ปธ.กมธ.แก้ไขปัญหาภัยแล้งฯ อดีตอธิบดีกรม ทบ.แนะกรมทรัพยากรน้ำเร่งหาแหล่งน้ำใต้ดินที่มีอยู่ 1.2 ล้านล้าน ลบม.อยู่ตรงไหน หากพบยันไม่จำเป็นต้องสร้าง เขื่อน-อ่างเก็บน้ำ ชี้ทุกวันนี้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับน้ำบาดาลจำนวนมากแต่กลับถูกนำไปขึ้นหิ้ง
7 เมษายน 2568 นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย เขต 4 ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ สภาผู้แทนราษฎร อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า วันนี้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับน้ำบาดาลจำนวนมากแต่งานวิจัยดังกล่าวกลับถูกขึ้นหิ้ง จึงต้องถามกันตรงๆ ว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นคุ้มค่า เกิดประโยชน์กับประชาชนหรือไม่ เพราะสิ่งที่น่ากังวลคือ บางโครงการทำแล้วทำอีก ทำเพื่อสักแต่ใช้เงินงบประมาณ ซึ่งเงินกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ตั้งขึ้นมาและใช้จ่ายเงินในระดับกรม จึงฝากข้อสังเกตไปว่า คณะกรรมการเวลาอนุมัติเงินจะต้องคิดพิจารณาให้รอบคอบ นี่เป็นเด็นแรก
ประเด็นถัดมา น้ำบาดาลอยู่ใต้ดิน แน่นอนว่าไม่มีใครรู้ว่าอยู่ตรงไหน แต่เรามีข้อมูลวิชาการแล้วว่า น้ำใต้ดินมีมากกว่าน้ำบนดินมหาศาล ซึ่งคาดว่าน่าจะมีมากถึง 1.2 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าน้ำผิวดินที่หมายถึงน้ำบนดินที่เราเห็นไม่ว่าจะเป็นเขื่อน สระ แม่น้ำ น่าจะมีแค่ 7 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร แต่เราไม่มีทางรู้ว่าน้ำอยู่ตรงไหน นี่คือหน้าที่ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่จะต้องไปสำรวจว่า ปริมาณน้ำจำนวนมหาศาล 1.2 ล้านล้านลูกบาศก์เมตรนี้อยู่ตรงไหนบ้าง เราต้องไม่เอาเงินนี้ไปใช้เรื่องอื่นแต่ต้องเอาเงินไปใช้กับการสำรวจหาแหล่งน้ำบาดาล ซึ่งผมไม่เคยเจอโครงการเหล่านี้เลย เพราะถ้าเราไปหาน้ำใต้ดินเหล่านี้เจอเราจะไม่ต้องไปสร้างเขื่อนสร้างอ่างเก็บน้ำอีก
“กรมทรัพยากรน้ำต้องตอบให้ได้ว่า มีน้ำใต้ดินอยู่ตรงไหน ถามท่าน ท่านก็บอกให้ไปดูแผนที่ ก็เงินจ้างเขาทำแผนที่ 2 พันล้านนั้นใช้ได้จริงไหม เจอน้ำจริงไหมหรือเจอแค่บางส่วน ดังนั้นแนวทางที่ดีที่สุดคือกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้องเจาะสำรวจเอง เรามีนักสำรวจ มีเครื่องมือ มีนักวิชาการ มีผู้เชี่ยวชาญ และเมื่อท่านขุดเจาะหาเจอน้ำใต้ดิน ท่านจะได้ทั้งน้ำและความรู้วิชาการก็จะอยู่กับท่านเองไม่ใช่ไปอยู่กับภาคเอกชนที่ไปรับจ้างขุดที่เขาเอาแต่เงินงบประมาณ” นายศักดิ์ดา กล่าว
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ กล่าวว่า ปีพ.ศ.2564 ขณะนั้นผมดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี เป็นหนึ่งในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดารมากที่สุดของประเทศไทย เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตเงาฝน ทำให้แต่ละปีมีฝนตกน้อยกว่า 800 มิลลิเมตรต่อปี
อีกทั้งพื้นดินส่วนใหญ่เป็นดินทราย พอฝนตกลงมาน้ำก็จะไหลซึมลงดินเกือบทั้งหมด ทำให้ไม่มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำห้วยในพื้นที่เลย ลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้พี่น้องชาวอำเภอห้วยกระเจา ประสบปัญหาภัยแล้งเป็นประจำทุกปี บางปีแล้งนานติดต่อกันถึง 10 เดือน ชาวบ้านจึงมีความเดือดร้อนเรื่องน้ำเป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องน้ำกินน้ำใช้และน้ำเพื่อการเพาะปลูก จนมีคนขนานนามว่าอำเภอห้วยกระเจา คือดินแดนอีสานของภาคตะวันตก ต่อมา ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันร้องขอความช่วยเหลือด้านน้ำอุปโภคบริโภค ผ่านหน่วยงานท้องถิ่น ทั้งเทศบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มายังกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เข้ามาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในอำเภอห้วยกระเจา
ขณะนั้นผมได้มอบหมายให้สำนักสำรวจและประเมินศัยภาพน้ำบาดาล จัดทีมงานเร่งเข้าดำเนินการ โดยมอบหมายให้ ส่วนวิจัยและพัฒนางานสำรวจน้ำบาดาล พร้อมทีมงานลงพื้นที่สำรวจน้ำบาดาลในทันที จากการเตรียมข้อมูลพบว่าพื้นที่อำเภอห้วยกระเจา เป็นพื้นที่หาน้ำบาดาลยาก หรือพื้นที่สีแดง ข้อมูลเดิมไม่พบการเจาะและพัฒนาน้ำบาดาลใช้มากนัก ส่วนใหญ่จะเจาะตื้นๆและปริมาณน้ำบาดาลค่อนข้างต่ำกว่า 2 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง อีกทั้งชั้นหินส่วนใหญ่เป็นหินแข็ง จำพวกหินแปร และหินอัคนี จึงทำให้เจาะยาก
แต่จากการลงพื้นที่สำรวจในภาคสนามอย่างเข้มข้นเป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์ สามารถสำรวจพบแนวรอยแตกที่ซ่อนอยู่ข้างล่างในชั้นหินแปร จำพวกหินควอตซ์ไซต์ ซึ่งแนวรอยแตกดังกล่าวมีโครงสร้างคล้ายเส้นท่อขนาดใหญ่ที่ไขว้กันไปมาในหลายระดับความลึกและมีความกว้างประมาณ 2 กิโลเมตร ยาวมากกว่า 25 กิโลเมตร
นอกจากนี้ ได้ทำการสำรวจธรณีฟิสิกส์ โดยวิธีการวัดค่าความต้านทานไฟฟ้าจำเพาะ (Resistivity survey) พบว่า แนวรอยแตกดังกล่าวมีหลายระดับตั้งแต่ 30, 50, 70, 90, 120, 175 และมากกว่า 250 เมตร ตามลำดับ ผลการคำนวณหาปริมาณการกักเก็บของแหล่งน้ำบาดาลในอำเภอห้วยกระเจา พบว่า มีปริมาณน้ำบาดาลกักเก็บมากกว่า 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบจะสามารถนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตรได้อย่างพอเพียง
โดยสำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล สำรวจหาแหล่งน้ำใต้ดินจนพบแหล่งน้ำซึ่งอยู่ในรอยแตกของหิน จึงมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ กลายเป็นการค้นพบแหล่งน้ำคุณภาพดีปริมาณมหาศาลกว่า 500 ล้าน ลบ.ม.การค้นพบครั้งนั้นถือว่ามีความสำคัญ ที่อาจเรียกได้ว่า เป็นสมบัติจากแผ่นดิน นั่นก็คือ การค้นพบ “น้ำพุโซดา” ในพื้นที่อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี จนสร้างความฮือฮาและกลายเป็นประเด็นดังที่ทั่วประเทศกล่าวถึงมาแล้ว
.012
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี