เมื่อเอ่ยถึง “ผ้าขาวม้า” หลายคนคงนึกถึงผ้าลายตาราง สีสันต่าง ๆ และประโยชน์ใช้สอยที่หลากหลาย ตั้งแต่ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม ผ้านุ่งอาบน้ำ ผ้าพันคอ โพกศีรษะ เปลนอน ผ้าเช็ดพื้น ผ้าปูโต๊ะ ผ้าห่ม ฯลฯ “ถ้าจะบอกว่าผ้าขาวม้าเป็นผ้าสารพัดประโยชน์หรือผ้าอเนกประสงค์ก็คงไม่ผิดนัก” ซึ่งผ้าขาวม้าผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมายาวนาน เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่แสนจะเรียบง่ายแต่มากด้วยประโยชน์ใช้สอย เสน่ห์ของผ้าขาวม้ายังคงโดนใจคนรุ่นใหม่ ที่นำผ้าขาวม้ามาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์และเครื่องแต่งกายร่วมสมัย
อนาคตของผ้าขาวม้ายังไปต่อได้อีกไกลถึงเวทีโลก ด้วยกระทรวงวัฒนธรรมกำลังเสนอขึ้นทะเบียนผ้าขาวม้าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Intangible cultural heritage) ต่อองค์การยูเนสโก (UNESCO) โดยมีสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมสนับสนุนในการจัดเก็บและทำฐานข้อมูลลายผ้าขาวม้าในประเทศไทยให้เป็นระเบียบแบบแผนในเว็บไซต์เดียว www.thaistudies.chula.ac.th/db/phakhaoma/
รศ.ฤทธิรงค์ จิวากานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา จุฬาฯ กล่าวถึงการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อทำเรื่องขึ้นทะเบียนผ้าข้าวม้าไทยในเวที UNESCO ว่าในการนำผ้าขาวม้าไปขึ้นทะเบียน มิได้หมายถึงผ้าขาวม้าเป็นของไทยเท่านั้น ด้วยว่าผ้าขาวม้าเป็นมรดกภูมิปัญญาที่มีอยู่ในภูมิภาคโดยรวม แต่เรามุ่งเน้นถึง ผ้าขาวม้าในวิถีชีวิตไทย เพราะวิถีชีวิตของคนไทยมีความผูกพันการใช้ผ้าขาวม้าในลักษณะเป็นผ้าอเนกประสงค์มาช้านาน
ตลอดจนผ้าขาวม้าไทยยังมีอัตลักษณ์ทั้งรูปแบบ ลวดลาย เทคนิคการย้อมสี และการทอ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของผู้คนและชุมชนแต่ละท้องถิ่นในประเทศไทย เหล่านี้เป็นมรดกภูมิปัญญาของคนไทย ซึ่งการที่สถาบันไทยศึกษา เข้ามาช่วยกระทรวงวัฒนธรรมทำเรื่องนี้ก็เพื่อดำรงภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้อยู่ในเวทีโลกได้ เป็นการปกป้องทางวัฒนธรรมและสร้างความมั่นใจว่าภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจะไม่สูญหาย ทั้งนี้ การปกป้องภูมิปัญญาทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสอน การเผยแพร่ การวิจัย การอนุรักษ์ รวมไปถึงการจัดเก็บและสร้างฐานข้อมูล
“การที่จะทำให้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมดำรงอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทย เราต้องทำให้ภูมิปัญญานั้นมีการเคลื่อนไหวและพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ การสร้างฐานข้อมูลลายผ้าขาวม้าไทยก็เป็นสิ่งที่จะทำให้มรดกภูมิปัญญามีการเคลื่อนไหว เพราะฐานข้อมูลไม่ใช่สิ่งที่นิ่งตายตัว แต่เปลี่ยนแปลงได้ เพิ่มพูนได้ นอกจากลายดั้งเดิมแล้ว จะยังมีลายใหม่ ๆ มาเติมในฐานข้อมูลเรื่อยๆ ข้อมูลที่เคลื่อนไหวตลอดเวลาจะเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าขาวม้ายังคงดำรงอยู่ในสังคม ยังมีผู้คนให้ความสนใจอยู่” รศ.ฤทธิรงค์ กล่าว
รศ.ฤทธิรงค์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากการปกป้องทางวัฒนธรรมแล้ว เป้าหมายของการจัดทำฐานข้อมูลยังมีอีก 3 ประการ คือ 1.ส่งเสริมคุณค่าและมูลค่าของผ้าขาวม้าไทยในฐานะที่เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 2.สืบสานและพัฒนาต่อยอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมสู่นวัตกรรมสร้างสรรค์ และ 3.สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐภาคเอกชนสู่การส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนเพื่อสืบสานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
โดยสถาบันไทยศึกษา ได้จัดเก็บฐานข้อมูลลายผ้าขาวม้าไทยในรูปแบบดิจิทัล ปัจจุบันอยู่ในเว็บไซต์ www.thaistudies.chula.ac.th/db/phakhaoma ทำเป็น template หัวข้อต่าง ๆ โดยเน้นเรื่องลวดลายเป็นตัวตั้ง และมีรายละเอียดอื่นๆ เช่น ลายผ้า ความเป็นมา (เรื่องเล่า) ของลายผ้า ผู้ออกแบบ สีและแพทเทิร์นของผ้า เป็นต้น
“ลายที่ชาวบ้านคิดค้นขึ้นอาจจะเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นมาใหม่ หรือบางทีชาวบ้านก็ใช้ชื่อชุมชนเป็นชื่อของลายผ้า รายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับผ้า เช่น ลายแบบนี้ประกอบด้วยสีอะไร ตารางเป็นแบบไหน มีความกว้างเท่าไร ใช้สีธรรมชาติหรือสีเคมี ถ้าเป็นสีธรรมชาติต้องระบุว่าสีธรรมชาติจากที่ไหนบ้าง ถ้าเป็นสีเคมีต้องมีหมายเลขสีตามมาตรฐานสากล และมีรายชื่อผู้ติดต่อ เจ้าของชุมชน” รศ.ฤทธิรงค์ ระบุ
รศ.ฤทธิรงค์ ยังกล่าวอีกว่า มีการเปิดให้ชุมชนเข้ามาป้อนข้อมูลผ้าขาวม้าของตนเองในระบบด้วยตนเอง ผ่านการฝึกอบรมให้กับชุมชน เพื่อให้สามารถลงทะเบียนและใส่ข้อมูลของตนเองได้ โดยเริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ. 2568 เป็นต้นมา ซึ่งเมื่อฐานข้อมูลลายผ้าขาวม้าเสร็จ ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถนำข้อมูลไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในเรื่องการศึกษาลายผ้าขาวม้าไทย การพัฒนาชุมชน และการตลาด
โดยย้ำว่า “การทำฐานข้อมูลเรื่องผ้าขาวม้าไม่ได้เป็นเรื่องของการจดลิขสิทธิ์ลาย” ไม่ได้แปลว่าลายนี้คนอื่นเอาไปใช้ไม่ได้ แต่จะบอกว่าลายนี้ชุมชนใดเป็นคนทอ เพื่อเชื่อมโยงภูมิปัญญาชุมชนกับภาครัฐและเอกชน ส่วนการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลเพื่อส่งเสริมการตลาดให้ชุมชน เช่น ชาวบ้านที่ทอผ้ามีความชำนาญในการผลิต แต่ไม่ได้มีความชำนาญในการตลาด ฐานข้อมูลผ้าขาวม้าจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเชื่อมผู้ซื้อถึงผู้ผลิต
“โรงแรมอยากได้ผ้าขาวม้าเป็นสินค้าพรีเมียม เป็นลายเอกลักษณ์ของโรงแรมเอง ก็สามารถเข้ามาในฐานข้อมูล เลือกลายที่ชอบ และติดต่อไปที่ชุมชนที่ผลิตลายนั้นๆ ได้” รศ.ฤทธิรงค์ ยกตัวอย่าง
กลุ่มภารกิจนานาชาติสัมพันธ์
ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี