4 เม.ย. 2568 ในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องสองรายเมื่อเดือนมิถุนายนและสิงหาคม 2567 ซึ่งมีประเด็นร้องเรียนเดียวกัน ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น (สภ. เมืองขอนแก่น) ผู้ถูกร้องที่ 1 เข้าจับกุมหญิง 9 ราย บริเวณถนนหน้าศูนย์ราชการจังหวัดขอนแก่น
จากนั้นได้นำตัวไปที่ สภ. เมืองขอนแก่น เพื่อจัดทำประวัติและบันทึกจับกุมและให้ชำระค่าปรับ โดยระบุข้อหาในใบเสร็จรับเงินว่า “เตร็ดเตร่ฯ” ทั้งที่ข้อหาดังกล่าวอยู่ในกฎหมายเก่าคือพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว และขณะเกิดเหตุพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้แล้ว โดยกำหนดให้ความผิดตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มีเพียงโทษปรับเป็นพินัยสถานเดียว
ประกอบกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (กระทรวง พม.) มีประกาศโอนอำนาจปรับเป็นพินัยตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ จากฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐในสังกัดกระทรวง พม. แล้ว ดังนั้น ผู้ร้องเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถจับกุมและลงโทษปรับในข้อหาตามมาตรา 5 นั้นได้
นอกจากนี้ ในเหตุการณ์ดังกล่าวยังปรากฏว่าสำนักข่าวท้องถิ่นของจังหวัดขอนแก่นและสำนักข่าวใหญ่แห่งหนึ่ง (ผู้ถูกร้องที่ 2 และ 3) นำเสนอข่าวการจับกุมโดยเผยแพร่คลิปวิดีโอการรายงานข่าวที่แม้จะปิดบังใบหน้าผู้ถูกจับกุม แต่เนื้อหาข่าวมีการนำเสนอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ถูกจับกุม ซึ่งสามารถระบุถึงตัวตนของผู้ถูกจับกุมได้ จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า ขณะเกิดเหตุ ความผิดตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. เมืองขอนแก่น แจ้งข้อกล่าวหานั้น คือ “เข้าติดต่อ ชักชวน แนะนำตัว ติดตามหรือรบเร้าบุคคลตามถนนหรือสาธารณสถาน หรือกระทำการดังกล่าวในที่อื่นใด เพื่อการค้าประเวณีอันเป็นการเปิดเผยและน่าอับอาย หรือเป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่สาธารณชน” ซึ่งเป็นความผิดตาม "มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539" โดยให้เสียค่าปรับรายละ 50 บาท
แต่ใบเสร็จระบุข้อกล่าวหาว่า “เตร็ดเตร่ฯ” ซึ่งการกระทำในลักษณะ “เตร็ดเตร่ฯ” เพื่อการค้าประเวณีเป็นความผิดอาญาตามมาตรา 5 (2) แห่งพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าที่มีโทษอาญาจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่กฎหมายดังกล่าวถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 พร้อมทั้งได้กำหนดความผิดอาญาเพื่อการค้าประเวณี จาก “เตร็ดเตร่ฯ” เป็นความผิดในลักษณะ “ชักชวน แนะนำตัว ติดตามฯ” ตามมาตรา 5 ซึ่งเหลือโทษปรับสถานเดียวไม่เกินหนึ่งพันบาท
ต่อมา "เมื่อเดือนตุลาคม 2565 พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ โดยกำหนดให้เปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามมาตรา 5 ในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เป็นความผิดทางพินัย" และไม่ถือว่าการปรับเป็นพินัยนั้นเป็นโทษทางอาญา และกำหนดให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายนั้น ออกประกาศกำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีอำนาจปรับเป็นพินัย
ซึ่ง "กระทรวง พม. ได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีอำนาจปรับเป็นพินัยตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 บังคับใช้เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 และเพิ่มเติมฉบับที่ 2 บังคับใช้เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวง พม. เป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัยในความผิดทางพินัย"
ด้วยเหตุนี้ กสม. จึงเห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. เมืองขอนแก่น จับกุมและควบคุมตัวหญิงทั้ง 9 ราย ไปที่สถานีตำรวจ พร้อมกับแจ้งข้อกล่าวหา ทำประวัติอาชญากร และปรับผู้ถูกจับกุม เป็นการจับกุม ควบคุมตัว และปรับโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย และการระบุข้อหาในใบเสร็จรับเงินค่าปรับว่า “เตร็ดเตร่ฯ” ยังเป็นการระบุข้อหาที่เป็นความผิดอาญาตามความในมาตรา 5 (2) แห่งพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 ซึ่งถูกยกเลิกแล้ว จึงเป็นการระบุโทษที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิด เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ส่วนกรณีการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนนั้น จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. เมืองขอนแก่น ได้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับการจับกุม คือ รูปภาพ คลิปวิดีโอ รวมถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ถูกจับกุม ให้สำนักข่าวผ่านกลุ่มไลน์ (Line) และสำนักข่าวได้รับเนื้อหาข่าวจากการประชาสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ โดยในวันเกิดเหตุไม่มีผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวผู้ถูกร้องที่ 2 และ 3 เข้าร่วมด้วย
การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจกรณีนี้ จึงขัดต่อคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 855/2548 เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 ซึ่งห้ามให้ข่าวในเรื่องที่จะเกิดความเสียหายทางชื่อเสียงหรือผลประโยชน์แก่ผู้อื่น เช่น คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ การส่งต่อข้อมูลที่สามารถระบุตัวตนของผู้ถูกจับกุมได้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรณีนี้ จึงเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัวของผู้ถูกจับกุม เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
สำหรับการนำเสนอข่าวของสำนักข่าวผู้ถูกร้องนั้น เห็นว่า สำนักข่าวผู้ถูกร้องทั้งสองแห่งได้นำเสนอข่าวผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ โดยมีเนื้อหาข่าวที่ระบุถึงชื่อจริง (ปกปิดนามสกุล) อายุ อำเภอหรือจังหวัดซึ่งเป็นภูมิลำเนาของผู้ถูกจับกุม พร้อมนำเสนอรูปภาพของผู้ถูกจับกุมที่แม้จะมีการปิดบังใบหน้า แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลที่อยู่ในเนื้อหาข่าวประกอบแล้ว อาจทำให้บุคคลทั่วไปทราบถึงตัวตนของผู้ถูกจับกุม
นอกจากนี้ การนำเสนอเนื้อหาข่าวยังระบุถึงพฤติการณ์ของผู้ถูกจับกุมในทำนองว่า มีหญิงกำลังชักชวนลูกค้าเพื่อซื้อบริการ โดยยังไม่ได้รับการตรวจสอบหรือพิสูจน์จากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัยว่าผู้ถูกจับกุมมีพฤติการณ์ที่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 5 ในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯจริงหรือไม่ จึงอาจทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจไปก่อนว่าผู้ถูกจับกุมมีการกระทำความผิดดังกล่าว
ที่นำไปสู่การถูกตีตรา เหยียดหยาม เกิดความรู้สึกอับอายต่อตนเอง ครอบครัว และมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในสังคม อันกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัวของผู้ถูกจับกุม ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ดี ภายหลังมีการร้องเรียนเกิดขึ้น สำนักข่าวผู้ถูกร้องที่ 2ได้ลบข่าวและคลิปวิดีโอข่าวดังกล่าวออกจากช่องทางออนไลน์ทั้งหมดแล้ว ส่วนผู้ถูกร้องที่ 3 ได้ปรับแก้เนื้อหาข่าวบางส่วน
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปได้ ดังนี้
(1) ให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) ร่วมกับ สภ. เมืองขอนแก่น ตรวจสอบข้อเท็จจริงการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. เมืองขอนแก่น ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยให้ สภ. เมืองขอนแก่น กำหนดแนวทางหรือกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการให้ข่าว การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์อย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัวของผู้อื่น
รวมทั้งทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัด ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปรับเป็นพินัยในความผิดทางพินัยตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ประกอบกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ให้ สภ. เมืองขอนแก่น เยียวยาผู้ถูกจับกุมที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรณีนี้ และให้จัดทำหนังสือแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมกับคืนค่าปรับและลบประวัติการกระทำความผิดของผู้ถูกจับกุมทั้ง 9 ราย ที่เกิดจากการจับกุม ควบคุมตัว และปรับโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ทั้งนี้ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น กำกับและติดตามให้ สภ. เมืองขอนแก่น ดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าวด้วย
(2) ให้สำนักข่าวผู้ถูกร้องที่ 3 ลบเนื้อหาข่าว เช่นเดียวกับผู้ถูกร้องที่ 2 หรือแก้ไขเนื้อหาข่าวในส่วนที่ระบุถึงพฤติการณ์หรือการกระทำของบุคคลในข่าวที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์การกระทำจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ รวมทั้งแก้ไขเนื้อหาข่าวในส่วนอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัวของบุคคลในข่าว และเยียวยาผู้ถูกจับกุมที่ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งให้จัดทำหนังสือแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ให้สำนักข่าวผู้ถูกร้องทั้งสองแห่งกำหนดแนวทางปฏิบัติในการนำเสนอข่าวที่ไม่ทำให้สามารถระบุถึงตัวตนหรือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ต้องหาหรือผู้กระทำความผิด โดยให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชน โดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว
(3) ให้กระทรวง พม. และ ตร.ร่วมกันกำหนดแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 เกี่ยวกับขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริง การรวบรวมพยานหลักฐาน และการแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย เมื่อพบผู้กระทำความผิดตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ ให้เหมาะสมกับการกระทำความผิด รวมทั้งกำหนดแบบฟอร์มเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว และกำหนดระยะเวลาการจัดเก็บไฟล์วิดีโอที่ได้จากการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงสั่งการกำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยในสังกัดดำเนินการตามแนวปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี