“สมศักดิ์”เปิดงานประชุมเบาหวานโลก ชี้สถานการณ์ NCDs น่าห่วง คาดปี 2588 ทั่วโลกอาจป่วยสูงถึง 800 ล้านคน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 1.5 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ขณะที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ ชูเป็นนโยบายสำคัญ พร้อมชวนผู้เข้าร่วมงานนับคาร์บ ลดโรค NCDs
เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2568 ที่ไบเทค บางนา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่ากรกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการเบาหวานโลก หรือ “IDF World Diabetes Congress 2025” จัดขึ้นระหว่าง 7 - 10 เม.ย.2568 BangkokInternational Trade and Exhibition Center (BITEC) กรุงเทพมหานคร โดยมี ศาสตราจารย์ ปีเตอร์ ชวาร์ส ประธานสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ นายสุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิง วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยพ และสมาคมโรคเบาหวานจาก 160 ประเทศ เข้าร่วมงาน
นายสมศักดิ์ กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตทั่วโลก ประชากรโลกเสียชีวิตประมาณ 41 ล้าน รายต่อปี ประชากรไทยเสียชีวิตประมาณ 4 แสน รายต่อปี และ NCD ยังทำให้เกิดความพิการและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งมี ผลกระทบทางเศรษฐกิจโลก ประมาณ 1.5 ล้านล้าน US Dollar ต่อปี และ ผลกระทบทางเศรษฐกิจของไทย ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี (คิดเป็น 9.7% ของ GDP ประเทศไทย)สำหรับโรคเบาหวาน ในปัจจุบัน มีแนวโน้มจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประชากรโลกที่ป่วยเป็น NCD มีประมาณ 7% (ในปี 2533) และเพิ่มขึ้นเป็น 14% (ในปี 2565) โดยคาดว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากประมาณ 500 ล้านคน ในปี 2564 เพิ่มเป็น 800 ล้านคน ในปี 2588
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในปัจจุบัน คนไทยป่วยเป็นเบาหวานประมาณ 6.5 ล้านคน และมีผู้ป่วยเบาหวาน ใหม่ ปีละประมาณ 350,000 ราย ปัจจัยสำคัญ คือ การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกายและการเพิ่มขึ้นของภาวะอ้วน ไทยต้อง เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเบาหวานกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี และจะต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มอีก กรณีไตวายเรื้อรัง เพิ่ม 400,000 ถึง 500,000 บาทต่อรายต่อปี กรณีมีการตัดขา เพิ่ม 150,000 ถึง 300,000 บาทต่อรายต่อปี กรณีเกิดตาบอด เพิ่ม 50,000 ถึง 100,000 บาทต่อรายต่อปี 5 ตามที่ WHO ได้กำหนดเป้าหมาย ในการลดอัตราตายก่อนวัยอันควรจากโรค NCD ให้ได้ 25% ภายในปี 2020 แต่ก็ยังไม่ได้ตามเป้าหมาย จึงได้ขยายเวลาออกไปอีก 10 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ตนเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญมาก และคิดว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จได้ จึงได้เสนอให้เรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาโรค NCD อย่างมากเช่นกัน นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ได้ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดงาน Kick of NCDs เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ณ จังหวัดเชียงใหม่
“สำหรับผม ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เริ่มนโยบายให้คนไทย “นับคาร์บ” สำหรับคนที่เริ่มป่วย เพื่อทำให้คนไทย “กินเป็นไม่ป่วย สวยหล่ออายุยืน” ถ้าทุกคนทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง คนไทยจะสุขภาพดี คนที่จะป่วยก็ไม่ป่วยและประหยัดงบประมาณของประเทศอย่างมหาศาล นโยบายคนไทยห่างไกล NCD ปี 2568 จึงตั้งเป้าหมาย ให้ มี “คลินิก NCD รักษาหาย” ครบทุกโรงพยาบาลมี “ศูนย์ป้องกันโรค NCD ทุกอำเภอ” เพื่อลดกลุ่มเสี่ยง มี “ศูนย์คนไทยห่างไกล NCD ทุกตำบล” เพื่อแนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในผู้ที่สงสัยว่าจะเป็น NCD หรือป่วยเป็น NCD แล้ว มีโครงการ “NCD ได้ดีด้วยกลไก อสม.” ในทุกหมู่บ้าน โดยตั้งเป้าหมายว่า ประชากรไทยจะสามารถนับคาร์บ ได้เป็น จำนวน 50 ล้านคน ภายในสิ้นปีงบประมาณปี 2568” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา ได้มีการคิดค้นนวัตกรรม“โรงเรียนเบาหวานวิทยา” ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ในชุมชนแล้วคัดเลือกผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพื่อ ให้ความรู้เรื่องการรับประทานอาหาร สอนให้ผู้ป่วยนับคาร์บ นัดมาพบกันทุกสัปดาห์ ต่อเนื่อง 12 สัปดาห์ เพื่อเช็กว่านับคาร์บได้ถูกต้องหรือไม่ เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้จริงหรือไม่ มีการเจาะน้ำตาลหลังอาหาร (เมื่อควบคุมอาหารได้ดี ค่าน้ำตาลในเลือด ลดลง ก็จะมีการปรับลดยาต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เพราะหากคุมอาหารแล้ว ไม่มีการปรับลดยาทันที คนไข้จะเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ แล้วต้องกลับไปกินอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลสูงเหมือนเดิมอีก) และยังสอนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านอื่นๆ เช่น การออกกำลังกายการลดความเครียด ควบคู่กันไป ผลการดำเนินงานมีคนเข้าร่วม โรงเรียนเบาหวานวิทยา รวม 5,810 คน 15.1% หายจากโรคเบาหวาน 9.1% สามารถหยุดยาเบาหวานได้และยังคงควบคุมน้ำตาลได้ดี และ 21.2% สามารถปรับลดยาเบาหวานลงได้ผลลัพธ์ คือช่วยลดค่าใช้จ่ายของประเทศ ลงได้ ประมาณ 24 ล้านบาทต่อปี แล้วยังสามารถนำมาขยายผลกับผู้ป่วยเบาหวานอีก 6.5 ล้านคนทั่วประเทศ เรายังสนับสนุนการควบคุม NCD ด้วยกลไก อสม.ลงทุนเรื่องอุปกรณ์ให้แก่ อสม.ได้แก่ ชุดอุปกรณ์การตรวจติดตาม NCD แบบพกพา และระบบ telemedicine การลงทุนประมาณ 3,800 ล้านบาท แต่ช่วยประหยัดค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยเบาหวานทั้งประเทศได้ประมาณ 26,000 ล้านบาทต่อปี และจะมีผู้ป่วยที่มีสุขภาพร่างกายดีขึ้น ประมาณ 2.9 ล้านคนต่อปี
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนยังสนับสนุนให้ทำโครงการ อสม.ชวนคนไทยนับคาร์บให้ได้ 50 ล้านคน โดยเริ่มนับคาร์บจากตัวเอง และช่วยสอนให้ อสม.นับคาร์บ อีกด้วย คนที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์มาก่อน ก็สามารถทำได้ไม่ยาก ใครก็ทำได้ ขณะนี้ อสม.กว่า 99 % หรือ กว่า 1 ล้านคน นับคาร์บเป็นแล้ว อสม.มีน้ำหนักลดลงเฉลี่ยคนละ 2.89 กิโลกรัม ในระยะเวลา 3 เดือน จากนั้น ขยายผลให้ อสม. 1 คน สอนประชาชน 50 คน คนไทยจึง นับคาร์บเป็นแล้วกว่า 25 ล้านคน จากเป้าหมาย 50 ล้านคน สิ่งที่ตนสอน อสม. ให้นำไปสอนประชาชนต่อ โดยใช้แบบฟอร์มนับคาร์บนี้เพื่อให้เขาเข้าใจหลักการง่ายๆ เป็นสูตร Harris-Benedict equation ซึ่งค้นพบมานานกว่า 105 ปี ขั้นตอนแรก คิดอัตราการใช้พลังงานพื้นฐาน ขั้นตอนที่สอง คิดค่าพลังงานต่อวันที่ใช้ ตามระดับความหนักของกิจกรรมทางกายที่ทำประจำ ขั้นต่อมา คำนวณหาปริมาณคาร์โบไฮเดรต ที่ให้พลังงานเท่ากับ 20% ของพลังงานที่ต้องใช้ต่อวัน (คาร์โบไฮเดรต 1 กรัม ให้พลังงาน 4 Kcal) 14 ขั้นสุดท้ายแปลงจากปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ควรกินต่อวัน เป็นจำนวนคาร์บ (คาร์โบไฮเดรต 15 กรัม = ข้าวสวย 1 ทัพพี = 1 คาร์บ) เพื่อให้ทุกคนได้รู้ว่า แต่ละคนควรกินข้าวสวยที่เป็นอาหารหลักของคนไทยได้วันละกี่คาร์บ ตนเคยคำนวณของตัวเอง ได้วันละ 5.5 คาร์บ จึงขอเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการลดโรคNCDs และขอให้ทุกคน “กินเป็นไม่ป่วย สวยหล่ออายุยืน” และเด็กอายุยืนไปพร้อมกัน
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี