‘19 องค์กรกุ้ง’ยื่นหนังสือถึง‘นายกฯ’ เสนอต่อรองกลุ่มสินค้าเกษตรไทย-สหรัฐ
9 เมษายน 2568 นายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยว่า ในวันนี้สมาคมฯในนามของพันธมิตรผู้เลี้ยงกุ้ง 19 องค์กร พร้อมด้วยสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และ 4 บริษัทส่งออก ได้นำข้อเสนอพิจารณาเจรจาต่อรองกลุ่มสินค้าเกษตรไทย-สหรัฐอเมริกา เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เป็นผู้แทนรับที่ทำเนียบรัฐบาล
นายเอกพจน์ กล่าวว่า การเข้ายื่นข้อเสนอดังกล่าวเพื่อให้เป็นแนวทางให้ภาครัฐ ได้มีข้อมูลที่รอบด้าน ครอบคลุมภาคเกษตรทั้งระบบ โดยมีข้อเสนอให้รัฐบาล แยกตัวเลขออกเป็น 2 อุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมการเกษตร(สินค้าเกษตร) และอุตสาหกรรมการผลิต จะเห็นชัดว่าตัวเลขของอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งเป็นรากฐาน และไทยผลิตเองนั้นเกินดุลมาไม่มากประมาณ 80,000 ล้านบาท ซึ่งองค์กรในอุตสาหกรรมกุ้งไทยได้หารือและมีมติเห็นพ้องต้องกันที่จะขอเสนอให้รัฐบาลไทยเจรจาในส่วนของสินค้าเกษตร โดยใช้เฉพาะการเทียบดุลสินค้าเกษตรเท่านั้น
ทั้งนี้ พันธมิตรฯ สนับสนุนข้อเสนอของสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งได้มีการยื่นข้อเสนอก่อนหน้านี้ โดยมีใจความสำคัญ คือ
1. ข้าวโพด เพื่อผลิตอาหารสัตว์ในสัดส่วนที่ขาดแคลนจำนวน 1.5 ล้านตัน เป็นมูลค่า 13,500 ล้านบาท และสามารถเติบโตได้ถึง 4.2 ล้านตัน เป็นมูลค่า 36,000 ล้านบาท
2. กากถั่วเหลือง โดยขอให้ลดภาษีกากถั่วเหลือง เฉพาะจากสหรัฐฯ จาก 2% เหลือ 0% ตลอดไป จะทำให้ผู้นำเข้าทั้งหมด เปลี่ยนการนำเข้าจากบราซิลเป็นนำเข้าจากสหรัฐฯ ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้มีมูลค่าประมาณ 48,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ให้เกษตรกรกลุ่มปศุสัตว์ และเพาะเลี้ยงได้อีกด้วย
3. กากข้าวโพด DDGS ซึ่งปัจจุบันมี ภาษีนำเข้า 9% หากรัฐบาลลดเหลือ 0% อาจจะทำให้มีการนำเข้าราว 9,900 ล้านบาท ดังเช่นปี 2561
นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอให้มีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์ จากสหรัฐฯ จะไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในประเทศ เพราะเป็นการเปลี่ยนแหล่งนำเข้า และนำเข้าในจำนวนที่ขาดแคลนเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยให้มีโอกาสลดต้นทุน และสินค้ากุ้งไทยที่จะถูกเก็บภาษีจากนโยบายสหรัฐฯ สำหรับเกษตรกรในประเทศ มีผู้ผลิตอาหารสัตว์ดูแล โดยรับซื้อในราคาที่เหมาะสม ขณะเดียวกัน ยังจะทำให้การนำเข้าสินค้าในอุตสาหกรรมเกษตรจากสหรัฐฯ ของไทยเพิ่มเป็น 61,500 - 93,900 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศสหรัฐฯได้
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ดุลการค้าสหรัฐอเมริกามูลค่ากว่า 1.66 ล้านล้านบาท ทำให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการเพิ่มภาษีการค้าขึ้นอีก 37% สร้างความกดดัน และหนักใจในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชนที่ลงทุนโดยตรง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี