แฉ‘ไชน่าเรลเวย์’ฮุบ29โครงการรัฐ
กวาด 2.2 หมื่นล้าน
เจอพิรุธประมูลงานภาครัฐอื้อ
พบ3กก.คนไทยเข้าข่ายนอมินี
DSIจ่อหมายเรียกพยานลอตแรก
ปรับแผนค้นหาเร่งรื้อซากอาคาร
ผู้ว่าฯกทม.ขอโทษปชช.ทำดีที่สุดแล้ว ไม่สามารถเข้าถึงจุดสัญญาณชีพที่เจอได้ ย้ำทีมกู้ภัยทำเต็มที่ทำดีที่สุดแล้ว ขุดทุกโพรงทุกซอกแล้วไม่พบผู้รอดชีวิต ปรับแผนใช้เครื่องจักรหนักรื้อถอนซากพร้อมค้นหาผู้สูญหาย คาดใช้เวลา 30-60 วัน เคลียร์ซาก 4 หมื่นตัน ด้าน “ทวี” นั่งหัวโต๊ะถกกรรมการคดีพิเศษวางกรอบสอบปมนอมินี บ.ไชนา เรลเวย์ฯรับงานสร้างตึกสตง.ที่ถล่ม พบพิรุธรับงาน 29 โครงการรัฐบีบราคาต่ำ รวมมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้าน สัปดาห์หน้าจ่อหมายเรียกพยานกลุ่มแรก พร้อมล่า 2 กก.คนไทย คาดใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน
เมื่อวันที่ 4 เมษายน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมพญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงความคืบหน้าปฏิบัติการเข้าค้นหาผู้สูญหายจากเหตุการณ์อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่กำลังก่อสร้างถล่มว่า ต้องขอโทษประชาชนด้วยที่เราไม่สามารถเข้าถึงผู้ที่คาดว่าติดอยู่ที่จุดที่พบสัญญาณชีพได้ยินเสียง หลังพยายามเข้าช่วยเหลือต่อเนื่องมาตั้งแต่ 4 ทุ่มวันที่ 2 เมษายน ทุกคนทุ่มเทมากที่จะไปให้ถึงจุดที่คาดว่าจะมีผู้ติดอยู่ ใช้เครื่องมือ กำลังคนอาสาร่วม 100 คนผลัดเปลี่ยนกันขึ้นไปขุดจนไม่มีทางขุดต่อไปได้ จนถึงเวลาเที่ยงคืน จึงสรุปว่าไม่สามารถขุดต่อไปได้ จากโพรงใหญ่ เล็กลงจนตันขุดไปจะเจอแต่เหล็ก ไม่สามารถเข้าไปยังจุดกลางและพื้นที่ระหว่างโซน c กับโซน D ได้
พบเพิ่มอีก2ร่างแต่ยังนำออกมาไม่ได้
ผู้ว่าฯกทม.กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 3 เมษายน เจ้าหน้าที่พบโพรงขนาดใหญ่ที่จุด C ด้านขวาหลังคาดเป็นโถงลิฟท์ เจ้าหน้าที่ส่งทีมเข้าไป ทำให้พบร่างผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมอีก 2 ร่าง แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถนำออกมาได้ ตลอดทั้งวันของเมื่อวาน (3 เมษายน) เจ้าหน้าที่นำเศษซากปูนตรงจุดที่พบสัญญาณต้องสงสัย ออกไปได้มากถึง 20 ตัน ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ซากปรักหักพังที่มีอยู่จากเหตุตึกสตงพังถล่ม จะมีน้ำหนักกว่า 50,000 ตัน ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการใช้เครื่องมือหนักเพิ่มขึ้น แต่เราก็ไม่หมดหวัง จะใช้วิธีช่วยชีวิตคู่ไปกับการรื้อถอนหาผู้เสียชีวิต เพื่อนำออกมาส่งพิสูจน์หลักฐาน ตรวจ DNA โดยใช้วิธีรื้อถอนมากขึ้น ก็น่าจะเปิดพื้นที่ได้มากขึ้น ที่ผ่านมาทุกจุด ทุกโพรง ทุกซอกที่เข้าได้เราเข้าไปสำรวจมาหมดแล้ว ไม่สามารถหาผู้รอดชีวิตในโพรงในซอกเหล่านี้ได้
คาดใช้เวลารื้อถอนย้ายซาก30-60วัน
ผู้ว่าฯกทม.กล่าวอีกว่าในส่วนซากปรักหักพังทั้งหมดจากการประเมินมี 15,000 ลบ.ม. หรือประมาณ 40,000 ตัน ที่เราเคลียร์ออกไปได้ไม่ถึง 5% คาดว่าจะใช้เวลารื้อย้ายประมาณ 30-60 วัน กระบวนการจากนี้เข้าระบบเดินหน้ารื้อถอน นำซากออกมา และเก็บหลักฐานบางส่วนไปตรวจสอบ ซากจะขนไปเก็บไว้ที่ของการรถไฟเตรียมไว้ 3-4 ไร่ ส่วนการจัดการซากนี้ใครจะเป็นเจ้าของ สตง. หรืออิตาเลียนไทยต้องให้ไปดูตามกฎหมาย เหล็ก 5,000 ตันมูลค่ามากอยู่
ด้านนางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานครกล่าวว่า ขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนไม่นำเสนอข้อมูลที่อาจสร้างความสับสน หลังปรากฎข้อมูลในโซเชียลมีเดียว่ามีการใช้ภาพจากประเทศเมียนมามาอ้างว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ตึก สตง.พังถล่ม ส่วนการอำนวยการสถานที่นี้ กรุงเทพมหานครจะดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนกว่าเราจะนำร่างสุดท้ายออกมาและเคลียร์บริเวณนี้ไม่ว่าจะ 30 หรือ 60 วัน เราเป็นหนึ่งเดียว และจะทำเต็มที่
ยอดตาย15-สูญหาย79ราย
ขณะที่น.ส.ทวิดา กมลเวช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครระบุว่า การทำงานของทีมจิตแพทย์แบ่งเป็น 2 ทีมตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งพบว่าขณะนี้ญาติผู้สูญหายเครียด เพราะบางครั้งพบเห็นข้อมูลข่าวปลอมจากสื่อโซเชียลมีเดีย ประกอบกับ เมื่อได้ยินเสียงเครื่องจักรหนักกลับมาทำงานทำให้หลายคนมีความหวัง แต่เมื่อผ่านมาหลายชั่วโมง เครื่องจักรหนักกลับมาทำงานอีกครั้ง ญาติก็เริ่มทำใจในส่วนหนึ่ง และเริ่มเปลี่ยนคำถาม ถ้าเสียชีวิตออกมา เขาต้องทำอย่างไร ทำให้ญาติรู้สึกมีความหวังสลับผิดหวัง
ผู้สื่อข่าวรายงานเหตุอาคาร สตง.ถล่ม ล่าสุดเพจเฟซบุ๊กกรุงเทพมหานคร รายงานยอดผู้ประสบภัยที่สูญหายเป็น 103 รายปรับจากเดิมที่ระบุอยู่ที่ 96 ราย แบ่งเป็น เสียชีวิต 15 ราย บาดเจ็บ 9 ราย ยังคงมีผู้สูญหายอีก 79 ราย เจ้าหน้าที่เร่งติดตามค้นหาอย่างต่อเนื่อง
‘เชียงใหม่’ดินไหว4ครั้งระดับ1.6-2.8
วันเดียวกัน กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า เกิดแผ่นดินไหวที่จ.เชียงใหม่ ในอ.เชียงดาว 4 ครั้ง ตั้งแต่เวลา 01.02 น. ครั้งแรกขนาด 2.8 ลึก 1 กิโลเมตร ที่ต.เมืองงาย อ.เชียงดาว ครั้งที่ 2 เวลา 01.29 น. ขนาด 1.6 ลึก 1 กิโลเมตร ที่ต.เมืองงาย อ.เชียงดาว ครั้งที่ 3 เวลา 01.46 น. ขนาด 2.4 ลึก 1 กิโลเมตร ที่ต.เมืองงาย อ.เชียงดาว และครั้งที่ 4 เวลา 04.37 น. ขนาด 2.1 ลึก 5 กิโลเมตร ที่ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว อย่างไรก็ตาม ไม่มีการรายงานของประชาชนสามารถรับรู้ถึงการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ ซึ่งเกิดในต.เมืองงาย 3 ครั้ง และต.เมืองคอง 1 ครั้ง รวมถึงยังไม่มีรายงานความเสียหาย
‘ทวี’นั่งหัวโต๊ะถกกก.คดีนอมินีนัดแรก
ส่วนกรณีพ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคดีนอมินี บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้ก่อสร้างที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (อาคาร สตง.) แห่งใหม่ ความสูง 30 ชั้น ที่เกิดถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว เป็นคดีพิเศษที่ 32/2568 ตามความผิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 36 ราย โดยมีร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดี ดีเอสไอ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน
เวลา 09.00 น.วันเดียวกัน ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีการประชุมคดีพิเศษที่ 32/2568 ครั้งที่ 1 เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางการสอบสวน โดยพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เป็นประธานการประชุม ซึ่งมีการมอบนโยบายให้คณะกรรมการคดีพิเศษว่า เรื่องนี้ถือเป็นโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ เป็นเรื่องที่เราต้องรวบรวมพยานหลักฐานและพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ผิดกฎหมายอะไรบ้าง ด้วยความที่ไม่ได้มีใครเก่งไปทั้งหมด จึงต้องใช้พยานผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้น การทำงานของพนักงานสอบสวนจึงเป็นเรื่องท้าทาย
DSIล่า3กก.คนไทยถือหุ้นในไชน่าเรลเวย์ฯ
ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานเพิ่มเติมว่า หลังอธิบดีดีเอสไอรับคดีนอมินีเป็นคดีพิเศษ โดยเฉพาะประเด็น 3 กรรมการผู้ถือหุ้นชาวไทยในบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ได้แก่ นายโสภณ ถือหุ้น 40.7997% นายประจวบ ถือหุ้น 10.2% และนายมานัส ถือหุ้น 0.0003% ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ดีเอสไอลงพื้นที่ติดตามตัวกรรมการคนไทยบางรายไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว เพื่อเตรียมเรียกสอบสวนปากคำตามขั้นตอน
หลังประชุม พ.ต.อ.ทวี พร้อมพ.ต.ต.ยุทธนา ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และ น.ส.กนกไรวินท์ บุรินทร์นันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบบัญชี ร่วมแถลงผลการประชุมคดีนอมินี บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ เบื้องต้น
ตั้งปมสอบปมจดทะเบียนกิจการร่วมค้า
โดยพ.ต.อ.ทวีเผยว่า แนวทางสอบสวนของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจำเป็นต้องมีพยานหลักฐาน และพยานบุคคลที่มีชีวิตอยู่ ก็ต้องไปสอบสวน รวมถึงพยานวัตถุว่าอะไรเป็นสาเหตุของอาคารถล่มจนมีผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ ดีเอสไอแต่งตั้งบุคคลที่มีประสิทธิภาพหลายเรื่อง เช่น คนควบคุมการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและการประกอบธุรกิจบุคคลต่างด้าวคือ กระทรวงพาณิชย์ แต่พอเป็นกิจการร่วมค้า กระทรวงพาณิชย์ กลับไม่มีทะเบียนอ้างว่าไม่ใช่นิติบุคคลตามกฏหมายแพ่ง และหน่วยงานที่มารับผิดชอบเป็นกรมสรรพากรเพราะต้องเสียภาษี ซึ่งไม่มีหน่วยงานโดยตรงที่รับผิดชอบเรื่องทะเบียน จึงอยากให้ดีเอสไอตรวจสอบ
“ส่วนการจดทะเบียนกิจการร่วมค้า บริษัทต่างชาติไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว ต้องมีคนไทยร่วมถือหุ้นร้อยละ 51 และคนต่างด้าวร้อยละ 49 จึงอยากให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษไปตรวจสอบด้วย เพราะต้องตอบคำถามสังคมได้ ส่วนพบมี 11 บริษัทที่เป็นคนไทย ได้งานมาทั้งหมด 29 โครงการได้อย่างไร จึงต้องเข้าไปตรวจสอบ เพราะอาจมีโครงการจำนวนมากกว่านี้ สำหรับผู้ที่ประกอบธุรกิจประเภทนี้อาจต้องการผลประโยชน์ ควรดูว่าจะเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงินหรือไม่ แต่ถ้าพบความผิดการทุจริตในเนื้องานจะส่งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อ”รมว.ยุติธรรมกล่าว
ล่าอีก2กรรมการผู้ถือหุ้นคนไทย
ด้านพ.ต.ต.ยุทธนากล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากความผิดคดีนอมินีที่ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษยังมีความผิดอื่นพิจารณาควบคู่ไปด้วยคือ ความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) ซึ่งความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 (นอมินี) ต้องดูในส่วนคนไทยที่ไปถือหุ้น ต้องพิสูจน์ว่าเป็นการถือหุ้นโดยอำพรางหรือไม่
ทั้งนี้ จากรายงานการตรวจสอบเบื้องต้น พนักงานสอบสวนคดีพิเศษไปตรวจสอบบ้านพักของนายประจวบ ที่อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ดแต่ไม่พบตัว พบเพียงภรรยา ซึ่งได้ให้ข้อมูลว่านายประจวบมีรายได้น้อยมาก ทำงานรับจ้างเกี่ยวกับการก่อสร้าง ได้เงินเดือนประมาณหมื่นกว่าบาทเท่านั้น อีกทั้ง นายประจวบกลับมาบ้านก็ไม่ได้คุยเรื่องตึก สตง.ถล่มให้ฟังว่าเกี่ยวข้องกับตัวเองอย่างไร ก่อนออกจากบ้านไปแต่ไม่ได้แจ้งว่าออกไปที่ไหนอย่างไร ซึ่งเราดูแนวโน้มเบื้องต้น ไม่สอดคล้องกับการที่เขาไปถือหุ้นในนิติบุคคลหลาย ๆ แห่ง นี่จึงเป็นสิ่งบ่งชี้ที่น่าเชื่อได้ว่าเป็นการถือหุ้นอำพรางหรือนอมินี นอกจากนี้ ในกรณีกรรมการผู้ถือหุ้นชาวไทยอีก 2 รายที่เหลือ คือ นายโสภณและนายมานัส เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างติดตามตัวเช่นเดียวกัน
ขยายผลสอบกิจการร่วมค้าไอทีดีฯ
พ.ต.ต.ยุทธนากล่าวอีกว่า คณะพนักงานสอบสวนยังได้จัดทำโครงสร้างรายชื่อกิจการร่วมค้าที่ บ.ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ที่ไปเข้าร่วมกับนิติบุคคลหลายแห่ง แต่ช่วงแรกเราจะโฟกัสไปที่กิจการร่วมค้าที่ไปร่วมกับบ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ชนะในการแข่งขันราคาในกรณีการก่อสร้างตึก สตง. ส่วนนี้พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน เช่นเดียวกับ ที่บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมค้าและได้รับงานจากภาครัฐตั้งแต่ปี 2562 – 2567 จำนวน 29 สัญญานั้น คณะพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ตอนนี้เราโฟกัสที่คดีนอมินีเป็นหลัก นอกจากนี้ หากย้อนดู 11 รายชื่อกิจการร่วมค้าของบ.ไชน่า เรลเวย์ฯ จะพบว่าหลายที่ยังไม่ได้เกิดเหตุใด ยังปกติอยู่ ดังนั้น เราจึงไปดูในส่วน“กิจการร่วมค้า ไอทีดี ซีอาร์อีซี“ เป็นหลักก่อน
บี้สอบซินเคอหยวนขายเหล็กให้บ.ก่อสร้าง
พ.ต.ต.ยุทธนากล่าวเสริมว่า สำหรับกรณีบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด (Xin Ke Yuan Co., Ltd.) ดีเอสไอจะตรวจสอบประเด็นที่เขาเป็นผู้จำหน่ายเหล็กให้บริษัทที่เกิดเหตุ เนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมไปตรวจสอบแล้วพบสินค้าบางรายการไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ส่วนเรื่องฝุ่นแดงของเหล็ก ทราบว่าเป็นความผิดเกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษีปลอม และเป็นเรื่องของมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเอสไออาจต้องไปดำเนินการขั้นตอนต่อไป
อาทิตย์หน้าหมายเรียกพยานกลุ่มแรกสอบ
อธิบดีดีเอสไอกล่าวว่า ปัจจุบันทราบว่าที่ทำการของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ใช้ที่อยู่เดียวกันหลายที่ อย่างสถานที่อาคารในซอยพุทธบูชา 44 แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กทม. เจ้าหน้าที่ดีเอสไอลงพื้นที่ไปตรวจสอบพบว่านอกจากบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ จะใช้สถานที่นี้เป็นสำนักงานแล้วก็ยังมีอีก 4-5 นิติบุคคลที่มาใช้เป็นสำนักงานด้วยเช่นกัน สิ่งนี้เป็นข้อพิรุธที่ดีเอสไอรวบรวมไว้ในสำนวนสอบสวน ส่วนปัจจุบัน สำนักงานที่แท้จริงของบ.ไชน่า เรลเวย์ฯ จะอยู่ที่ใดนั้น ขอให้คณะพนักงานสอบสวนไปตรวจสอบ ทั้งนี้ ในส่วนเอกสารที่ตำรวจตรวจยึดไว้เกี่ยวกับโครงการก่อสร้าง สตง. เราต้องประสานโอนมาให้ดีเอสไอ หลังเป็นคดีพิเศษแล้ว ตอนนี้ยังไม่ได้เห็นเอกสารเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างดังกล่าว
“ภายในสัปดาห์หน้า คาดว่าจะสามารถออกหมายเรียกพยานกลุ่มแรกมาสอบสวนปากคำได้ แต่ขอเวลาให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ตรวจสอบสักระยะ” อธิบดีดีเอสไอ ระบุ.
สงสัย3กก.คนไทยถือหุ้นโอนหุ้นทิพย์
ขณะที่ น.ส.กนกไรวินท์ บุรินทร์นันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบบัญชี กล่าวว่า จากการติดตามผู้ถือหุ้นชาวไทยทั้ง 3 ราย นายประจวบ นายโสภณ และนายมานัส จากข้อมูลพบว่าทั้ง 3 รายได้มาเป็นผู้ถือหุ้นและผู้ก่อตั้ง ตั้งแต่ก่อตั้งนิติบุคคลเกิดขึ้น โดยกรณีนายมานัส ช่วงแรกของการก่อตั้งนิติบุคคล เคยถือหุ้นถึง 360,000 หุ้น แต่โอนหุ้นไปให้นายโสภณทำให้เหลือหุ้นเพียง 0.0003 ดีเอสไออยู่ระหว่างติดตามว่าการโอนหุ้นระหว่างสองคนนี้ เป็นการซื้อขายหุ้นแท้จริงหรือไม่ ประกอบกับบุคคลทั้งสามที่เป็นผู้ถือหุ้น เท่าที่ทราบไม่เคยประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างมาก่อน แล้วเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ ทั้งยังรับงานภาครัฐ รวมไปถึงนายโสภณยังเข้าไปเป็นผู้บริหารงานร่วมกับชาวจีนอีกหนึ่งราย ซึ่งตอนนี้ดีเอสไออยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบเอกสารเพิ่มเติม
แฉไชน่าแรลเวย์ฯซิวงานรัฐได้29โครงการ
ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีดีเอสไอกล่าวว่า พฤติการณ์เป็นนอมินีแล้วผันตัวไปเป็นกิจการร่วมค้า เป็นการแสดงเอกสารอันเป็นเท็จ เพื่อเข้าประมูลงานของภาครัฐหรือไม่ เพราะจากการตรวจสอบ พบว่าบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ประมูลงานภาครัฐได้ 29 โครงการ ปัจจุบันเป็นเงินรวม 22,000 ล้านบาทในโครงการตามสัญญา ซึ่งถ้าเราพิสูจน์ได้ทั้งหมดทำให้เห็นความชัดเจน เนื่องจากเขาแสดงเอกสารว่าเป็นคนไทย และเป็นคนไทยที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ด้านประมูลงาน แต่มาร่วมค้ากับคนไทยที่มีประสบการณ์ด้านประมูลงานมาก่อน ต้องไปตรวจสอบว่าคนไทยเหล่านี้รู้เห็นเป็นใจหรือไม่ รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเราจะตรวจสอบว่าดำเนินการได้จริงหรือไม่ เอกสารกิจการร่วมค้าที่มาจากต่างประเทศจริงหรือไม่
ขอ2เดือนไล่ตรวจสอบข้อเท็จจริง
“จะพยายามค้นหาความจริง เพราะท้ายสุดแล้วทั้ง 29 โครงการนี้ได้ก่อสร้าง เพราะโครงการสุดท้าย โครงการที่ 29 พบว่าเป็นโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา วงเงิน 9,348 ล้านบาท แต่พนักงานสอบสวนขอเวลาตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด ไม่เกินสองเดือน เนื่องด้วยรายละเอียดค่อนข้างมาก แต่ทำให้ต่อจิ๊กซอว์ได้ว่าเหตุใดต้องเป็นต่างด้าว แล้วมาอำพรางเป็นคนไทย แล้วทำไมต้องเข้ามาเป็นกิจการร่วมค้าในไทย เหตุใดจึงไม่เข้าร่วมประมูลโครงการด้วยตัวเอง ทั้งที่อ้างเป็นคนไทย แล้วทำไมต้องมาร่วมประมูลกับบริษัทที่มีชื่อเสียง เพื่อให้รัฐเชื่อมั่นในเรื่องประมูล จนทำให้เกิดเหตุการณ์เลวร้าย ทั้งยังเป็นอาคารก่อสร้างเพียงแห่งเดียวที่อยู่ห่างจากจุดแผ่นดินไหว และเป็นอาคารสูงที่สุดแล้วเกิดถล่มลงมา” ร.ต.อ.สุรวุฒิกล่าว
ชี้บีบราคาประมูลลง400ล.หวังฟันงาน
และว่า สำหรับโครงการก่อสร้าง สตง. ราคากลางพบว่า 2,500 ล้านบาท แต่ประมูลได้ราคา 2,136 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ 15% ไม่เลยกฎเกณฑ์ที่ไทยกำหนด แต่ภาษานักก่อสร้างเรียกว่าเป็นการฟันงาน เพื่อจะบีบตัวเองลงมา ทั้งที่จริงแล้วราคากลางของการก่อสร้างตึก สตง. เข้มข้นมาก ราคา 2,500 ล้านบาท ถือเป็นมาตรฐานเกณฑ์ขั้นต่ำแล้ว แต่ทำไมยังบีบราคาลงมาได้ถึง 300-400 ล้านบาท เป็นสิ่งที่เราต้องค้นหาความจริงว่าบริษัทได้นำเอาความอันเป็นเท็จ หรือแสดงข้อเท็จจริงอย่างไรที่ทำให้รัฐหลงผิด
สำหรับ 11 กิจการร่วมค้าที่ได้ไปร่วมกับบ.ไชน่า เรลเวย์ฯ จะถูกตรวจสอบ สอบสวนด้วยเช่นกัน เพราะถ้าพบความผิด แล้วผิดคนเดียวเป็นเรื่องยาก ยืนยันว่ากรรมการในบริษัทอื่นเหล่านี้ ยังไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพียงแสดงให้เห็นว่ามีแผนประทุษกรรมลักษณะนี้
เปิด29โครงการรัฐงบ 2.7 หมื่นล. ที่ไชนาฯฟันได้
ทั้งนี้ มีรายงานว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษเข้าไปตรวจสอบข้อมูลการประมูลงานบริษัทไชน่าเรลเวย์ จดทะเบียนเป็นกิจการร่วมค้า โดยมีเจตนาประมูลโครงการภาครัฐมีถึง 11 กิจการร่วมค้า และได้ประมูลโครงการของภาครัฐไปแล้ว 29 โครงการกับกิจการร่วมค้า 12 ราย วงเงินงบประมาณ 27,803,128,433.13 บาท ดังนี้
1.อาคารพักอาศัยสูง 32 ชั้น ชุมชนดินแดงการเคหะแห่งชาติ 807 ล้าน
2.ศูนย์การเรียนรู้ พัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุ แบบครบวงจร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 563 ล้านบาท
3.หอพักนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต 129 ล้านบาท
4.เปลี่ยนระบบสายไฟฟ้า อากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินถนนอรุณอัมรินทร์-บรมราชชนนี-พรานนก การไฟฟ้านครหลวง กทม. 1,261 ล้านบาท
5.อาคารที่ทำการสภถานีตำรวจ สน.สุทธิสาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 139 ล้านบาท
6.อาคารบ้านพักส่วนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 231 ล้านบาท
7.อาคารหอพักบุคลากรทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 468 ล้านบาท
8.อาคารที่ทำการศาลแรงงานกลาง สำนักงานศาลยุติธรรม 467 ล้านบาท
9.ระบบรวบรวมน้ำเสียเพิ่มเติม ริมคลองแสนแสบ กรุงเทพมหานคร 541 ล้านบาท
10.ระบบป้องกันน้ำท่วมบริเวณโดยรอบสถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี การประปานครหลวง 372 ล้านบาท
11.วางท่อประปา และงานที่เกี่ยวข้อง การประปานครหลวง 347 ล้านบาท
12.อาคารที่ทำการศาลแพ่งมีนบรุี สำนักงานศาลยุติธรรม 782 ล้านบาท
13.อาคารที่พักหลังใหม่ ท่าอากาศนราธิวาส กรมท่าอากาศยาน 639 ล้านบาท
14.งานเสริมเสถียรภาพและป้องกันน้ำท่วมตามแนวคลองประปรา จ.ปทุมธานี 194 ล้านบาท
15.ทาวน์โฮม2ชั้น โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน จ.ภูเก็ต การเคหะแห่งชาติ 343 ล้านบาท
16.อาคารเรียนและสิ่งปลูกสร้าง ของโรงเรียนวัดอมรินทราราม กทม.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 160 ล้านบาท
17.สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 716 ล้านบาท
18.อาคารคลังพัสดุ สถาบันการแพทย์ อาคารจักรียฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 146 ล้านบาท
19.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 210 ล้านบาท 20.สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน 2,136 ล้านบาท
21.สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย 540 ล้านบาท 22.สำนักงานศาลยุติธรรม 386 ล้านบาท
23.กองทัพเรือ 179 ล้านบาท 24.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 606 ล้านบาท 25.โรงพยาบาลสงขลา 424 ล้านบาท
26.ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง 9,348 ล้านบาท 27.แขวงทางหลวงชนบทสุพรรณบุรี 9,985 ล้านบาท
28.แขวงทางหลวงชนบทสุพรรณบุรี 10,795 ล้านบา ท 29.การกีฬาแห่งประเทศไทย 608 ล้านบาท
รวมจำนวนเงินงบประมาณ 27,803,128,433.13 บาท เงินตามสัญญา 22,773,856,494.83
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี