ผบ.ตร.ประชุมตำรวจทั่วประเทศ ป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และอำนวยการจราจร ช่วงสงกรานต์
เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนมาตรการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 โดยมี พล.ต.อ.ประจวบ วงศ์สุข รอง ผบ.ตร. , พล.ต.ท.ณพวัฒน์ อารยางกูร ผู้ช่วย ผบ.ตร. , พล.ต.ท.กฤษฎา สุรเชษฐพงษ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. , พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผู้ช่วย ผบ.ตร. , พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผู้ช่วย ผบ.ตร. และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ศปก.ตร.ชั้น 20 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ
ผบ.ตร.กล่าวว่า ยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นภาพลักษณ์และประเพณีที่ดีงามของไทย ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายได้ตระหนักถึงหน้าที่ การรักษาความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย บรรยากาศที่ดีงาม ในงานประเพณีดังกล่าว จึงกำชับให้ทุกหน่วยดำเนินการ ดังนี้
1.มาตรการด้านการข่าว และการป้องกันเหตุ : ให้ทุกหน่วยติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ และสถานการณ์ในภาพรวม เพื่อบริหารจัดการมาตรการรักษาความปลอดภัย การบริหารจัดการในพื้นที่ โดยกำชับให้มีการทำแผน ซักซ้อมการปฏิบัติ เน้นการแสดงกำลัง Show of Force ตรวจค้น บังคับใช้กฎหมาย , การละเล่นต่าง ๆ จะต้องไม่เกินเลย ไม่ฝ่าฝืนกฎหมายหรือกระทำใดๆ ที่ก่อความวุ่นวาย จะต้องจุดชุดปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ ระงับเหตุได้อย่างทันท่วงที ไม่ปล่อยให้เหตุลุกลามบานปลาย จะต้องกำหนดแผนเผชิญเหตุ พื้นที่ทางการแพทย์ กองอำนวยการร่วมในการช่วยเหลือประชาชน เช่น ปฐมพยาบาลเบื้องต้น การช่วยเหลือคนหายพลัดหลง ทรัพย์สินสูญหาย
2.มาตรการการรักษาความปลอดภัยพื้นที่จัดงาน : เทศกาลสงกรานต์ 2568 นี้ มีสถานที่การจัดงานขนาดใหญ่ทั่วประเทศ จำนวน 71 แห่ง อาทิ ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 20 แห่ง เช่น ถนนข้าวสาร , สนามหลวง , ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ , พื้นที่ จ.ชลบุรี 6 แห่ง , จ.เชียงใหม่ 7 แห่ง , จ.ภูเก็ต 2 แห่ง , จ.นครราชสีมา 1 แห่ง กำชับให้ทุกพื้นที่ ทุกหน่วย เตรียมแผนการปฏิบัติและแผนเผชิญเหตุ มาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ต้องชัดเจน มอบหมายผู้รับผิดชอบพื้นที่ให้ชัดเจน มีความเข้าใจบทบาท หน้าที่ สามารถตอบสนองและปฏิบัติได้ จัดเตรียมข้อมูลพื้นที่รับผิดชอบ ซักซ้อมการปฏิบัติ กรณีที่มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก จะต้องตัดสินใจในการระงับหรืองดการละเล่น กิจกรรมต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระมัดระวังไม่ให้คนหนาแน่นจนเกิดอันตรายต่อประชาชน , ตรวจสอบกล้องวงจรปิด ระบบการติดต่อสื่อสาร และเส้นทางหลัก เส้นทางรอง เส้นทางฉุกเฉิน และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในบริเวณที่จัดงานให้มีการไหลเวียนของยานพาหนะ กำหนดจุดรับ ส่ง จุดจอดรถ โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยในบริเวณดังกล่าวด้วย เพื่อป้องกันอาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพย์สิน
3.มาตรการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม : กำชับการเปิดสัญญาณไฟวับวาบ การตรวจสอบบุคคล ยานพาหนะต้องสงสัย การตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และผู้บังคับบัญชาตรวจสอบสถานที่ในโครงการ “ตำรวจร่วมใจ ยกระดับความปลอดภัยบ้านประชาชน” (ฝากบ้าน 4.0) ร่วมกับเจ้าหน้าที่สายตรวจ จราจร และฝ่ายสืบสวนด้วย เน้นย้ำทุกพื้นที่ต้องไม่ให้มีการก่อเหตุซ้ำรอยจากการปฏิบัติที่ผ่านมา ผบก. ผกก. หัวหน้า สน./สภ.ต้องดูแลรับผิดชอบในพื้นที่อย่างชัดเจน เตรียมแผนและคัดกรองบุคคลให้ไม่มีอาวุธ หรือสิ่งเทียมอาวุธ อย่างเด็ดขาด
ช่วงวันที่ 21 - 30 มี.ค.ระดมกวาดล้างอาชญากรรมทั่วประเทศ เน้นเป้าหมายการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด และบุคคลตามหมายจับ โดยจับกุมตรวจยึดอาวุธปืนได้ 5,398 กระบอก เครื่องกระสุน 39,069 และบุคคลตามหมายจับ 18,746 ราย และการระดมกวาดล้างอาชญากรรมของ ศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ห้วงวันที่ 7 - 9 เมษายน 2568 จับกุมชาวต่างชาติกระทำผิดกฎหมาย รวม 8,687 ราย
4.มาตรการด้านการจราจร : เส้นทางที่ประชาชนใช้จำนวนมาก จะต้องมีการปรับแผนการเร่งความเร็วรถอย่างต่อเนื่อง เตรียมการพื้นที่พักรถ ประสานสถานีให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิง จุดชารท์รถไฟฟ้า และประสานหน่วยงานในการช่วยเหลือรถเสีย ซ่อมแซม ยกรถ ขอคืนพื้นที่การจราจร
ทั้งนี้ ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศในการดูแลการจราจร ซึ่งคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีปริมาณรถเข้า-ออกกรุงเทพมหานคร ในช่วงวันที่ 11 - 17 เมษายน 2568 จำนวนมากกว่า 7 ล้านคัน (มากกว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ที่มีจำนวนประมาณ 6.8 ล้านคัน) โดยคาดว่าประชาชนจะเริ่มเดินทางตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2568 ปริมาณรถที่จะออกมากที่สุดในวันที่ 12 เมษายน 2568 (คาดการณ์ที่ 6.7 แสนคัน) ปริมาณรถที่จะกลับเข้ากรุงเทพมหานครมากที่สุดในวันที่ 16 และ 17 เมษายน 2568 (คาดการณ์วันละ 5.8 แสนคัน) ตั้งเป้าลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ (admit) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับสถิติช่วงเทศกาลสงกรานต์ เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง โดยเฉพาะช่วงควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 11 - 17 เมษายน 2568
นอกจากนี้ สั่งการให้สำรวจจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ที่มีปัจจัยจากสภาพถนนที่เป็นจุดเสี่ยง เพื่อประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาต่อไป และกำหนดช่องหรือแนวทางเดินรถขึ้นและล่อง และควบคุมหรือห้ามเลี้ยวรถในทางร่วมทางแยกในถนนบางสาย ห้ามรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไปเดินรถในบางเส้นทาง พร้อมกำชับการบังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลัก โดยกำหนด 5 เน้นหนัก ได้แก่ เมาแล้วขับ , ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด , ไม่สวมหมวกนิรภัย , ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย , ขับรถย้อนศร และบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดเมาแล้วขับซ้ำภายในสองปีนับแต่วันที่กระทำผิดครั้งแรก และสอบสวนขยายผลกรณีผู้ขับขี่เป็นเด็กหรือเยาวชนด้วย
5.มาตรการด้านการประชาสัมพันธ์ : กำชับโฆษกหน่วย โดยเฉพาะในพื้นที่การจัดงาน หน่วยที่ดูแลภาพรวมการจราจร ได้แก่ กองบังคับการตำรวจจราจร และกองบังคับการตำรวจทางหลวง จะต้องมีการประชาสัมพันธ์เส้นทาง การปฏิบัติตนในพื้นที่การจัดงาน การกระทำที่สุ่มเสี่ยง ฝ่าฝืนกฎหมาย การให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบ การบริหารจัดการพื้นที่ และการประชาสัมพันธ์การทำงานของเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติประสานหน่วยงานช่วยเหลือในการประชาสัมพันธ์ การประชาสัมพันธ์ในภาพรวมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเอื้ออาทรในการใช้ทาง และเตรียมความพร้อมก่อนการเดินทาง หากพี่น้องประชาชนต้องการแจ้งเหตุ ขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสอบถามเส้นทางจราจร ได้ที่สายด่วน 191 หรือ 1599 , สายด่วนกองบังคับการตำรวจจราจร 1197 และสายด่วนกองบังคับการตำรวจทางหลวง 1193 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี