‘สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ’ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการเปิดนำเข้าสินค้าเนื้อหมูและเครื่องใน เพื่อลดการเกินดุลการค้าสหรัฐฯ ย้ำจะกระทบอุตสาหกรรมสุกรทั้งประเทศ ทำเกษตรกรไทยหมดอาชีพ และบั่นทอนความมั่นคงทางอาหาร
6 เมษายน 2568 นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวถึง กรณีที่ปรึกษารัฐมนตรี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะเจรจาของรัฐบาลไทย ที่มีแนวคิดนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และเนื้อหมูจากสหรัฐ เพื่อลดดุลการค้า หลังสหรัฐประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย 37% โดยระบุว่า สมาคมเห็นด้วยกับการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง ข้าวสาลี และวัตถุดิบอาหารสัตว์อื่นๆ ซึ่งประเทศไทยขาดแคลน และจำเป็นต้องใช้เพิ่มมากขึ้นเมื่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์เติบโตขึ้น แต่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง กับข้อเสนอในการนำเข้าเนื้อหมู ซึ่งเป็นการทำลายอุตสาหกรรมหมูของไทย เพราะทำให้เกษตรกรไทยไม่สามารถแข่งขันได้และจำต้องเลิกอาชีพในที่สุด เมื่อนั้นจะไม่มีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีกต่อไป เกษตรกรพืชไร่จะหมดอาชีพ และ ในที่สุด ก็จะไม่มีการนำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐฯ อีก
“การเปิดรับเนื้อหมูนำเข้าจากสหรัฐฯ ไม่เพียงกระทบอย่างรุนแรงต่ออาชีพเกษตรกรตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ แต่ยังกระทบสุขอนามัยของผู้บริโภค ตลอดจนทำลายอุตสาหกรรมการผลิตหมูของไทยทั้งระบบ” นายสิทธิพันธ์ กล่าว
ทั้งนี้ ระบบการผลิตหมูในประเทศมีห่วงโซ่การผลิตที่ยาวมาก ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เช่น เกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ พ่อค้าพืชไร่ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ เกษตรกรผู้เลี้ยง โรงชำแหละ เขียง ผู้ค้าในตลาดสด รวมถึง ผู้ประกอบการแปรรูปหมู การนำเข้าหมูจะกระทบทุกขั้นตอนในห่วงโซ่การผลิต ทำลายระบบการผลิตเนื้อหมูทั้งหมด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ดังเช่นกรณีฟิลิปปินส์ที่ปล่อยให้มีการนำเข้าเนื้อหมู ทำให้เกษตรกรในประเทศไม่มีแรงจูงใจในการเลี้ยง ทยอยเลิกอาชีพและ ในที่สุดนำไปสู่การขาดแคลนเนื้อหมู ต้องอาศัยพึ่งพาการนำเข้า เกิดปัญหาหมูแพงขึ้น 15-30% กระทบชาวฟิลิปปินส์ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน มาตรฐานการผลิตเนื้อหมูของไทยมีความปลอดภัยสูงกว่าเนื้อหมูสหรัฐ เนื่องจากกฎหมายไทยไม่อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยง เนื่องจากอาจส่งผลต่อระบบหัวใจและประสาทของมนุษย์ หากได้รับในปริมาณไม่เหมาะสม ตรงกันข้ามกับสหรัฐฯ ที่อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงได้ตามกฎหมาย แม้สารเร่งเนื้อแดง จะยังเป็นที่ถกเถียงในระดับสากลถึงข้อกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของผู้บริโภค ผลกระทบต่อสัตว์ และความปลอดภัยระยะยาว แต่ก็มีหลายประเทศที่ห้ามใช้หรือห้ามนำเข้าสินค้าจากสัตว์ที่ได้รับสารนี้ เช่น สหภาพยุโรป จีน และรัสเซีย สำหรับประเทศไทยการตระหนักในความปลอดภัยของผู้บริโภคชาวไทยที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญมาโดยตลอด เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องรักษามาตรฐานนี้ต่อไป
นอกจากนี้ ประเทศไทยกำลังมีการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อหมู สู่การเป็นสินค้าเพื่อการส่งออก มีมาตรฐานความปลอดภัยที่สูง มีการยกระดับการป้องกันโรค และป้องกันปัญหาหมูเถื่อนที่สร้างหายนะให้คนเลี้ยงหมูมาแล้วในช่วงที่ผ่านมา หากมีการดำเนินการและการสนับสนุนอย่างเหมาะสม "หมูไทย" จะมีศักยภาพในการสร้างรายได้ให้ประเทศไทยอย่างมหาศาล เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมเนื้อไก่ที่ได้รับการพัฒนา จนแต่ละปีสามารถสร้างรายได้มากกว่าแสนล้านบาท โดยได้รับการยอมรับด้านคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยจากทั่วโลก
“ขอฝากถึงคณะเจรจาของรัฐบาลไทยนำโดยท่านรองนายกฯ และ รมว.คลัง นายพิชัย ชุณหวชิร ที่กำลังจะเดินทางไปเจรจากับสหรัฐฯ โปรดยกเลิกแนวคิดนำเข้าเนื้อหมู เพราะจะสร้างปัญหาตามมาอีกมหาศาล ได้ไม่คุ้มเสียแน่นอน” นายสิทธิพันธ์ กล่าว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี