ผู้ว่าฯกทม.เผยแบ๊กโฮยักษ์ลุยรื้อซากตึกสตง.เน้นเคลียร์ 2 จุด “โซน E บนสุด-โซน B/C” คาดเจออีกกว่า 10 ร่าง ยันปิดจ๊อบให้ได้สิ้นเดือนเมษายน ด้านกมธ.กิจการศาลฯเชิญผู้ว่าฯ สตง.แจงความโปร่งใสการจัดซื้อจัดจ้างตึกสตง.แต่ส่งรองผู้ว่าฯมาแทน โอดถนนทุกสายพุ่งมาที่สตง. แมลงวันบินผ่านก็ด่าได้ ยันดำเนินการทุกอย่างยึดหลักก.ม.ตามระเบียบกรมบัญชีกลาง ส่วนเรื่องการป้องกันแผ่นดินไหวโยนถามผู้ออกแบบ แจงสั่งเลิกสัญญาเพราะก่อสร้างช้า แต่เกิดเหตุก่อน แฉผู้รับเหมาเกณฑ์คนงานเพิ่มวันละ 400 คนจากเดิมมีแค่ 80 คน หลังรู้ข่าวถูกเลิกสัญญา ทำให้มีคนตายเยอะ เดินหน้าแจงต่อ “กมธ.ติดตามงบฯ”ปรับขยายสัญญาสร้างถึง 14 มิ.ย. ใช้งบฯที่เหลือเดินหน้าสร้างต่อ โดยปรับรูปแบบ ‘ก่อสร้างไม่สูง-ไม่ทับที่เดิม’ ยันเหล็ก-ปูนมีมาตรฐาน จะมาบอกตึกเพิ่งเซ็ตตัวไม่ได้ เหตุสร้างตั้งสง่ามา4ปีแล้ว
เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์สำนักงานเขตจตุจักร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยความคืบหน้าสถานการณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหตุแผ่นดินไหว พร้อมการรื้อถอนซากอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ที่ถล่มลงมาว่า ขณะนี้เรามีรถแบ็กโฮ “จอมมารบู” (FA1000) ที่มาถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน มีน้ำหนักกว่า 100 ตัน ข้อดีคือแขนเอื้อมที่ยาวประมาณ 40 เมตร สามารถเอื้อมขึ้นไปรื้อบริเวณยอดหรือจุด E ที่แบ็กโฮธรรมดาขึ้นไปไม่ถึง โดยวางแผนให้อยู่ด้านล่างบริเวณโซน A กับ B แล้วยื่นแขนขึ้นไปโกยวัสดุด้านบนลงมา เชื่อว่าเป็นบริเวณชั้น 28-29 ซึ่งคาดว่าจะพบร่างอีกมากกว่า 10 ร่าง จากข้อมูลที่ได้รับมาชั้นนี้มีคนทำงานอยู่ 14 คน
บิ๊กแบ็กโฮรื้อ2จุดอีบนสุด-บีและซี
ผู้ว่าฯกทม.กล่าวต่อว่า แผนปฏิบัติงานวันนี้โฟกัสที่จุด E จุดบนสุด และ B กับ C ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกันและเป็นจุดที่พบร่างเมื่อวานนี้ รวมถึงมีกลิ่นออกมาจากบริเวณนั้น ยืนยันทีมงานมีน้ำมันดีเซลพอ ไม่ขาดแคลน เราใช้น้ำมันดีเซลวันละ 4,000 ลิตร เตรียมพร้อมไว้แล้ว ยอมรับมีอุปสรรคเนื่องจากบางครั้งสายไฮดรอลิกไปเกี่ยวกับเหล็กทำให้สายรั่ว ทีมงานประชุมทุกวัน เตรียมอุปกรณ์ซ่อมบำรุงไว้พร้อม ตอนนี้เครื่องจักรถือว่าพอเพียงมีอยู่ในพื้นที่ประมาณ 20 คัน โดยการเคลียร์พื้นที่ด้านบน จะใช้กำลังคนช่วยตัดเหล็กสลับกับเครื่องจักรด้วย เพราะจุดด้านบนส่วนใหญ่เป็นเหล็กค่อนข้างเหนียว ต้องใช้ไฟตัด ไม่สามารถใช้รถลากตัดลงมาได้ ถ้าใช้อุปกรณ์ช่วยก็จะทำงานได้เร็วขึ้น
ผู้ว่าฯสตง.ส่งรองผู้ว่าฯแจงกมธ.ศาล
ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.) กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสัญญา นิลสุพรรณ สส.นครสวรรค์ พรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) ประธานกมธ.ฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยเชิญผู้ว่าการการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง. ) มาชี้แจง หลังเกิดปัญหาด้านภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือ และถูกตั้งคำถามถึงเรื่องความโปร่งใส จากเหตุการณ์ตึก สตง.ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่28มีนาคมที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่านายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าฯ สตง. มอบหมายนายสุทธิพงษ์ บุญนิธ และนางพิมพา วภักดิ์เพชร รองผู้ว่าฯสตง. พร้อมคณะมาชี้แจงแทน และถือเป็นครั้งแรกที่ สตง. มาชี้แจงเรื่องนี้
โอดถนนทุกสายพุ่งมาสตง.-ยันยึดกม.
โดยนายสุทธิพงษ์กล่าวว่า สตง.ยินดีชี้แจงเพราะต้องการนำเสนอข้อเท็จจริง และมั่นใจในการปฎิบัติหน้าที่ แต่ถนนทุกสายวิ่งมาที่สตง. แม้แมลงวันบินผ่านก็ด่าได้ วันนี้ขอพูดข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้น โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่พิเศษ ฉะนั้นการก่อสร้างทั้งหมดต้องจ้างออกแบบและจ้างควบคุมงาน ส่วนเรื่องการป้องกันแผ่นดินไหวต้องไปถามผู้ออกแบบ ซึ่งเขาก็บอกว่าดำเนินการแล้ว
“มีคนตั้งคำถามว่า มีคนแค่ 500 คนทำไมต้องสร้างตึกใหญ่โต คนที่พูดแสดงว่าไม่มีความรู้จริงๆ สตง.มีพนักงาน 4,000 คน จึงต้องสร้างตึกสูงแบบนี้ เห็นเมื่อไรก็เสียใจทุกครั้ง ผมยืนยันว่า การดำเนินการทุกอย่างยึดหลักกฎหมาย ตั้งแต่จ้างผู้ออกแบบ แต่งตั้งกรรมการจ้างออกแบบ ส่งหนังสือเชิญผู้ให้บริการ 24 ราย แต่มายื่นข้อเสนอ 3 ราย จากนั้นคณะกรรมการพิจารณาตามเกณฑ์คะแนน พบว่า บริษัทบจก.ฟอ-รัมอาร์คิเทคและบจก.ไมนฮาร์ท ประเทศไทย ได้รับคะแนน 91.12 คะแนน จึงอนุมัติจ้างออกแบบ ในวงเงิน73 ล้านบาท จากนั้นคัดเลือกบริษัทควบคุมงาน คณะกรรมการได้ส่งหนังสือเชิญผู้ให้บริการ 19 ราย มีมา 5 รายที่ส่งข้อเสนอมา ระหว่างนั้น สตง.ได้ขอเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมด้วย แต่คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต แจ้งไม่คัดเลือกตึก สตง.เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม”นายสุทธิพงษ์กล่าว
และยืนยันด้วยว่า การจัดซื้อจัดจ้างก็เป็นไปตามเงื่อนไขของกรมบัญชีกลาง ที่มีผู้เข้าประกวดราคา 16 ราย แต่ “กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี” เป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยไม่พบช่องว่ามีการฮั้ว และคำตอบที่ได้รับคือบริษัทดังกล่าวมีทุนและเทคโนโลยีจากจีน โดยบริษัทนี้อ้างว่าทำงานได้ แม้จะได้งบประมาณตามที่เสนอราคาไว้
เลิกสัญญาก่อสร้างช้าแต่เกิดเหตุก่อน
รองผู้ว่าฯสตง.กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องเพื่อความโปร่งใส สตง.ได้ทำ MOU กับ ACT องค์การต่อต้านคอรัปชั่น ประเทศไทย เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบร่วมด้วย ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี ขยายได้2 ครั้ง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดและมีการปรับรูปแบบแต่ผ่านมา 4 ปี เพิ่งสร้างได้ 33 % เพราะผู้รับเหมาก่อสร้างมีปัญหาเรื่องทุน คณะกรรมการตรวจรับพัสดุจึงมีมติบอกเลิกสัญญาไป เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 แล้ว และอยู่ระหว่างการเสนอผู้มีอำนาจดำเนินการ แต่ปรากฏว่า ได้มาเกิดเหตุอาคารพังถล่มลงมาเสียก่อน
สตง.ยันไม่รู้มีบ.จีนร่วมทุนสร้าง
“สตง.ยืนยันว่า ไม่เคยรู้เรื่องบริษัทจีนที่มาร่วมก่อสร้าง เพราะอิตาเลียนไทยออกหน้ามาตลอด สตง.ยังดีใจว่า ได้บริษัทที่มีระดับเบอร์ 1 ของประเทศ มารับสร้างโครงการนี้ จากนั้นประธานในที่ประชุม ได้ขอเชิญสื่อมวลชน ออกจากห้องประชุมเนื่องจากต้องซักถามในประเด็นที่ละเอียดอ่อน”รองผู้ว่าฯสตง.กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น ประธานที่ประชุมเชิญสื่อมวลชนออกจากห้องประชุมเนื่องจากต้องซักถามในประเด็นที่ละเอียดอ่อน
ต่อมาเวลา 14.00น. น.ส.พนิดา มงคลสวัสดิ์ สส.สมุทรปราการ พรรคประชาชน ในฐานะโฆษก กมธ.กิจการศาลฯ แถลงหลังประชุม กมธ.ฯว่า กมธ.ซักถามรายละเอียดโครงการก่อสร้างอาคารสตง.แห่งใหม่ ทั้งการออกแบบ การจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้าง และการควบคุมงานก่อสร้าง ได้รับการยืนยันจากสตง.ว่า ทุกอย่างดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายทุกขั้นตอน ส่วนการแก้สัญญารวม 9ครั้ง เนื่องจากปัญหาแบบงานโครงสร้างด้านวิศวกรรมขัดกับงานสถาปัตยกรรม แต่ทุกกรณีได้หารือผู้ออกแบบทุกครั้ง
ปัดแก้โครงสร้าง-ยันคุณภาพได้มอก.
น.ส.พนิดากล่าวต่อว่า สตง.ยืนยันไม่มีการแก้ไขโครงสร้างเสาให้เล็กลง รวมถึงคุณภาพเหล็ก ปูน ก็เป็นไปตามมาตรฐานมอก. มีการทดสอบแรงดึง และการดัดโครงของเหล็กผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ไม่มีการลดคุณภาพ ส่วนที่อาคารใหม่สตง.ต้องก่อสร้างใหญ่โตนั้น เนื่องจากปัจจุบันสตง.ไม่มีสำนักงานของตัวเอง ตึกที่สร้างใหม่จะรองรับข้าราชการได้ 2,400คน รวมถึงรองรับผู้แทนองค์กรตรวจเงินแผ่นดินต่างประเทศด้วย ส่วนเรื่องการประกันภัยตัวอาคารนั้น สตง.ยืนยัน ผู้ก่อสร้างได้ซื้อประกันภัยก่อสร้างครอบคลุมเต็มวงเงินในสัญญา
แฉเกณฑ์คนงานเพิ่ม400คน/วันทำตายเยอะ
ด้านนายสัญญา ในฐานะประธานกมธ.กล่าวว่า ตัวแทนสตง.ชี้แจงว่า การก่อสร้างอาคารสตง.ล่าช้า ไม่เป็นไปตามสัญญา เพราะบริษัทรับเหมามีปัญหาเรื่องทุน ดังนั้นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ จึงบอกเลิกสัญญาก่อสร้าง เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 แต่ขั้นตอนยกเลิกสัญญายังไม่เสร็จ อยู่ระหว่างรอให้คณะกรรมการสตง.เป็นผู้อนุมัติ แต่ปรากฏว่าเกิดเหตุถล่มลงมาก่อน เมื่อบริษัทผู้รับเหมาทราบว่า จะถูกยกเลิกสัญญาก่อสร้าง เพราะมีปัญหาเรื่องทุน จึงรีบเกณฑ์คนงานเข้ามาก่อสร้าง เพื่อให้เห็นว่า ตัวเองมีศักยภาพทำงานต่อไปได้ จากเดิมมีอยู่ 80คนต่อวัน ขนคนมาเพิ่มเป็น 400คนต่อวัน จึงเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งนี้สตง.ระบุด้วยว่า จะออกมาแถลงความชัดเจนทุกเรื่องเป็นทางการเร็วๆนี้
กมธ.อุตฯแนะส่งผลตรวจวัสดุให้รบ.สอบ
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงหลังกมธ.ฯ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงกรณีปัญหาเหล็กเส้นที่ใช้สร้างอาคารสตง.แห่งใหม่ 30 ชั้นที่พังถล่มลงว่า
กมธ.ฯเชิญสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.)มาชี้แจง ทราบว่า เหล็กที่นำไปตรวจสอบมาจากสุ่มตรวจสอบ 9 รายการ เป็นเหล็กข้ออ้อย และลวดเหล็กกล้าตีเกลียว ผลพิสูจน์ปรากฏว่า ตกสเปค 2 รายการคือ เหล็กDB20 และ DB32 โดยรองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ชี้แจงกมธ.ฯ โดยมีข้อกังวลว่าเหล็กที่ใช้ตรวจไม่ใช่เหล็กใหม่ แต่เป็นเหล็กที่ใช้ก่อสร้างแล้ว เมื่อเกิดแผ่นดินไหวก่อนอาคารพังถล่ม เหล็กได้ทำหน้าที่รับแรงดึง ซึ่งเหล็กเมื่อใช้งานไปแล้วอาจมีปัญหาในการตรวจสอบ
กมธ..จึงเสนอแนะว่า ข้อมูลที่จะถูกส่งไปคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ตั้งโดยรัฐบาล จึงต้องเก็บรวบรวมข้อมูลให้รอบคอบรัดกุมเพื่อดำเนินคดีกับผู้ผลิตเหล็กทั้ง 2 รายการนี้
ชงอุตฯถอนสิทธิบีโอไอบ.ผลิตเหล็ก
นายอัครเดชกล่าวต่อว่า ขณะที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ชี้แจงว่า ก่อนจะก่อสร้าง หน่วยงานก่อสร้างต้องตัดชิ้นตัวอย่างไปตรวจสอบ ซึ่งกมธ.จะทำหนังสือขอข้อมูลในส่วนการควบคุมการก่อสร้างจากกรมโยธาธิการฯด้วย เพราะการก่อสร้างหน่วยงานราชการไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่แจ้งให้ทราบว่าจะมีการสร้างอาคารเท่านั้น ส่วนที่มีการกล่าวหาในสื่อโซเชียลว่า สมอ. สั่งอายัดเหล็กที่ตกสเปคจากผู้ผลิตเหล็กที่ใช้ก่อสร้างอาคาร สตง.ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 นั้น เป็นกระบวนการตรวจสอบควบคุมคุณภาพตามพ.ร.บ.มาตรฐานอุตสาหกรรม โดยโรงงานดังกล่าวถูกสั่งปิดจากเหตุเพลิงไหม้อยู่ด้วย โดยสมอ.มีคำสั่งให้โรงงานนี้ต้องปรับปรุงคุณภาพเหล็กให้ได้มาตรฐานก่อนจะจำหน่ายเหล็กได้อีกครั้ง ส่วนที่จะผลิตใหม่และจำหน่ายให้ประชาชน ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า หากไม่แก้ไขก็ไม่สามารถผลิตได้
ขณะที่การเพิกถอนสิทธิประโยชน์การลงทุน (BOI) นายอัครเดชเผยว่า กมธ.ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมเพิกถอนสิทธิ BOI กับบริษัทผู้ผลิตเหล็กนี้ ก่อนที่จะเกิดแผ่นดินไหว โดยเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ชี้แจงว่า ตามกฎหมายสามารถถอนได้ก็ต่อเมื่อผู้ประกอบการนั้นละเมิดกฎหมาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ผู้ประกอบการละเมิดกฎหมาย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องทำบันทึกไปถึง BOI เพื่อให้พิจารณาถอนสิทธิประโยชน์ จึงอยากให้BOI ได้พิจารณาตามอำนาจหน้าที่
แจงกมธ.งบฯขยายสัญญาถึง14มิย.
ขณะเดียวกัน ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร มีนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานกมธ. เป็นประธานการประชุมติดตามการบริหารงบประมาณ กรณีโครงการก่อสร้างอาคารสตง.แห่งใหม่ที่ถล่ม โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูล โดยนายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะโฆษก สตง.ชี้แจงว่า อาคารสตง. เป็นอาคารสูงพิเศษตามความหมายของพ.ร.บ.ควบคุมอาคารปี 2522 จึงต้องจ้างออกแบบซึ่งได้บริษัทฟอ-รัมอาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัดวงเงิน 73 ล้านบาท และได้ผู้ชนะการประกวดราคาได้แก่ กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) ลงนามสัญญา 23 กันยายน 2563มีการแก้ไขสัญญา 9 ครั้ง งบประมาณในสัญญาอยู่ที่ 2,560 ล้านบาท ราคากลางขณะประมูลอยู่ที่ 2,522 ล้านบาท แต่ราคาประมูลได้อยู่ที่ 2,136 ล้านบาท แต่เมื่อแก้สัญญาและปรับเนื้องานปัจจุบันสัญญาอยู่ที่ 2,131 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 36 งวดงาน
นายสุทธิพงษ์กล่าวต่อว่า เริ่มสัญญาเมื่อส่งมอบพื้นที่ได้คือ 1 มกราคม 2564 และต้องเสร็จตามสัญญาคือวันที่ 31 ธันวาคม 2566 แต่ระหว่างนั้นมีการขอขยายระยะเวลา 2 ครั้ง เนื่องจากสถานการณ์โควิดและการปรับแก้สัญญา ซึ่งขยายไปถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2567 และเราได้ปรับแผนตามหนังสือวอ.1459 ต่อไปถึงวันที่ 14มิถุนายน2568 ค่าปรับเท่ากับศูนย์ตามหนังสือวอ.3693 วันที่ 7 สิงหาคม 2568
แจงเหตุที่ต้องสร้างตึกสูง
นายสุทธิพงษ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ สตง.ได้เช่าที่รถไฟในพื้นที่ 10 ไร่ เพราะเราต้องการใช้พื้นที่ในการทำงานของเจ้าหน้าที่ 2,400 คน ซึ่งในส่วนนี้รวมถึงอาคารจอดรถ 1 อาคาร อาคารอบรม 1 อาคาร เรามีหน่วยงานภายใน 50 หน่วยงาน ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องมีตึกสูง อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่มีการออกแบบเราได้มีการไปปรึกษาอัยการสูงสุดเรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ 2-3 ครั้ง กระทั่งได้บริษัทที่ชนะออกมา และเราก็ได้ผู้รับจ้างคือบริษัทอิตาเลียนไทยฯ ที่ถูกมอบให้เป็นผู้เซ็นสัญญา ซึ่งเราได้ถามบริษัทอิตาเลียนไทยฯว่าลดจากราคากลาง 300 กว่าล้านได้หรือไม่คำตอบที่ได้คือเขามีทุนมีเครื่องมือ และเขาทำเราจึงปรับเงินจาก 2,522 ล้านบาทนั้น มาอยู่ในวงเงินที่เขาเสนอคือ 2,136 ล้านบาท แต่ต้องได้ตึกตามที่เราประกวดราคา และจ่ายเงินไปแล้ว 22 งวด หรือเป็นวงเงิน 966 ล้านบาทรวมเงินที่ต้องจ่ายล่วงหน้า
นอกจากนี้ ด้วยจำนวนเงินดังกล่าวเป็นเงินมากที่สุดเท่าที่ สตง.ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามปัญหาการทุจริต โครงการข้อตกลงคุณธรรม กับกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ซึ่งอยู่ในช่วงการบริหารสัญญา เรายินดีจะนำเงินเป็นค่าธรรมเนียมให้ผู้ที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการข้อตกลงคุณธรรมปีละ 2 แสน เป็นเวลา 3 ปี รวม 6 แสนด้วยเงินของสตง.
“เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 เขาควรได้งาน 86.77% หากทำถูกต้อง แต่เขากลับมีงานแค่ 33% และเมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา คณะกรรมการตรวจรับพัสดุจึงมีมติขอให้บอกเลิกสัญญา และอยู่ระหว่างเสนอผู้มีอำนาจดำเนินการ แต่ปรากฏผู้มีอำนาจหมดวาระต้องรอชุดใหม่เข้ามา เรื่องจึงอยู่ตรงนั้น”รองผู้ว่าฯ สตง. กล่าว
ยันไม่นิ่งนอนใจส่งสตง.จว.ดูแลเหยื่อ
และว่าหลังเกิดเหตุตึกถล่มทั้งที่ไม่ควรเกิด และทราบว่าเกิดขึ้นเพราะอะไรเราก็จะสามารถชี้ผู้ที่รับผิดได้ การที่ สตง.ไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงเพราะถ้าตั้งคณะกรรมการจริง เรื่องก็จะยุติ เนื่องจากสิ่งที่เราทำอยู่ เรามีเอกสารละเอียดทุกประการ ฉะนั้น จึงขอให้หน่วยงานที่ถูกตั้งเป็นคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ช่วยบอกหน่อยว่าตึกถล่มเพราะอะไร
เดินหน้าสร้างต่อ-เป็นแนวราบไม่ทับที่เดิม
“เราไม่ได้นิ่งเฉย เข้าไปบริเวณตึกถล่มทุกวัน รวมถึงเมื่อศพผู้เสียชีวิตไปถึงจังหวัดไหน สตง.จังหวัดนั้นต้องเข้าไปเป็นเจ้าภาพ หาก สตง.ตั้งคณะกรรมการสอบ สตง.เอง สตง.ก็จะไม่ผิด ฉะนั้น จึงต้องให้คนนอกตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบ เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าใครที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนเรื่องงานก่อสร้างเราต้องเดินหน้าต่อ แต่ก็เห็นว่าจะทำตึกสูงเหมือนเดิมไม่ได้ และเราได้เช่าที่รถไฟบริเวณด้านหน้าเพิ่มอีก 4 ไร่ เราจึงจำเป็นที่จะต้องแก้แบบให้เป็นแบบแนวราบ กว้าง 50 ตารางวา ยาว 100 ตารางวา เอาทุกอย่างให้ไม่ต้องทันสมัย แอร์ก็ติดผนังธรรมดาเวลาเสียจะได้ไม่ต้องซ่อมยาก แล้วค่อยใส่ความทันสมัยในเทคโนโลยีเวลาทำงาน งบประมาณในการก่อสร้างคงจะไม่ถึง 2,000 ล้านบาท และจะไม่สร้างทับบริเวณที่ตึกถล่ม จะขยับมาข้างหน้า รวมถึงจะใช้งบประมาณที่เหลือในการก่อสร้างต่อ” รองผู้ว่าฯ สตง. ระบุ
ยันเหล็ก-ปูนได้มาตรฐาน/ปัดปูนเพิ่งเซ็ตตัว
นอกจากนี้ตัวแทน สตง.อีกราย ชี้แจงกรณีเหล็กเส้นมีปัญหาว่า เรากำหนดมาตรฐานของเหล็กไว้คือต้องได้มอก.หรือเหล็กตัวที ที่ปรากฏไว้ในมอก. เรารู้แค่นี้ เราไม่ใช่วิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เราเป็นนักกฎหมาย เราเป็นสตง.ที่ดูตามเอกสารว่าต้องพิจารณาอย่างไร และมีการยืนยันว่าเหล็กตัวทีใช้ได้ แต่มีข้อสังเกตสองอย่างคือ เมื่อเป็นเหล็กตัวทีเขาไม่อยากให้เชื่อมให้ใช้ข้อต่อเชิงกล และทดสอบดัดโครงแล้ว เช่นเดียวกับเรื่องของคอนกรีตที่กำหนดมาตรฐานไว้และทดสอบทางโครงสร้างปรากฏว่าค่าอยู่ที่มากว่า 400
ด้านนายสุทธิพงษ์กล่าวเสริมว่า หากอยากตรวจสอบเรื่องเกี่ยวกับปูน ก็ตรวจสอบได้ไม่ยาก เพราะเรามีบริษัทที่ทำเกี่ยวกับปูนแค่สองบริษัท การจะบอกว่าตึกเราเพิ่งเซ็ตตัวไม่ใช่เพราะตึกตั้งสง่ามา 4 ปีแล้ว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี