เปิดฉาก‘7วันอันตรายสงกรานต์68’ ดับสังเวยบนท้องถนน 27 ราย บาดเจ็บระนาว 201 คน เกิดอุบัติเหตุ 211 ครั้ง ‘กทม.-มุกดาหาร’ขึ้นนำยอดสูญเสียสะสม ‘ซิ่ง-เมาขับ’สาเหตุหลัก ‘ศปถ.’กำชับจังหวัดบูรณาการพื้นที่ใช้ 5 มาตรการหลักเข้มบังคับใช้กฎหมาย
12 เมษายน 2568 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) นายโอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 12เม.ย.2568 เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2568 เป็นวันแรก โดยในปีนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้กำหนดช่วงควบคุมเข้มข้นตั้งแต่วันที่ 11 – 17 เม.ย. เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน ผ่าน 5 มาตรการหลัก ได้แก่ การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนน การลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน การบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และการสร้างความตระหนักรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนนให้แก่ประชาชนในสังคม ซึ่งในปีนี้เป้าหมายของการดำเนินการคือการลดความสูญเสียให้ได้มากที่สุดโดยการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ
ทั้งนี้ จากข้อมูลทางวิชาการชี้ว่า อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นเกิดจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่เป็นหลัก ดังนั้นจึงขอฝากให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างความตระหนักรู้และให้ข้อมูลข้อควรปฏิบัติในการขับขี่ให้กับประชาชน ตลอดจนการกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนขึ้น
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 11เม.ย. ซึ่งเป็นวันแรกของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 11เม.ย.68 เกิดอุบัติเหตุ 211 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 201 คน ผู้เสียชีวิต 27 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 40.76 ตัดหน้ากระชั้นชิด 24.64 และดื่มแล้วขับ 22.75
ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.64 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 86.26 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 51.66 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 22.75 ถนนในเมือง (เทศบาล) ร้อยละ 13.27
ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 15.01 – 18.00 น. เวลา 18.01 – 21.00 น. และเวลา 12.01 – 15.00 น. ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 60 - 69 ปี ร้อยละ 20.18 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,737 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 50,647 คน
จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ มุกดาหาร (11 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ มุกดาหาร (12 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่กรุงเทพมหานคร (5 ราย)
จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในวันนี้ พบว่าจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตมีจำนวนลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขอให้ทุกจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนอย่างเคร่งครัด โดยให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดและศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการภาคีเครือข่ายในพื้นที่เพื่อดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานเพิ่มเติมเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เน้นการควบคุมและดูแลการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด โดยจะต้องจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาที่กฎหมายกำหนดและไม่จำหน่ายให้กับเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีโดยเด็ดขาด ใช้กลไกด่านชุมชนและด่านครอบครัวเพื่อเฝ้าระวัง ตรวจตรา ป้องปราม และตักเตือนบุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้น
นอกจากนี้ ยังจัดตั้งจุดบริการประชาชน จุดอำนวยความสะดวกในการเดินทาง รวมถึงจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่มีความปลอดภัย โดยมีหน่วยงานด้านความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้ ให้จังหวัดให้ความสำคัญกับการตรวจจับความเร็วของรถโดยสารสาธารณะ โดยมอบหมายให้สำนักงานขนส่งจังหวัดร่วมกับตำรวจภูธรจังหวัดตรวจจับความเร็วของรถโดยสารสาธารณะ ผ่านระบบ GPS เฝ้าระวังการใช้ความเร็วและชั่วโมงการทำงาน ตลอด 24 ชั่วโมง
ด้านนายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี พ.ศ. 2568 กล่าวว่า นอกเหนือจากความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนและประชาชนที่เล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่แล้ว ขอให้จังหวัดให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานประจำจุดบริการประชาชน โดยขอให้พิจารณาเลือกพื้นที่ที่ปลอดภัยในการตั้งจุดบริการประชาชน ไม่ตั้งกีดขวางช่องทางการจราจร มีระยะห่างจากขอบทาง หากพื้นผิวจราจรเปียกน้ำหรือมีน้ำขังให้ติดตั้งเครื่องหมาย กรวย หรือป้ายสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นจุดบริการประชาชนอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันอันตรายจากถนนลื่น ไม่ออกไปยืนนอกจุดบริการ เพื่อลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุต่อผู้ปฏิบัติงาน
นอกจากนี้ เนื่องจากการพยากรณ์อากาศในช่วงวันที่ 12 – 14 เมษายนนี้ บริเวณภาคเหนือตอนบนจะมีพายุฤดูร้อน เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก และฟ้าผ่าในบางพื้นที่ ขอให้จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนให้เพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ ลดความเร็วในการขับขี่ลง หลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านบริเวณที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง ไม่อยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความระมัดระวังในการจัดงานกลางแจ้งช่วงเทศกาลสงกรานต์
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี