… กรุงเทพฯ ยุคที่คนกรุงอยู่ข้าง กทม.ไล่รื้อจัดระเบียบแผงลอยทวงคืนทางเท้าสัญจร 50เขตเร่งเครื่อง ขีดเส้น ก.ค.นี้รู้ จุดไหนอยู่หรือไป.. ลุยกวาดล้าง ต่างด้าวเร่ขายของ-ขอทานเกลื่อนเมือง …
นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ เปิดเผยถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า (หาบเร่-แผงลอย) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่า สำนักเทศกิจ (สนท.) ได้ดำเนินการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการกำพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ ปี 2567 โดยทุกเขตกำลังเร่งจัดระเบียบให้สำเร็จตามแผน
“หาบเร่แผงลอยเป็นเรื่องที่กระทบกับประชาชน จุดไหนที่ไม่เข้าเกณฑ์ ไปต่อไม่ได้จริงๆ เราก็จะพยายามหาเกณฑ์รองมาสวมชั่วคราว เช่น พื้นที่อัตลักษณ์ พื้นที่ท่องเที่ยววิถีชุมชน เพื่อให้เขาอยู่ชั่วคราวไปก่อน โดยจะพิจารณาเป็นรายปี เพื่อให้มีโอกาสหาที่ทาง กทม.ก็จะหาสถานที่รองรับให้ ซึ่งได้คุยกับสมาคมตลาดแห่งประเทศไทยจะแจ้งตลาดเอกชนแต่ละแห่งที่สามารถรับผู้ค้าได้ ก็ต้องมีเสียค่าที่บ้างซึ่งเราจะเจรจาเรื่องค่าเช่าแผงให้ถูกลง“ นายอนุชิต กล่าว
ทั้งนี้ คณะทำงานกำหนดหลักเกณฑ์แนวทางการกำหนดพื้นที่ทำการค้าที่มีอัตลักษณ์ วิถีชุมชน ตลาดชุมชน ย่านพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว ได้มีการประชุมหารือร่วมกำหนดแนวทางการนิยามความหมายของพื้นที่อัตลักษณ์ วิถีชุมชน ตลาดชุมชน ย่านพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึงผู้ค้าในพื้นที่อัตลักษณ์ ให้ได้คำจัดกัดความที่ชัดเจน ครอบคลุม และความเข้าใจที่ตรงกัน เพื่อการจัดพื้นที่ทำการค้าและการจัดแผงค้า การทบทวนการอนุญาต คุณสมบัติและวิธีการคัดเลือกผู้ทำการค้า เงื่อนไขการทำการค้า และการออกมาตรการต่าง ๆ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อกำหนดเป็นแนวทางการปฏิบัติทุกเขตให้ไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงพิจารณาออกข้อกำหนดเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมและครบถ้วน
ขณะที่ สำนักเทศกิจได้รายงานผลการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากเดิมมีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน 86 จุด ผู้ค้า 4,297 ราย พื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน 741 จุด ผู้ค้า 16,550 ราย ปัจจุบันในปี 2568 มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน 60 จุด ผู้ค้า 3,723 ราย ยกเลิก 26 จุด ผู้ค้า 574 ราย พื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน 316 จุด ผู้ค้า 9,768 ราย ยกเลิก 425 จุด ผู้ค้า 6,782 ราย ได้จัดหาพื้นที่รองรับผู้ค้าในจุดที่ยกเลิก โดยให้เข้าไปทำการค้าในจุดที่กำหนดไว้ และผู้ค้าต้องหยุดทำการค้าทุกวันจันทร์ ร่วมกันล้างทำความสะอาดพื้นที่ทำการค้า รวมถึงเปิดฝาบ่อพักน้ำทำความสะอาดเดือนละ 1 ครั้ง
ที่ผ่านมาคณะกรรมการตรวจประเมินพื้นที่ 3 ระดับ ได้แก่ 1.ระดับสำนักงานเขต โดยมีผู้อำนวยการเขต ฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ฝ่ายเทศกิจ ตัวแทนผู้ค้า เจ้าของอาคาร 2.ระดับสำนักเทศกิจ และ 3.ระดับผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร ได้ทำการตรวจประเมินเดือนละ 1 ครั้ง เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนเมษายน 2568 พื้นที่ทำการค้าใดผ่านการประเมินตามแนวทางที่กำหนด เช่น การรับฟังความคิดเห็น การกลั่นกรองของคณะกรรมการระดับเขตและระดับกรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานจราจร จะพิจารณาให้เสนอเป็นจุดผ่อนผันหรือพื้นที่ทำการค้าต่อไป ส่วนจุดทำการค้าใดที่ไม่ผ่านการประเมินจะต้องบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยให้สำนักงานเขตจัดทำแผนการดำเนินการต่อไป ปัจจุบัน เขตที่ไม่มีพื้นที่ทำการค้าแล้ว จำนวน 6 เขต ได้แก่ พระโขนง คลองสามวา สายไหม ธนบุรี บางกอกใหญ่ คลองสาน
“ตอนนี้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ข้างเรา เขาถือสิทธิในการที่จะสัญจรไปมาได้สะดวก ประชาชนสนับสนุนมากกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะคนเจนนี้ที่ถือสิทธิเสรีภาพ มาก ว่าเขาทำงานเสียภาษีแล้วเขาไม่ควรถูกริดรอนในการใช้ทางเท้า ก็ต้องยอมรับว่าผู้ค้าบางจุดมีปัญหากับคนทั่วไปจริงๆ รวมถึงมีปัญหากับการจราจรผลกระทบทั้งจอดส่งของ จอดซื้อของ และปัญหาความสะอาด แม้ผู้ค้าจะไปร้องเรียนที่ไหน เราก็ต้องทำความเข้าใจชี้แจงว่า กทม.มีความจำเป็นต้องจัดระเบียบ ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้มีผู้ค้า มีได้แต่ต้องจัดระเบียบตามเกณฑ์ที่ กทม.กำหนด“ ผอ.สนท.กล่าว
…. อย่างไรก็ดี ผู้บริหารชุดนี้โดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เอาจริงเอาจังกับนโยบายจัดระเบียบเมืองพร้อมปรับปรุงพัฒนาทางเท้าเดินได้ เดินดี มอบนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. รับผิดชอบติดตามการจัดระเบียบพื้นที่การค้า(จุดผ่อนผัน) ตามเกณฑ์ใหม่ที่ได้ประกาศออกมาเมื่อปี 2567 ซึ่งก็ได้ลงพื้นที่ทุกวันจี้ทุกเขต…
รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวย้ำกับเทศกิจทุกเขตว่า “การจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าจะสำเร็จได้นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้บริหารกรุงเทพมหานคร แต่ขึ้นอยู่กับหัวหน้าฝ่ายเทศกิจทั้ง 50 สำนักงานเขต ในการบริหารจัดการให้เป็นไปตามนโยบายของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ คืนทางเท้าให้ประชาชนใช้ในการเดินทางสัญจร เจ้าหน้าที่เทศกิจควรมีความสามารถในการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ การจัดระเบียบพื้นที่ได้มากหรือน้อยเพียงใด เกิดความสำเร็จหรือไม่สำเร็จนั้น ล้วนขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่เทศกิจทั้งสิ้น ในขณะเดียวกันหากไม่ดำเนินการแบบจริงจัง ไม่มีการตรวจประเมินติดตามงานในพื้นที่ การมีผลประโยชน์แอบแฝง การมีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้ค้า รวมถึงการไม่เข้าใจในหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าปี 67 ส่งผลทำให้งานไม่สำเร็จตามวัตถุประสงค์“
ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ ได้ย้ำให้เทศกิจทุกสำนักงานเขต ดำเนินการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อกำหนดพื้นที่ให้เป็นจุดผ่อนผัน หรือยกเลิกพื้นที่ทำการค้าให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2568
.. ในส่วนปฏิบัติการกวาดล้าง ต่างด้าวเร่ขายของ รวมถึงปัญหาต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย และขอทานต่างด้าว
ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับปัญหาต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย โดยเฉพาะการค้าหาบเร่แผงลอย ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกในการกวดขัน ตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาแรงงานต่างชาติที่ลักลอบเร่ขายสินค้า เปิดแผงค้าขายอาหารและเครื่องดื่ม แย่งอาชีพคนไทย รวมถึงปัญหาขอทานต่างด้าวในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น แรงงานพื้นที่ สถานีตำรวจนครบาลท้องที่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ในส่วนของ กทม. มีอำนาจหน้าที่กรณีฝ่าฝืนทำการค้าหาบเร่แผงลอยบนถนน หรือสถานที่สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ส่วนการทำการค้าในจุดผ่อนผันที่ กทม. อนุญาต ได้มีประกาศกำหนดคุณสมบัติผู้ทำการค้าจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น หากพบว่าผู้ได้รับสิทธินำสิทธิไปให้บุคคลอื่น หรือต่างด้าวมาเป็นผู้จำหน่ายสินค้าแทน จะถูกเพิกถอนสิทธิทันที นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังครอบคลุมถึงการประกอบอาชีพขอทานด้วย
สำนักเทศกิจได้จัดชุดสายตรวจออกตรวจสอบพื้นที่สำคัญและจุดเสี่ยงที่อาจมีการฝ่าฝืนกฎหมาย รวมถึงพื้นที่เป้าหมายที่ปรากฏตามข่าว ที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง โดยได้มอบนายวรชล ถาวรพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กำกับติดตามอย่างเข้มข้น
“เราจะพบหาบเร่ต่างด้าว และขอทานต่างต้าวในย่านที่เขาหากินได้ง่าย โดยธรรมชาติของขอทานจะอยู่ในจุดที่มีคนไปเยอะๆ หรือแหล่งที่มีชาวต่าวชาติเยอะ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเห็นสงสารก็ให้โดยไม่รู้ว่าเป็นคนไทยหรือต่างด้าว ได้เงินทีละเยอะๆ จากที่เคยตรวจจับขอทานหนึ่งวันมีเงินมากถึงเงิน 2,000 มีที่รองสำนักฯ ไปจับ มีเงินสด 3 แสน เงินในบัญชีล้านกว่าบาท เชื่อว่ามีคนพามา ได้มีการสืบไปจนถึงรู้ว่ามีบ้านพักรวมกันอยู่ที่จังหวัดปริมณฑล แล้วพามาส่งจุดนั่งขอทาน หรือเดินทางมาขายของในกรุงเทพฯ“
นายอนุชิต กล่าวอีกว่า นอกจากที่สำนักเทศกิจตรวจจับหาบเร่ต่างด้าว ขอทานต่างด้าวในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างเข้มแล้ว สำนักเทศกิจยังร่วมชุดเฉพาะกิจจัดตั้งโดยกระทรวงแรงงาน โดยมีเทศกิจ กทม. ร่วมทีม 3 นาย มีอำนาจดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ตามจุดเป้าหมาย รวมไปถึงสถานประกอบการที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวไม่ถูกกฎหมาย และแรงงานต่างด้าวที่ประกอบอาชีพคนไทย 20 อาชีพที่กฎหมายห้าม โดยปฏิบัติการในทางลับร่วมกับ DSI และตำรวจ เพื่อให้บังคับการตามกฎหมายได้ มีโปรมแกรมการออกปฏิบัติการโดยจะขออนุมัติเทศกิจที่จะออกปฏิบัติงานร่วมทีม บางครั้งนอกพื้นที่กทม. เช่น ปทุมธานี ที่ตลาดไทย ตลาดสี่มุมเมือง ที่มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก
ด้านนายวรชล ถาวรพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กล่าวว่า ภายใต้การนำของผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ ได้ดำเนินการปฏิบัติการตรวจจับหาบเร่แรงงานต่างด้าว และขอทานต่างด้าว โดยได้จัดชุดสายตรวจออกตรวจสอบพื้นที่จุดเสี่ยง พื้นที่เป้าหมาย โดยเฉพาะถนนสุขุมวิท เพลินจิต ไปถึงเอกมัย
“ผมนำทีมเจ้าหน้าที่เทศกิจ ลงพื้นที่ตรวจตลอดแนวถนนสุขุมวิท พบเยอะทั้งผู้ค้าต่างด้าวและขอทาน รองจากนั้นก็จะเป็นย่านประตูน้ำ-เพชรบุรี ที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดไปแล้วหลักร้อยราย ได้ประสานสน.พื้นที่ดำเนินคดี เชื่อหากจับกันได้จริงจังกว่านี้น่าจะเป็นพันราย.. ล่าสุดเปิดยุทธการ ดับต่างด้าว ณ ตลาดหัวตะเข้ เขตลาดกระบัง ร่วมกับ ตำรวจ ตม. กรมการจัดหางาน สนธิกำลังเปิดปฏิบัติการกวาดล้างจับกุมคนต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย มีทั้งขายผัก ขายปลา ขายหมู น้ำเต้าหู้ ยันลอตเตอรี่ ส่งผู้ต้องหาเกือบ 20 คนดำเนินคดีข้อหาหนัก และส่งกลับประเทศ” รองผอ.สนท.กล่าว
… เทศกิจ กทม. ยุคนี้ เอาจริง! ไล่รื้อหาบเร่-แผงลอยทั่วกรุง จัดระเบียบให้เข้าที่เข้าทาง คนเดินทางเท้าได้ ต่างด้าวขายของ-ขอทาน เห็นเกลื่อนแทบทุกเขต แต่ก็ตรวจจับกันจริง
พรสวรรค์ จรเจริญ เรียบเรียง
036
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี