"ทวี"นำทีม"ดีเอสไอ" ประชุมคดีนอมินี บ.ไชน่าเรลเวย์ฯ "รองอธิบดีดีเอสไอ"เผยปมตึก สตง.ถล่ม พบความเชื่อมโยงบริษัทฯ รับงานโครงการรัฐ 29 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 22,000 ล้านบาท พร้อมเปิดแผนประทุษกรรมฟันงาน บีบราคาต่ำกว่า ยอมขาดทุนเพื่อสะสมผลงาน แย้มมี 11 รายชื่อกิจการร่วมค้า ย้ำต้องตรวจสอบทั้งหมด ขณะที่ภรรยา"ประจวบ"หนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ บอกสามีได้เงินเดือนแค่หมื่นกว่าบาท แย้มสัปดาห์หน้าร่อนหมายเรียกพยานกลุ่มแรกไขปมนอมินี ส่วนอีก 2 กรรมการชาวไทย"โสภณ-มานัส"อยู่ระหว่างติดตามตัวมาสอบปากคำ
เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 ที่อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ได้เดินทางมาเป็นประธานในที่ประชุม พร้อมด้วย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ , ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ รวมทั้งสิ้น 36 ราย นำโดย พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค , พ.ต.ท.อมร หงษ์ศรีทอง ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ในฐานะรองหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ร่วมกันประชุมคดีพิเศษภายหลังจากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับคดีนอมินี บ.ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ก่อสร้างที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (อาคาร สตง.) แห่งใหม่ ความสูง 30 ชั้น ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว เป็นคดีพิเศษที่ 32/2568 ตามความผิด พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 นั้น
โดย พ.ต.อ.ทวี เปิดเผยว่า คดีนี้เป็นที่สนใจของประชาชนและต้องการความยุติธรรม ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะอ้างว่าแผ่นดินไหวแต่บนพื้นที่ 320 ล้านไร่ ในประเทศไทย พบว่าเกิดขึ้นเพียงที่ดินก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ พื้นที่เพียง 11 ไร่เท่านั้น ขณะนี้มีผู้เสียชีวิต 15 ราย และมีผู้ประสบเหตุ จำนวน 103 ราย ซึ่งต้องเร่งให้การช่วยเหลือ ถ้ายังมีชีวิตอยู่แม้จะมีหนทางไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม แนวทางการสอบสวนของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจำเป็นจะต้องมีพยานหลักฐาน และพยานบุคคลที่มีชีวิตอยู่ก็ต้องไปสอบสวน รวมถึงพยานวัตถุว่าอะไรเป็นสาเหตุของอาคารถล่มจนมีผู้เสียชีวิต หากปล่อยให้อาคารชำรุดไปเลยก็จะโยนความผิดเพราะหาหลักฐานไม่ได้ และวัสดุอุปกรณ์เป็นยี่ห้อใดถือเป็นพยานวัตถุต้องประสานผู้รับผิดชอบ
"ดีเอสไอมีการแต่งตั้งบุคคลที่มีประสิทธิภาพในหลายๆ เรื่อง เช่น คนที่ควบคุมการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและการประกอบธุรกิจบุคคลต่างด้าว คือ กระทรวงพาณิชย์ แต่พอเป็นกิจการร่วมค้า กระทรวงพาณิชย์กลับไม่มีทะเบียน อ้างว่าไม่ใช่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแพ่ง และหน่วยงานที่มารับผิดชอบมาเป็นกรมสรรพากร เพราะต้องมีการมาเสียภาษี ซึ่งไม่มีหน่วยงานโดยตรงที่รับผิดชอบเรื่องทะเบียนตรงนี้ จึงอยากให้ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบ รวมทั้งอยากให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษไปตรวจสอบกรณีมี 11 บริษัทที่เป็นคนไทย ได้งานมาทั้งหมด 29 โครงการได้อย่างไร ซึ่งควรดูว่าจะเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงินหรือไม่ แต่ถ้าพบความผิดการทุจริตในเนื้องานจะส่งต่อ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อ
ด้าน พ.ต.ต.ยุทธนา เผยว่า นอกจากความผิดคดีนอมินีที่ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ ก็ยังมีความผิดอื่นพิจารณาควบคู่ไปด้วย คือ ความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) ซึ่งความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 (นอมินี) โดยจะต้องดูว่าในส่วนคนไทยที่ไปถือหุ้นนั้น ต้องพิสูจน์ว่าเป็นการถือหุ้นโดยอำพรางหรือไม่ ทั้งนี้ จากรายงานการตรวจสอบเบื้องต้น พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้มีการไปตรวจสอบยังบ้านพักของนายประจวบ (สงวนนามสกุล) ที่ อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด แต่ไม่พบตัว พบเพียงภรรยา ซึ่งได้ให้ข้อมูลว่า นายประจวบ ทำงานรับจ้างเกี่ยวกับการก่อสร้าง ได้เงินเดือนประมาณหมื่นกว่าบาทเท่านั้น อีกทั้งนายประจวบ กลับมาถึงบ้านก็ไม่ได้พูดคุยถึงเรื่องตึก สตง.ถล่มให้ฟัง ก่อนจะออกจากบ้านไปแล้ว 2 - 3 วันก่อนหน้านี้ โดยไม่ได้แจ้งภรรยาว่าออกไปที่ไหนอย่างไร ซึ่งเราดูแนวโน้มเบื้องต้น ไม่สอดคล้องกับการที่เขาไปถือหุ้นในนิติบุคคลหลายๆ แห่ง นี่จึงเป็นสิ่งบ่งชี้ที่น่าเชื่อได้ว่าเป็นการถือหุ้นอำพราง หรือนอมินี นอกจากนี้ ในกรณีกรรมการผู้ถือหุ้นชาวไทยอีก 2 รายที่เหลือ คือ นายโสภณ และนายมานัส เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างติดตามตัวเช่นเดียวกัน
พ.ต.ต.ยุทธนา เผยอีกว่า คณะพนักงานสอบสวนยังได้มีการจัดทำโครงสร้างรายชื่อกิจการร่วมค้าที่ บ.ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้มีการไปเข้าร่วมกับนิติบุคคลหลายแห่ง แต่ในช่วงแรกเราจะโฟกัสไปที่กิจการร่วมค้าที่ไปร่วมกับ บ.อิตาเลียนไทยดีเวลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ชนะในการแข่งขันราคาในกรณีการก่อสร้างตึก สตง.ส่วนนี้พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน
พ.ต.ต.ยุทธนา เผยต่อว่า ส่วนสัญญาที่บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมค้า และได้รับงานจากภาครัฐ ตั้งแต่ปี 2562 - 2567 จำนวน 29 สัญญา คณะพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการตรวจสอบเช่นเดียวกัน เพราะตอนนี้เรายังโฟกัสที่คดีนอมินีเป็นหลักก่อน นอกจากนี้ หากย้อนไปดูในส่วนของ 11 รายชื่อกิจการร่วมค้าของ บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ จะพบว่าหลายที่ก็ยังไม่ได้เกิดเหตุใดๆ ยังปกติอยู่ ดังนั้น เราจึงไปดูในส่วนของ "กิจการร่วมค้า ไอทีดี ซีอาร์อีซี" เป็นหลักก่อน
ส่วนการที่เอกสารบริษัทล่องหน หรือมีการขนย้ายนั้น พ.ต.ต.ยุทธนา เผยว่า ตอนนี้พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการอย่างเร็วที่สุด เพราะเราก็มีอำนาจในการที่จะประสานติดตามพยานหลักฐานต่างๆ โดยเรามั่นใจว่าจะได้เอกสารสำคัญมาแน่นอน ส่วนกรณีที่มีรายงานข้อมูลว่าบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ เข้าไปเกี่ยวข้องกับบริษัทธุรกิจยางแห่งหนึ่งนั้น ขณะนี้ดีเอสไอยังไม่มีข้อมูลดังกล่าวแต่อย่างใด
พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด (Xin Ke Yuan Co., Ltd.) นั้น ดีเอสไอจะตรวจสอบถึงประเด็นที่เขาเป็นผู้จำหน่ายเหล็กให้กับบริษัทที่เกิดเหตุ เนื่องจากทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ไปตรวจสอบแล้วพบว่ามีสินค้าบางรายการที่ไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ส่วนเรื่องฝุ่นแดงของเหล็ก ทราบว่าเป็นความผิดเกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษีปลอม และเป็นเรื่องของมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเอสไออาจต้องไปดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันทราบว่าที่ทำการของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ มีการใช้ที่อยู่เดียวกันในหลากหลายที่ อย่างสถานที่อาคารภายในซอยพุทธบูชา 44 แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กทม.เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบพบว่า นอกจากบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ จะใช้สถานที่นี้เป็นสำนักงานแล้ว ก็ยังมีอีก 4 - 5 นิติบุคคลที่มาใช้เป็นสำนักงานด้วยเช่นกัน สิ่งนี้เป็นข้อพิรุธที่ดีเอสไอได้รวบรวมไว้ในสำนวนการสอบสวน ส่วนปัจจุบันนี้สำนักงานที่แท้จริงของ บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ จะอยู่ที่ใดนั้น ขอให้คณะพนักงานสอบสวนไปตรวจสอบให้ครบถ้วนเพื่อความถูกต้อง ทั้งนี้ ในส่วนของเอกสารต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการตรวจยึดไว้เกี่ยวกับโครงการก่อสร้าง สตง.เราจะต้องมีการประสานเรื่องเอกสาร เพราะเมื่อเรารับเป็นคดีพิเศษแล้ว ก็จะต้องมีการโอนเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในคดีมาให้ดีเอสไอ จึงทำให้ในตอนนี้ดีเอสไอยังไม่ได้เห็นเอกสารเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างดังกล่าว
"ภายในสัปดาห์หน้า คาดว่าจะสามารถออกหมายเรียกพยานกลุ่มแรกมาสอบสวนปากคำได้ แต่ขอเวลาให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ตรวจสอบสักระยะ" อธิบดีดีเอสไอ ระบุ
ขณะที่ น.ส.กนกไรวินท์ บุรินทร์นันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบบัญชี กล่าวว่า จากการติดตามผู้ถือหุ้นชาวไทยทั้ง 3 ราย นายประจวบ , นายโสภณ และนายมานัส ซึ่งจากข้อมูลพบว่าทั้ง 3 ราย ได้มาเป็นผู้ถือหุ้นและผู้ก่อตั้ง ตั้งแต่มีการก่อตั้งนิติบุคคลเกิดขึ้น โดยกรณีของนายมานัส ในช่วงแรกของการก่อตั้งนิติบุคคล เคยถือหุ้นถึง 360,000 หุ้น แต่ได้โอนหุ้นไปให้นายโสภณ ทำให้เหลือหุ้นเพียง 0.0003 หุ้น โดยดีเอสไออยู่ระหว่างติดตามว่าการโอนหุ้นระหว่างสองคนนี้ เป็นการซื้อขายหุ้นแท้จริงหรือไม่ ประกอบกับบุคคลทั้งสามที่เป็นผู้ถือหุ้น เท่าที่ทราบในตอนนี้ยังไม่เคยประกอบอาชีพในเรื่องของการรับเหมาก่อสร้างมาก่อน แล้วเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ ทั้งยังรับงานภาครัฐ รวมไปถึงนายโสภณ ยังเข้าไปเป็นผู้บริหารงานร่วมกับชาวจีนอีกหนึ่งราย ซึ่งตอนนี้ดีเอสไออยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบเอกสารเพิ่มเติม
ส่วน ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า สำหรับพฤติการณ์การเป็นนอมินีแล้วผันตัวไปเป็นกิจการร่วมค้า เป็นการแสดงเอกสารอันเป็นเท็จเพื่อจะเข้าประมูลงานของภาครัฐหรือไม่ เพราะจากการตรวจสอบพบว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ สามารถประมูลงานของภาครัฐได้ 29 โครงการ ปัจจุบันเป็นเงินรวม 22,000 ล้านบาท ในโครงการตามสัญญา ซึ่งถ้าเราสามารถพิสูจน์ได้ทั้งหมดนั้น มันจะทำให้เห็นความชัดเจน เนื่องจากเขาได้มีการแสดงเอกสารว่าเป็นคนไทย และเป็นคนไทยที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ทางด้านการประมูลงาน แต่ได้มาร่วมค้ากับคนไทยที่มีประสบการณ์ทางด้านการประมูลงานมาก่อน โดยที่ต้องไปตรวจสอบว่าคนไทยเหล่านี้รู้เห็นเป็นใจหรือไม่ รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเราจะตรวจสอบว่าสามารถดำเนินการได้จริงหรือไม่ เอกสารกิจการร่วมค้าที่มาจากต่างประเทศจริงหรือไม่ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะพยายามค้นหาความจริงทั้งหมด เพราะท้ายสุดแล้วโครงการทั้ง 29 โครงการนี้ ล้วนได้ก่อสร้าง เพราะโครงการสุดท้าย โครงการที่ 29 พบว่าเป็นโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ - นครราชสีมา วงเงิน 9,348 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม คณะพนักงานสอบสวนขอเวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดไม่เกิน 2 เดือน เนื่องด้วยรายละเอียดค่อนข้างมีจำนวนเยอะ แต่มันจะทำให้ต่อจิ๊กซอว์ได้ว่าเหตุใดต้องเป็นต่างด้าว แล้วมาอำพรางเป็นคนไทย แล้วทำไมต้องเข้ามาเป็นกิจการร่วมค้าในประเทศไทย เหตุใดจึงไม่เข้าร่วมประมูลโครงการด้วยตัวเอง ทั้งที่กล่าวอ้างว่าเป็นคนไทย และทำไมต้องมาร่วมประมูลกับบริษัทที่มีชื่อเสียง เพื่อให้รัฐเชื่อมั่นในเรื่องของการประมูล จนมันทำให้เกิดเหตุการณ์เลวร้าย ทั้งยังเป็นอาคารก่อสร้างเพียงแห่งเดียวที่อยู่ห่างจากจุดแผ่นดินไหว และเป็นอาคารสูงที่สุดแล้วเกิดถล่มลงมา
เมื่อถามว่า พฤติการณ์ของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ที่ผ่านมา มีการยอมขาดทุนในโครงการประมูลงานภาครัฐ เพื่อที่จะสะสมผลงาน สร้างความน่าเชื่อถือ จนเข้าสู่การประมูลโครงการรัฐขนาดใหญ่ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวว่า สำหรับโครงการก่อสร้าง สตง.ราคากลางพบว่า 2,500 ล้านบาท แต่ประมูลได้ราคา 2,136 ล้านบาท ซึ่งมันอยู่ในเกณฑ์ 15% มันไม่เลยกฎเกณฑ์ที่ไทยกำหนด แต่ภาษานักก่อสร้างเรียกว่าเป็นการฟันงาน เพื่อจะบีบตัวเองลงมา ทั้งที่จริงๆ แล้ว ราคากลางของการก่อสร้างตึก สตง.มันเข้มข้นมาก ราคา 2,500 ล้านบาท ถือว่าเป็นมาตรฐานเกณฑ์ขั้นต่ำแล้ว แต่ทำไมยังดีดราคาลงมาได้ถึง 300 - 400 ล้านบาท เป็นสิ่งที่เราต้องค้นหาความจริงว่าบริษัทได้มีการนำเอาความอันเป็นเท็จ หรือแสดงข้อเท็จจริงอย่างไร ที่ทำให้รัฐหลงผิด
ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวอีกว่า สำหรับ 11 กิจการร่วมค้า ที่ได้ไปร่วมกับ บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ จะถูกตรวจสอบ สอบสวนด้วยเช่นกัน เพราะถ้าพบความผิด แล้วผิดคนเดียวก็จะเป็นเรื่องยาก พร้อมยืนยันว่า กรรมการในบริษัทอื่นๆ เหล่านี้ยังไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เพียงแสดงให้เห็นว่ามีแผนประทุษกรรมในลักษณะนี้ (ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 'ดีเอสไอ'เปิดชื่อ 29 โครงการรัฐ 'ไชน่าเรลเวย์'รับงานกว่า 2.7 หมื่นล้าน)
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี