ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพัฒนาการเรียนการสอน การทดลองวิทยาศาสตร์ด้วยหลักการของปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนสำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษา” ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.), สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ณ ห้องประชุม 1 อาคาร สพฐ.4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ
โครงการนี้เป็นการขยายความร่วมมือในการต่อยอดความสำเร็จโครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” โดยจะเพิ่มโอกาสให้ครูวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาในสังกัด สพฐ. และ สช. ได้เข้าอบรมและสามารถนำเทคนิคไปถ่ายทอดและประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนมากขึ้น เพื่อให้นักเรียนได้ใช้ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนในการทำการทดลองด้วยตนเอง ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีใจรักในการศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์ที่เป็นสาขาอาชีพที่ยังต้องการมากของประเทศในขณะนี้ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีความสามารถสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต โดยโครงการฯ ในส่วนขยายความร่วมมือนี้ตั้งเป้าจะจัดอบรมให้ครูในโรงเรียนสังกัด สพฐ. และ สช. มากกว่า 1,000 คน
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า โครงการนี้มุ่งพัฒนาทักษะผู้เรียนให้คิด วิเคราะห์ และลงมือปฏิบัติจริง พร้อมยกระดับคุณภาพครูและสถานศึกษาให้สามารถจัดการเรียนรู้เชิงรุกได้อย่างมีประสิทธิภาพ สพฐ. จะสนับสนุนการนิเทศ ติดตาม และประชาสัมพันธ์โครงการอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมให้เกิดต้นแบบโรงเรียนที่มีแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ เราต้องการจุดประกายให้นักเรียนรักวิทยาศาสตร์ และสร้างพื้นฐานที่มั่นคงให้การศึกษาไทยก้าวทันโลกอย่างยั่งยืน
“การจัดการสอนวิชาเคมีถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมานักเรียนจะทดลองเคมีจะต้องใช้สารเคมีหรืออุปกรณ์ที่ค่อนข้างเป็นภาระงบประมาณ และเกิดปัญหาเรื่องมลพิษ หรืออาจจะเป็นอันตราย วันนี้เรามา MOU เรื่องการใช้เคมีแบบย่อส่วน เป็นชุดเคมีขนาดเล็ก สามารถพกพาได้ แต่ผลการทดลองเสมือนกับใช้สารเคมีจริงทุกอย่าง และยังเป็นการแก้ปัญหาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ที่อยู่ตามเกาะแก่งหรือบนภูเขาไม่สามารถหาซื้อสารเคมีได้ ก็ใช้ชุดเคมีขนาดเล็กในการเรียนได้ ทำให้นักเรียนเข้าถึงการทดลองวิทยาศาสตร์ด้วยหลักการของปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน และยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การแก้ปัญหาการจัดการศึกษาแบบเท่าเทียม เป้าหมายสุดท้ายคือคุณภาพการศึกษา ตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร และยังช่วยลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อโลกต่อมนุษย์ได้เมื่อเราใช้เคมีย่อส่วน” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
ศ.ดร.วุฒิชัย พาราสุข นายกสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า สมาคมฯ เป็นผู้ริเริ่มการนำเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนมาเผยแพร่ในโรงเรียนมัธยมศึกษาในประเทศไทย โดยได้ออกแบบหลักสูตรการฝึกอบรมและกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับ Dow ในการนำความรู้ความเข้าใจด้านความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมี หลักการเคมีกรีน และการประยุกต์ใช้การทดลองเคมีแบบย่อส่วน มาเสริมการเรียนการสอนในโรงเรียน ทำให้นักเรียนได้ทำการทดลองจริงด้วยตนเองอย่างปลอดภัย และได้สร้างเครือข่ายครูต้นแบบเคมีแบบย่อส่วน เพื่อทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและต่อยอดองค์ความรู้ได้มากขึ้น ครูต้นแบบจะทำหน้าที่เผยแพร่เทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนแก่เพื่อนครูที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในความร่วมมือครั้งนี้ สมาคมฯ จะทำหน้าที่บริหารงานด้านวิชาการ จัดหาบุคลากรผู้ชำนาญที่เหมาะสมกับหลักสูตรฝึกอบรม และเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในการประเมินผลการเรียนการสอนตามแนวทางการสอนแบบใหม่ของโครงการฯ
ศ.ดร.ประณัฐ โพธิยะราช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภาควิชาเคมีได้ริเริ่มนำแนวคิดของการทดลองเคมีแบบย่อส่วนมาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ 2543 ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนของภาควิชาเคมี จุฬาฯ ปัจจุบัน มีการทดลองเคมีแบบย่อส่วนหลายเรื่อง ที่ได้นำมาใช้สอนในวิชาบริการสำหรับนิสิตสายวิทยาศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 จึงเป็นที่น่ายินดี ที่ได้เห็นการนำมาประยุกต์ใช้สอนในโรงเรียนมัธยมศึกษาอย่างทั่วถึง จะทำให้ลดความเหลื่อมล้ำด้านการสอนการทดลองวิทยาศาสตร์แก่นักเรียนในโรงเรียนเล็กและห่างไกล
ด้าน นายวิชาญ ตั้งเคียงศิริสิน ประธานบริหารกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า เพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่จะคิดค้นนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในอนาคต ดังนั้น การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์แนวใหม่นี้ จะช่วยให้โรงเรียนจำนวนมากสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่ใช้งบประมาณต่ำ มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูง ทั้งนี้ การทดลองแบบ “ย่อส่วน” จะ “ขยายโอกาส”ทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยในอนาคต
ปัจจุบัน มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1,200 แห่ง อบรมคุณครูไปแล้วกว่า 2,100 คน มีนักเรียนที่ได้รับประโยชน์โดยตรงทั้งสิ้นกว่า 470,000 คน และในปีนี้ จะยังคงมีการจัดประกวดโครงงาน “ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน” Dow-CST award เพื่อเป็นเวทีให้คุณครูและนักเรียนได้นำแนวคิดไปประยุกต์สร้างเป็นการทดลองใหม่ๆ ด้วยวัสดุและทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเอง สำหรับคุณครูและนักเรียนที่สนใจแนวทางการเรียนวิทยาศาสตร์ด้วย “ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน” สามารถเข้าชมข้อมูลได้ฟรีที่เว็บไซต์ http://www.DowChemistryClassroom.com
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี