มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ชี้สารหนูในแม่น้ำกกเกินค่ามาตรฐาน แต่ยังไม่รุนแรง พร้อมดันงานวิจัยแก้ปัญหา
วันที่ 11 เมษายน 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อ.เมือง จ.เชียงราย ได้จัดให้มีเวทีเสวนาวิชาการในหัวข้อ "รู้ทัน ร่วมมือ รับมือ: ภัยสุขภาพจากแม่น้ำปนเปื้อน" เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ปัญหาสารพิษและมลพิษในแม่น้ำกก ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดสดผ่านโซเซียลมีเดียเพื่อให้ผู้สนใจสามารถองค์ความรู้ในการรับมือหรือป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากสารพิษ ภายหลังจากที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) แจ้งว่าแม่น้ำกกตั้งแต่ชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และ อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ปนเปื้อนสารหนูเกินมาตรฐานโดยที่ อ.แม่อาย สูงถึง 0.026 มิลลิกรัมต่อลิตร และ อ.เมืองเชียงราย 0.012-13 มิลลิกรัมต่อลิตร ขณะที่ค่ามาตรฐานคือไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
ศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เปิดเผยว่า แม่น้ำกกเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวเชียงรายมาช้านาน ปัจจุบันต้องเผชิญกับความท้าทายอันเนื่องมาจากปัญหาการปนเปื้อนของสารพิษและมลพิษในแม่น้ำ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพประชาชนและระบบนิเวศ การทำความเข้าใจปัญหาบนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการ ควบคู่กับการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน ทางมหาลัยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในทุกด้าน และให้การช่วยเหลือประชาชนหากมีการร้องขอทั้งด้านการแพทย์ หรือทางด้านวิชาการ นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยจะได้มีการดำเนินด้านการวิจัยแม่น้ำกกอย่างจริงจังเพื่อนำมาเป็นแผนการป้องกันหรือการแก้ไขปัญหาในอนาคต
ด้าน ผศ.ดร.ไกรลักษณ์ ฟักแก้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ กล่าวว่า สารปนเปื้อนที่พบเกินค่ามาตรฐานจะมีผลกระทบต่อประชาชนดังนั้นจึงขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้หรือสัมผัสกับน้ำกกโดยตรง ป้องกันกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำให้ได้มากที่สุด เพราะการกำจัดสารปนเปื้อนในแม่น้ำขนาดใหญ่นั้นทำได้ยาก ตราบใดที่ยังมีการปล่อยสารพิษทั้งสารหนูหรือตะกั่วลงแม่น้ำต่อเนื่อง ก็จะยังมีการปนเปื้อนไปอีกนาน สิ่งที่จะทำได้หรือกรองน้ำสำหรับใช้ในสิ่งที่จำเป็นเช่นการผลิตประปา หากมีกระบวนบำบัดที่ดีก็สามารถกำจัดสารเจือปนได้หมด ในส่วนของน้ำบางดาลหรือบ่อน้ำตามชุมชน แม้จะผ่านชั้นหรือหลายชั้นแต่ก็ยังไม่แน่ว่าจะมีสารเจือปนไหม ซึ่งจะต้องมีการตรวจเป็นระยะ สิ่งที่จะทำให้ลดผลกระทบหรือทำให้สารเจือจางลงส่วนหนึ่งก็ต้องลงงดการทิ้งขยะ สิ่งของหรือการปล่อยของเสียจากครัวเรือน โรงแรมหรือโรงงานต่างๆลงในแม่น้ำซึ่งจะทำให้สารพิษเบาบางลงและหมดไปในที่สุด
ทางด้าน รศ. ดร.ระวิวรรณ์ เจริญทรัพย์ รักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการสุขภาพแบบครบวงจรแห่งภาคเหนือหรืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MFU Wellness Center ) กล่าวว่าประชาชนหากได้รับผลกระทบจากสารพิษตกค้าง สามารถรักษาได้ มียารักษา แม้จะพบสารพิษเกินค่ามาตรฐานแต่ก็ไม่ควรตื่นตระหนก มั่นสังเกตอาการของตนเอง บางครั้งอาการเจ็บป่วยก็ไม่ได้เกิดจากสารพิษตกค้างจนพลาดโอกาสโรคอื่นๆ ที่แท้จริงไป ผลจากสารพิษหากได้รับเยอะก็อาจมีผลทันที แต่หากได้รับน้อยๆก็อาจต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์ หากใครไม่มั่นใจก็สามารถโทรมาปรึกษาที่ศูนย์ได้พร้อมให้บริการ ในช่วงนี้จึงควรที่จะหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือดื่มน้ำจากแหล่งน้ำกกโดยตรงก็จะเป็นการป้องกันไม่ให้ได้รับผลกระทบได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่แม่น้ำกก ล่าสุดที่ว่าการ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งมีแม่น้ำสายไหลมาจากประเทศเมียนมา ได้เผยแพร่ข้อมูลการเก็บตัวอย่างน้ำในแม่น้ำสายโดยเป็นการเก็บตัวอย่างน้ำตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ.2568 โดยการประปาส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สาขาเชียงราย ได้วิเคราะห์ทดสอบน้ำโดยหน่วยงานภายนอกคือบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด และผลออกมาเมื่อวันที่ 9 เม.ย.พบว่าแม่น้ำสายมีสารหนูปนเปื้อนเกินกว่ามาตรฐาน กระนั้นในการผลิตน้ำประปามีการใช้กระบวนการผลิตกำจัดโลหะหนักทำให้คุณภาพน้ำยังคงได้มาตรฐานสามารถอุปโภคบริโภคได้ตามปกติ
ทั้งนี้ที่ว่าการ อ.แม่สาย ยังได้แสดงตารางผลการตรวจตัวอย่างน้ำจากริมฝั่ง ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย ว่ามีสารหนูอยู่ในระดับ 0.014 ไมโครกรัมต่อลิตร ส่วนค่าอื่นๆ เช่น แคดเมียม ตะกั่ว ซิลิเนียม ปรอท ฯลฯ ยังอยู่ในเกณฑ์ได้มาตรฐาน ส่วนแม่น้ำสายทางตอนล่างตั้งแต่ริมฝั่งชุมชนเหมืองแดงไปจนถึง ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย ยังคงอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ทางนายวรายุทธ ค่อมบุญ นายอำเภอแม่สาย ได้ออกประกาศแจ้งเตือนให้กับประชานที่อาศัยอยู่ตามแนวเขตริมน้ำสายตลอดโดยเฉพาะที่ชุมชนถ้ำผาจม สายลมจอย เกาะทราย และไม้ลุงขน ให้หลีกเลี่ยงและงดการสัมผัสหรือนำน้ำไปอุปโภคหรือบริโภคก่อนในระยะนี้ พร้อมกับรายงานให้ทางจังหวัดเพื่อประสานสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) เข้ามาเก็บตัวอย่างไปตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งนายวรายุทธ ยืนยันว่าปกติแม่น้ำสายเป็นเพียงแม่น้ำกั้นพรมแดน มีเพียงการนำใช้ในการผลิตปะปาซึ่งมีกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยสามารถน้ำไปใช้อุปโภคหรือบริโภคได้เท่านั้น ส่วนกิจกรรมอื่นแทบไม่มีรวมไปถึงเทศกาลสงกรานต์ ที่จะไม่ได้มีการจัดกิจกรรมในลำน้ำเพราะน้ำตื้นเขินและมีสภาพไม่น่าใช้จัดงานต่างๆ จึงไม่น่ากังวลมากเท่าไหร่นัก แต่ก็จะมีการตรวจสอบในทุกด้านเพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับแม่น้ำสายไหลมาจาก จ.เมืองสาด ทางทิศตะวันตกของ จ.ท่าขี้เหล็ก ไกลออกไปประมาณ 90 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของเหมืองแร่ 4 แห่ง ซึ่งเป็นเหมืองปิดที่ห้ามบุคคลภายนอกเข้าออก เปิดดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ต.ค.2566 โดย 2 แห่งตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านแม่โจ๊กและบ้านนายาวติดกับลำน้ำสาย ดำเนินการโดยกลุ่มทุนจีนที่ได้รับสัมปทานให้ทำเหมืองแร่ทองคำและแร่แมงกานิส มีการสูบน้ำจากลำน้ำสายเพื่อนำไปฉีดพ่นดินและหิน ส่วนอีก 2 แห่งตั้งอยู่ติดลำน้ำปุงและน้ำพุซึ่งเป็นสาขาของลำน้ำสาย อยู่ในเขตหมู่บ้านน้ำปุงใหม่และน้ำพุร้อนใหม่ เมืองไฮ จ.เมืองสาด มีเอกชนจีนเข้าไปทำเหมืองแร่เช่นกันแต่เป็นเหมืองแร่แมงกานีสและสังกะสี
ส่วนแม่น้ำกกไหลมาจากเขตปกครองพิเศษที่ 2 (สหรัฐว้า) หรือว้าแดง โดยชาวบ้านในพื้นที่ระบุว่าที่บ้านฮุงติดกับ จ.เมืองสาด ห่างจากชายแดนไทยประมาณ 36 กิโลเมตร มีกลุ่มทุนจีนเข้าไปลงทุนทำเหมืองแร่ต่างๆ โดยเฉพาะทองคำกว่า 23 บริษัท ///-026
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี