‘สวนดุสิตโพล’เผยคนไทยมอง 3 ข้อ อุปสรรคยกระดับ‘สงกรานต์’เป็น Soft Power
13 เมษายน 2568 “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “คนไทยกับสงกรานต์ (Soft Power)” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,298 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 8-11 เมษายน 2568 สรุปผลได้ ดังนี้
1. สงกรานต์ปีนี้ ประชาชนตั้งใจจะเข้าร่วมกิจกรรมใด
อันดับ 1 เข้าวัด ทำบุญ สรงน้ำพระ 60.86%
อันดับ 2 รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ 57.63%
อันดับ 3 เล่นน้ำกับเพื่อน/ครอบครัว 51.23%
2. จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทำให้ประชาชนกังวลใจในการท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์หรือไม่
อันดับ 1 ไม่ค่อยกังวล 34.44%
อันดับ 2 ไม่กังวล 32.90%
อันดับ 3 ค่อนข้างกังวล 22.57%
อันดับ 4 กังวลมาก 10.09%
3. หากสงกรานต์ไทยจะเป็น “Soft Power ระดับโลกที่ต้องมาสัมผัสสักครั้งในชีวิต” ประชาชนคิดว่าอะไรคือ “หัวใจ”ของสงกรานต์ไทย
อันดับ 1 วิธีเล่นน้ำที่สุภาพ สนุก ปลอดภัย 63.56%
อันดับ 2 ความสนุกสนาน รอยยิ้มแบบไทย 62.33%
อันดับ 3 เสื้อลายดอกวันสงกรานต์ แฟชั่นผ้าไทย 55.39%
4. ภาครัฐควรดำเนินการอย่างไรเพื่อให้ประเพณีสงกรานต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้มากขึ้น
อันดับ 1 วางแผนประชาสัมพันธ์ในตลาดต่างประเทศล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ 50.92%
อันดับ 2 ผลักดันให้มีสงกรานต์แต่ละท้องถิ่นตลอดเดือนเมษายน 48.31%
อันดับ 3 จัดแพ็กเกจท่องเที่ยวสงกรานต์เชื่อมเมืองหลัก-เมืองรอง 39.06%
5. ปัญหา/อุปสรรคต่อการยกระดับสงกรานต์ให้เป็น Soft Power ระดับโลก คือเรื่องใด
อันดับ 1 กลยุทธ์และทิศทางของรัฐบาลไม่ชัดเจน 66.46%
อันดับ 2 การประชาสัมพันธ์และส่งเสริมความเป็นไทยน้อย 64.61%
อันดับ 3 การเมืองภายในประเทศทำให้ภาพลักษณ์ไม่นิ่งและขาดความเชื่อมั่น 50.19%
นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า “หัวใจของสงกรานต์ไทย” ที่ประชาชนอยากนำเสนอให้ทั่วโลกรู้จัก คือการเล่นน้ำแบบไทยที่สุภาพ สนุกและปลอดภัย ควบคู่ไปกับรอยยิ้มและบรรยากาศความสนุกสนานแบบไทย ๆ แม้จะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในช่วงก่อนเทศกาล แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้สึกกังวลและยังคงวางแผนเดินทางท่องเที่ยวตามปกติ ถือเป็นโอกาสสำคัญทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลไม่ควรมองข้าม พร้อมแนะนำให้ภาครัฐเร่งวางแผนประชาสัมพันธ์สงกรานต์ไทยในต่างประเทศอย่างเป็นระบบ หากต้องการยกระดับสงกรานต์ให้เป็น Soft Power ระดับโลกอย่างแท้จริง
ด้าน ผศ.ดร.อานุภาพ รักษ์สุวรรณ ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากฎหมายมหาชนและการบริหารงานยุติธรรม โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า การสำรวจของสวนดุสิตโพลสะท้อนให้เห็นว่าเทศกาลสงกรานต์ยังคงมีพลังทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็งสะท้อนให้เห็นถึงความผสมผสานของมิติทางศาสนา ครอบครัว และความบันเทิง โดยประชาชนยังคงให้ความสำคัญกับเทศกาลสงกรานต์ในฐานะโอกาสพิเศษแห่งปี แม้ว่าจะเพิ่งผ่านเหตุการณ์แผ่นดินไหว
ทั้งนี้เทศกาลสงกรานต์สามารถยกระดับเป็น Soft Power ของไทยที่แสดงให้เห็นถึงภาพลักษณ์ทางวัฒนธรรม ค่านิยม และนโยบายที่ดึงดูดความนิยมจากนานาชาติได้ แต่ก็ต้องอาศัยการจัดการเชิงยุทธศาสตร์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะด้านการประชาสัมพันธ์ การสนับสนุนกิจกรรมท้องถิ่น และการพัฒนาองค์ประกอบทางวัฒนธรรมให้มีความร่วมสมัยและปลอดภัย อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่สำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขคือ “การขาดการวางแผน กลยุทธ์และทิศทางที่ชัดเจนของภาครัฐ” ซึ่งหากได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ จะช่วยให้สงกรานต์ไทยกลายเป็นวาระระดับโลกที่สามารถส่งออกอัตลักษณ์ไทยได้อย่างแท้จริง
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี