เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาทั่วประเทศ ยื่น จม.เปิดผนึกถึงนายกฯ ค้านข้อตกลงการค้าเสรีไทย - EFTA สินค้าปลาและผลิตภัณฑ์ หวั่นอาชีพล่มสลาย ให้จัดเป็นสินค้าอ่อนไหว ยกออกนอกกรอบทุกเจรจา คงภาษีที่ 5% ปกป้องอาชีพ และความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย เปิดเผยว่า กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ "ไม่เห็นด้วย" กับการเปิดเสรีการค้าในสินค้าปลาและผลิตภัณฑ์ ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย กับสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) และในทุกกรอบเจรจา ซึ่งตัวแทนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลา โดยตนพร้อมด้วย นายสมาน พิชิตบัญชรชัย นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย นายสุทธิ มะหะเลา นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย นายพรชัย บัวประดิษฐ์ ประธานแปลงใหญ่ปลานิลชลบุรี นายอมร เหลืองนฤมิตรชัย นายกสมาคมปลานิลไทย และนายพงศ์วิวัฒน์ วงศ์โกศลจิต ประธานชมรมผู้ผลิตลูกพันธุ์สัตว์น้ำไทย จึงยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ผ่าน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ในงานสัมมนาที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจัด รับฟังความเห็นการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย - EFTA ที่โรงแรมโนโวเทล มารินา ศรีราชา เมื่อวานนี้ (10 เมษายน 2568) ขณะเดียวกันตัวแทนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วประเทศ ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ และถึงประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ผ่านประธานสภาเกษตรกรต่างๆ เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้าน
ตัวแทนเกษตรกรแสดงความกังวลว่า หากข้อตกลงนี้มีผลบังคับใช้ จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศ รวมถึงธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน เช่น ผู้ผลิตลูกพันธุ์ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ผู้ค้าปัจจัยต่างๆ ผู้ประกอบการ ตลาดสด ผู้ขนส่ง ทีมจับปลา รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆมากมาย จำนวนกว่า 1 ล้านคน เพราะในประเทศนอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ มีระบบการผลิตสัตว์น้ำ อาหารทะเลที่ทันสมัย ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และสามารถจำหน่ายสินค้าได้ในราคาต่ำกว่าประเทศไทย
"เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลฟังเสียงประชาชน เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาของประเทศ ที่ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ขอให้ยกรายการสินค้าปลาและผลิตภัณฑ์ทั้งหมดกว่า 100 รายการ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นปลาที่นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ ประเทศผู้นำโลกด้านการเพาะเลี้ยง-การผลิตอาหารทะเลออกจากการเจรจาฯข้อตกลงการเปิดเสรีการค้านี้ เพราะผลกระทบจากการเปิดเสรี เปิดให้ปลากว่า 100 รายการ เข้ามาในประเทศแบบไม่ต้องเสียภาษีนี้ จะร้ายแรงมาก ต่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนของผู้เพาะเลี้ยงปลาและอุตสาหกรรมของประเทศ ขอให้จัดสินค้าปลาและผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าอ่อนไหว เป็นรายการยกเว้นการเจรจา (Exclision List) เช่นเดียวกับ กรณีข้าวของญี่ปุ่น และนมของแคนาดา และคงภาษีที่ร้อยละ 5 และคัดค้านการเปิดเสรี (ภาษีเป็นศูนย์-0%) ในสินค้าเหล่านี้ เพื่อปกป้องอาชีพและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ" ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย กล่าว
ในจดหมายเปิดผนึกที่ยื่นต่อรัฐบาล เกษตรกรยังอ้างอิงเหตุการณ์ในอดีตเมื่อปี 2542 และล่าสุดปี 2567 ที่มีการทะลักเขามาของปลาจากต่างประเทศจำนวนมาก อาทิ ปลาดุก ปลากะพง ส่งผลให้ราคาในประเทศตกต่ำ เกษตรกรต้องประสบภาวะขาดทุนจนต้องเลิกประกอบอาชีพ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี