จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ซึ่งส่งผลกระทบต่ออาคารที่อยู่อาศัยและอาคารสูงทั่วประเทศ คนไทยจำนวนมากเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของที่พักอาศัย การตรวจสอบเบื้องต้นเพื่อประเมินความปลอดภัยของอาคารจึงมีความสำคัญ
ผศ.ดร.เฉลิมเกียรติ วงศ์วนิชทวี อาจารย์ประจำ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.สยาม เปิดเผยว่า แผ่นดินไหวสามารถส่งผลต่อโครงสร้างอาคารได้หลายระดับ สิ่งสำคัญคือการตรวจสอบลักษณะของรอยร้าวและประเมินว่ารอยร้าวนั้นกระทบโครงสร้างหลักของอาคารหรือไม่ โดยสามารถแบ่งรอยร้าวออกเป็นสองประเภทหลักๆ คือ ประเภทแรก รอยร้าวที่ไม่กระทบโครงสร้าง (Non-structural Cracks) มักพบในผนังอิฐฉาบปูน , ผนังเบา, ปูนฉาบ หรือฝ้าเพดาน เกิดจากการสั่นสะเทือนที่ทำให้วัสดุฉาบหรือวัสดุผนังแตกร้าว ไม่กระทบความแข็งแรงของอาคาร สามารถซ่อมแซมได้เพื่อความสวยงามและปลอดภัย
ประเภทที่สอง คือ รอยร้าวที่กระทบโครงสร้างหลัก (Structural Cracks) พบในเสา, คาน, พื้น, ผนังรับแรง หรือแกนหลักของอาคาร มักเป็นรอยร้าวที่กว้าง (มากกว่า 2-3 มม.) หรือมีการแยกตัวของคอนกรีต อาจมีเหล็กเสริมภายในโผล่ออกมา หรือรอยร้าวลึกถึงเนื้อคอนกรีต หากเกิดขึ้นที่เสาหรือคานรับน้ำหนัก อาจทำให้โครงสร้างอาคารรับแรงได้น้อยลงและเพิ่มความเสี่ยงต่อการพังถล่ม ควรให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบทันทีสำหรับคำแนะนำให้ทำการตรวจสอบเบื้องต้น หากประชาชนพบรอยร้าวในอาคารที่อยู่อาศัยของตนเอง
“แนะนำให้ทำการตรวจสอบเบื้องต้นก่อน โดยให้สังเกตจุดที่รอยร้าวเกิดขึ้นและขนาดของรอยร้าว หากพบว่ามีรอยร้าวขนาดเล็กที่เกิดบนผนังที่ไม่รับน้ำหนัก สามารถซ่อมแซมได้ แต่หากพบรอยร้าวที่เสา, คาน หรือพื้น ควรอพยพออกจากอาคารและติดต่อวิศวกรโครงสร้างเข้าตรวจสอบโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ ยังควรสังเกตว่ามีการเอียงของอาคารหรือการทรุดตัวผิดปกติหรือไม่ ถ้าพบว่าอาคารมีการเอียง หรือมีเสียงแตกร้าวที่ผิดปกติ ควรหยุดใช้งานอาคารทันทีและแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง” ” ผศ.ดร.เฉลิมเกียรติ กล่าวและว่า
สำหรับแนวทางการตรวจสอบเชิงลึกโดยผู้เชี่ยวชาญ โดย ผศ.ดร.เฉลิมเกียรติ กล่าวว่า หากพบว่ารอยร้าวอาจมีผลต่อโครงสร้าง ควรให้วิศวกรโครงสร้างเข้าตรวจสอบโดยใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น Ultrasonic Pulse Velocity หรือ Rebound Hammer เพื่อวิเคราะห์ความเสียหายภายใน นอกจากนี้ หากพบว่าต้องซ่อมแซมหรือเสริมกำลังโครงสร้าง วิศวกรจะสามารถแนะนำวิธีการที่เหมาะสมได้
“สิ่งที่สำคัญสำหรับประชาชนที่ต้องการให้ที่อยู่อาศัยปลอดภัยจากแผ่นดินไหวในอนาคต คือการออกแบบอาคารให้สามารถรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ ซึ่งอาคารที่สร้างตามมาตรฐานวิศวกรรมที่ดีมักจะมีความทนทานต่อแรงแผ่นดินไหวมากกว่า นอกจากนี้ ควรหมั่นตรวจสอบโครงสร้างอาคารเป็นระยะ และหากเกิดแผ่นดินไหวให้รีบตรวจสอบความเสียหายตามแนวทางที่กล่าวมาเพื่อความปลอดภัยของทุกคน” ผศ.ดร.เฉลิมเกียรติ วงศ์วนิชทวี กล่าวทิ้งท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี